1. อสังหาฯ ผวาดอกเบี้ยขาขึ้น |
- ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้นว่า มีผลกระทบต่อขีดความสามารถในการซื้อหรือผ่อนชำระของผู้บริโภคต่อที่อยู่อาศัย ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยทุก ร้อยละ 1 จะส่งผลต่อค่างวดผ่อนสินเชื่อบ้านเพิ่มร้อยละ 7.0 ทั้งนี้ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP-1) จะปรับขึ้นอีกร้อยละ 3ภายใน 3 ปีหลังจากนี้ กล่าวคือ สิ้นปี 2553 ดอกเบี้ย RP-1 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 ปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 และปี2555 จะอยู่ที่ร้อยละ 4.5 |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์เศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวในอัตราเร่งต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑลที่ขยายตัวเกือบ 3 เท่า โดยในเดือน มิ.ย.53อัตราการขายที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 28.6 เทียบกับร้อยละ 23.3 ในเดือนก่อนหน้า |
. |
ดังนั้น การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะมีส่วนช่วยให้ประชาชนชะลอการซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียม และไม่ก่อให้เกิดการซื้อขายอย่างรวดเร็วเกินไปซึ่งจะส่งผลให้ราคาภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกิดภาวะฟองสบู่ |
. |
2. อุตสาหกรรมขาดแรงงานล้านคน |
- นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานภาคอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมของไทยต้องการแรงงานแบบเหมาช่วง (ซับคอนแทร็กต์) มากถึง 1 ล้านคน ในการรองรับการผลิตสินค้าในเดือน ก.ย. - ต.ค. นี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีคำสั่งซื้อจำนวนมาก เพื่อรองรับความต้องการสินค้าของผู้บริโภคทั่วโลกในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ส่งผลให้บริษัทผู้รับเหมาช่วงต่างเร่งประกาศหาแรงงานป้อนให้โรงงานผลิตสินค้า |
. |
สำหรับกลุ่มที่ต้องการแรงงานซับคอนแทร็กต์จำนวนมาก เช่นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ, อาหาร โดยเฉพาะผู้ผลิตส่งออกกุ้งและไก่ เนื่องจากก่อนตกลงทำสัญญาออเดอร์ ลูกค้าต้องการให้ผู้ผลิตไทยส่งสินค้าให้ทันตามกำหนด หากไม่มั่นใจว่าจะส่งได้ผู้ซื้อก็จะติดต่อผู้ผลิตรายอื่นแทน ซึ่งยอมรับว่าโรงงานหลายแห่งต้องปฏิเสธออเดอร์จำนวนมากเพราะมีแรงงานไม่เพียงพอ |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า โดยปกติภาคอุตสาหกรรมมีการเร่งการผลิตในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งในปีนี้ จากสภาพอากาศที่แห้งแล้งทำให้การทำการเกษตรล่าช้า ส่งผลให้แรงงานภาคอุตสาหกรรมส่วนหนึ่งยังคงอยู่ในภาคเกษตรกรรม นอกจากนี้ ปัจจุบันโครงสร้างของแรงงานไทยย้ายไปสู่ภาคบริการมากขึ้น |
. |
โดยแรงงานภาคบริการในปี 52 มีสัดส่วนสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 47.7 ของกำลังแรงงาน เมื่อเทียบกับปี 51 ที่อยู่ที่ร้อยละ 45.4 ของกำลังแรงงาน ทั้งนี้ ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการส่งออกของไทย เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยที่ขยายตัวดี หากเกิดการขาดแคลนแรงงาน อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 53 |
. |
3. จีนส่งสัญญาณเลิกออมเงิน แนะรัฐหนุนใช้จ่ายค้ำยันเศรษฐกิจ |
- ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) เผยรายงานการศึกษาล่าสุดระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้าอัตราการออมของชาวจีนจะลดลงอย่างเป็นรูปธรรม โดยระบุว่าที่ผ่านมาอัตราการออมโดยรวมภายในประเทศของจีน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 39.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2533 มาอยู่ที่ร้อยละ 53.2 ของจีดีพีในปี 2551 ซึ่งสูงกว่าประเทศอินเดียและสหรัฐฯ ที่มีอัตราการออมโดยรวมที่ร้อยละ 33.6 ของจีดีพี และร้อยละ 12.2 ของจีดีพีในปี 2551 ตามลำดับ |
. |
และคาดว่าอัตราการออมโดยรวมของจีนจะลดลงอย่างมากในช่วงทศวรรษหน้า เพราะประชากรวัยทำงานจะเข้าสู่วัยชรา ส่งผลให้รายได้ลดลง การออมก็จะลดลงตามไปด้วย ขณะที่ภาครัฐจะใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อรองรับประชากรที่เริ่มชราและสภาพของประเทศที่พัฒนามากขึ้น |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจของจีนขยายตัวในระดับที่สูงโดยล่าสุดในไตรมาสที่ 2 ปี 53 เศรษฐกิจจีนขยายตัวที่ร้อยละ 10.3 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งได้รับอานิสงค์จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศของรัฐบาลจีน และภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี |
. |
ส่งผลให้ประชาชนจีนมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้อัตราการออมของจีนเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจล่าสุดประกอบกับมาตรการควบคุมปริมาณสินเชื่อภายในประเทศ บ่งชี้การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้คาดว่าแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนที่ได้ถูกกระตุ้นผ่านนโยบายสินเชื่อในช่วงต้นปี จะลดลงตามไปด้วย |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |