นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ต่อร่างกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระยะ พ.ศ.2554 - 2563 ของประเทศไทย (ICT 2020) ว่า ปัจจุบันสถานภาพทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย ที่ได้จากข้อมูลอ้างอิงของดัชนีหลักๆ ในระดับสากลที่นิยมใช้เป็นเครื่องวัดขีดความสามารถด้าน ICT ของประเทศนั้น |
. |
แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีสถานภาพด้าน ICT ที่ไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย เช่น การจัดอันดับ The World Competitiveness Scoreboard ที่จัดทำโดย IMD ในปี 2010 ที่ประเมินคะแนนของแต่ละประเทศจากสมรรถนะทางเศรษฐกิจ |
. |
ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีด้วย พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 26 จากทั้งหมด 58 ประเทศ โดยอันดับไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า ขณะที่สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 1 จากเดิมที่ในปี 2009 อยู่ลำดับที่ 3 และมาเลเซียอันดับที่ 10 จากเดิมอันดับที่ 18 |
. |
โดยในปี 2009 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีจุดอ่อนสำคัญในเรื่องโครงสร้างทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ซึ่งหากพิจารณาจากดัชนี Networked Readiness Index ที่จัดทำในปี 2009 - 2010 อันเป็นตัวชี้วัดด้านความพร้อมใช้ของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการพัฒนาและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศ ก็พบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 47 จาก 133 ประเทศ ซึ่งเป็นอันดับเดียวกับปี 2008-2009 |
. |
ขณะที่สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 2 ดีขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่ในอันดับที่ 4 เช่นเดียวกับมาเลเซียที่เลื่อนลำดับจากที่ 28 ในปี 2008-2009 มาเป็นอันดับที่ 27 ในปี 2009-2010 |
. |
ส่วนด้านอุตสาหกรรม ICT ซึ่งพิจารณาจากดัชนี IT industry competitiveness ที่จัดทำโดย EIU ในปี 2009 พบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 49 จาก 66 ประเทศที่มีการจัดอันดับ ขณะที่สิงคโปร์และมาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 9 และ 42 ตามลำดับ ดัชนีตัวชี้วัดดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงสถานภาพการใช้ ICT ของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันแล้ว ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขปรับปรุงอีกมากพอสมควร |
. |
นอกจากนี้ในส่วนของประเทศไทย ยังพบว่าผลการสำรวจการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของไทยยังไม่เต็มศักยภาพเท่าที่ควร ซึ่งผลการวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่ายังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยี ICT ที่ยังไม่ทั่วถึงในภาคส่วนต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในต่างจังหวัด ในภาคการศึกษา ที่ยังนำคอมพิวเตอร์ไปใช้ในการเรียนการสอนน้อย |
. |
รวมทั้งในภาคการเกษตร ที่แทบไม่มีการนำเอา ICT ไปใช้เพิ่มผลิตภาพผลิตผล ขณะที่ในภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กก็ยังมีการนำเอา ICT ไปใช้น้อย และในส่วนของอุตสาหกรรม ICT แม้บางส่วนจะเริ่มมีการพัฒนาแต่ยังเป็นระยะเริ่มต้น ทั้งที่ ประเทศไทยมีความสามารถที่จะพัฒนาให้ได้ดีกว่านี้อีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการวิจัยพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ด้านการประยุกต์ใช้ ICT |
. |
“สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ย้ำเตือนให้ตระหนักว่าการเร่งพัฒนา ICT ถือเป็นภารกิจจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกๆ ภาคส่วนไม่ว่ารัฐหรือเอกชนจะต้องร่วมมือกันพัฒนาขีดความสามารถด้าน ICT ของประเทศอย่างเร่งด่วน จริงจัง และต่อเนื่อง ซึ่งเป็นที่มาของการจัดทำกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระยะ พ.ศ.2554-2563 หรือ ICT 2020 ฉบับนี้ |
. |
ทั้งนี้ เป้าหมายของการพัฒนานั้นไม่ใช่เพียงเพื่อจะ ทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่อันดับที่ดีขึ้นทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายหลักที่มุ่งเน้นเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้นของชาวไทยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยโดยมี ICT เป็นเครื่องมือ” นายวิบูลย์ทัต กล่าว |
. |
สำหรับ (ร่าง) กรอบนโยบาย ICT 2020 ฉบับนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552 และมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2553 โดยมีเนื้อหาหลักประกอบด้วยยุทธศาสตร์สำคัญที่ครอบคลุมบริบททางสังคมและเศรษฐกิจของไทยในระยะอีก 10 ปีข้างหน้า |
. |
รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับประเด็นใหม่ๆ ที่สอดรับกับกระแสและสภาวการณ์ของโลก เช่น ยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ ด้านอุตสาหกรรม ด้านสังคมการเมือง ด้านการศึกษา และด้านสุขภาพ รวมถึงการใช้จุดแข็งและโอกาสของประเทศไทยที่มีอยู่ให้ได้ผลดีมากที่สุดในเชิงยุทธศาสตร์ |
. |
อย่างไรก็ตาม (ร่าง) กรอบนโยบายนี้ ยังไม่ใช่ฉบับสมบูรณ์ เนื่องจากต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ ด้วย ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ ขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อจะนำข้อคิดเห็น |
. |
ข้อเสนอแนะที่ได้มาปรับปรุงเพิ่มเติมในกรอบนโยบาย ICT 2020 แล้วจึงนำเสนอต่อคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อกรอบนโยบาย ICT 2020 เพื่อให้ทุกส่วนราชการได้ใช้เป็นกรอบแนวทางระยะยาวในการดำเนินการด้านการพัฒนา ICT ของประเทศต่อไป |
. |
“กระทรวงฯ หวังว่ายุทธศาสตร์และมาตรการในร่างกรอบนโยบายฉบับนี้ จะเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง มีความชัดเจน และสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด เพื่อให้ส่งผลดีต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลกได้ เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการใช้กรอบนโยบายในปี พ.ศ.2563” นายวิบูลย์ทัต กล่าว |