ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 53 ขยายตัวร้อยละ 14.3 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 15.9 ต่อปี และเมื่อพิจารณาโดยปรับผลของฤดูกาลแล้วพบว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย.53 ขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อเดือน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.1 ต่อเดือน เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง และยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น |
. |
โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์, รถยนต์, แอร์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับ อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน มิ.ย. 53 อยู่ที่ร้อยละ 65.6 ของกำลังการผลิตรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 64.2 โดยหากปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าอยู่ที่ร้อยละ 64.7 ของกำลังการผลิตรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 63.1 ของกำลังการผลิตรวม ผลจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง ดังกล่าว |
. |
สินเชื่อเดือน มิ.ย. 53 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 8.3 ต่อปี หรือร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวต่อเนื่อง จากการขยายเวลามาตรการลดภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์เหลือร้อยละ 0.1 ถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 53 |
. |
ด้านเงินฝากสถาบันการเงินเดือน มิ.ย. 53 ขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 ต่อปี จากการโยกย้ายเงินฝากของภาคเอกชนไปยังตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากรัฐบาลได้มีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งมูลค่า 80,000 ล้านบาท |
. |
ปริมาณจำหน่ายเหล็กภายในประเทศในเดือน มิ.ย. 53 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่ร้อยละ -4.7 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปริมาณจำหน่ายเหล็กภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 0.5 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวถึงร้อยละ 15.2 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากฐานที่สูงของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายเหล็กในหมวดเหล็กลวด ลวดเหล็กสำหรับงานคอนกรีตอัดแรง ท่อเหล็ก และเหล็กเส้น ที่หดตัวร้อยละ -15.2 -8.8 -2.9 และ -3.1 ต่อปี ตามลำดับ |
. |
ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยในเดือน มิ.ย. 53 เกินดุลที่ 681 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงครึ่งปีแรกเกินดุลที่ 6,549 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาเหตุสำคัญมาจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 17,878 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุกภาคการส่งออกไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมและการเร่งส่งออกทองคำ |
. |
โดยล้วนแล้วแต่เป็นการขยายตัวทางปริมาณเป็นหลัก ซึ่งเมื่อหักมูลค่าการนำเข้าที่ 15,342 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้วส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน มิ.ย. เท่ากับ 2,536 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ดุลบริการ รายได้และเงินโอนในเดือน มิ.ย. 53 ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ -1,855 ดอลลาร์สหรัฐจากรายได้การท่องเที่ยวที่อยู่ในระดับที่ต่ำและเป็นช่วงจ่ายเงินปันผลของการลงทุน |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |