เนื้อหาวันที่ : 2010-08-09 09:18:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1630 views

การปฏิรูปการกำกับดูแลภาคการเงินของสหรัฐฯและผลกระทบต่อประเทศไทย

การกำกับดูแลสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ที่หละหลวมเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่วิกฤตการทางการเงินซึ่งส่งผลลุกลามเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลก รัฐบาลสหรัฐฯ จึงได้ผลักดันการปฏิรูปการกำกับดูแลระบบการเงินครั้งใหญ่เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงินขึ้นอีก

การปฏิรูปการกำกับดูแลภาคการเงินของสหรัฐฯและผลกระทบต่อประเทศไทย1

.

.

บทสรุปผู้บริหาร

- การกำกับดูแลสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ที่หละหลวมเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่วิกฤตการทางการเงินซึ่งส่งผลลุกลามเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2551 – 2552 ดังนั้นรัฐบาลในชุดของประธานาธิบดี Barack Obama จึงได้ผลักดันการปฏิรูปการกำกับดูแลระบบการเงินครั้งใหญ่เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงินขึ้นอีก

.

- เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 วุฒิสภาของสหรัฐฯ ได้อนุมัติมาตรการปฏิรูประบบการเงิน (Financial Regulatory Reform) ภายใต้ 5 หัวข้อหลักได้แก่ 1) พัฒนาและสนับสนุนการกำกับดูแลสถาบันทางการเงิน 2) จัดตั้งการสอดส่งดูแลตลาดเงินตลาดทุนที่มีความครอบคลุม 3) ปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคและนักลงทุน 4) เตรียมความพร้อมทางด้านเครื่องมือให้กับทางรัฐบาลสหรัฐในการบริหารจัดการความเสี่ยง และ 5) ยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลของนานาชาติและพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการเงินของสหรัฐฯ ที่มีทิศทางที่เข้มงวดขึ้นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยได้แก่ 1) ภาคการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลง จากสภาวะการหมุนเวียนของสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ตึงตัวมากขึ้นอาจส่งผลต่ออุปสงค์การบริโภคของสหรัฐฯ

.

2) ความสามารถในการให้กู้ยืมของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่อาจจะลดลงอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้กู้ยืมและผู้ลงทุนในประเทศไทย และ 3) เกิดความผันผวนต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายโดยเฉพาะการไหลออกของเงินทุนจากประเทศที่มีมาตรการรัดกุมมากกว่าไปยังประเทศที่มีความรัดกุมน้อยกว่า อาทิ ประเทศไทย

.

- ในเชิงนโยบาย เพื่อรองรับผลกระทบต่อประเทศไทยข้างต้น ไทยควร 1) กระจายแหล่งการส่งออกเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศใดประเทศหนึ่ง 2) ดูแลภาวะการเคลื่อนไหวและความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายมายังประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันมิให้ความผันผวนดังกล่าวกระทบต่อเศรษฐกิจจริงของไทยได้ และ3) พัฒนาระบบการเงินและการกำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง

.
1. ความเป็นมา

การกำกับดูแลสถาบันการเงินที่หละหลวมเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลกปี พ.ศ. 2551-2552 กล่าวคือ การปล่อยให้กู้ยืมอย่างขาดวินัยโดยประกอบกับความก้าวหน้าทางด้านนวัตกรรมในการสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนส่งผลให้สถาบันการเงินสามารถถ่ายโอนความเสี่ยงของตนผ่านผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะมิได้คำนึงถึงความเสี่ยงนั้นไม่เป็นที่ปรากฎอย่างชัดเจนต่อผู้ซื้อ อนึ่ง การประเมินการจัดอันดับผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะมิได้คำนึงถึงความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกันเป็นระบบ (Systemic risk)

.

ดังนั้นในหลาย ๆ ผลิตภัณฑ์นั้น โอกาสที่จะเกิดการ default จริงนั้นย่อมมีมากกว่าความเสี่ยงที่ได้รับการประเมินเสมอ ดังเห็นได้จาก ความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือ Sub-prime ที่สามารถกล่าวได้ว่ามีการปล่อยค้ำประกันอย่างหละหลวมที่สุดนั้นมีความเชื่อมต่อกันเป็นแบบโดมิโนเปรียบเสมือนกับระเบิดปรมาณูที่ถูกส่งต่อไปในวงกว้าง    

.

ซึ่งเมื่อชนวนระเบิดแรกกำเนิดขึ้น ผลกระทบของแรงระเบิดนั้นจึงมีความรุนแรงและลุกลามไปในวงกว้างและกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งที่ใหญ่ที่สุดนับจาก The Great Depression ในช่วงกว่า 70 ปีที่ผ่านมา จึงเกิดคำถามขึ้นว่าทำไมภาครัฐและองค์กรในการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินของสหรัฐฯ จึงได้มีการควบคุมที่หละหลวมและมีการดูแลที่เปราะบางได้ถึงระดับนี้

.

ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดการลุกลามเป็นวิกฤตการทางการเงินขึ้นอีกและให้การทำธุรกรรมทางการเงินมีความโปร่งใสและดูแลความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้ รัฐบาลในชุดของประธานาธิบดี Barack Obama จึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการปฏิรูปการกำกับดูแลระบบการเงินครั้งใหญ่ โดยในบทความนี้จะนำเสนอถึงมาตรการปฏิรูประบบการเงินโดยสังเขป ผลกระทบต่อประเทศไทยและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

.
2. มาตรการปฏิรูประบบการเงินโดยสังเขป

ในเดือนมิถุนายน 2552 ประธานาธิบดี Barrack  Obama ของสหรัฐฯ ได้นำเสนอกฎหมายการปฏิรูประบบการเงินและหลังจากที่ได้มีการถกประเด็นเพื่อปรับปรุงและแก้ไขรายละเอียดของการปฏิรูปเป็นเวลาเกือบ 1 ปี ซึ่งในที่สุดวุฒิสภาพของสหรัฐฯ ได้อนุมัติมาตรการปฏิรูประบบการเงิน (Financial Regulatory Reform) และเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2553 ประธานาธิบดี Obama ได้ลงนามมาตรการปฏิรูประบบการเงินดังกล่าวโดยมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้

.

2.1)  พัฒนาและสนับสนุนการกำกับดูแลสถาบันทางการเงินให้แข็งแกร่งและสามารถป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นวิกฤติเศรษฐกิจได้ โดยมีการเสนอมาตรการ อาทิเช่น การก่อตั้งสภาการสอดส่องดูแลบริการธุรกรรมทางการเงิน (Financial Services Oversight Council) โดยมีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เป็นประธาน

.

โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างการกำกับดูแลให้ทั่วถึงโดยปราศจากช่องโหว่ เชื่อมโยงนโยบายการกำกับดูแลทั้งในระดับรายสถาบันการเงินย่อยและทั้งระบบการเงินรวม ประกอบกับต้องมีการสร้างความโปร่งในที่มีมาตรฐานเดียวกันในการกำกับดูแลบริษัทใดก็ตามที่ถือกรรมสิทธิ์ของสถาบันการเงิน  . 

.

ในกรณีที่สถาบันการเงินใดก็ตามที่มีขนาดใหญ่และมีความเชื่อมโยงกับระบบในระดับที่สูง และมีการปล่อยกู้ในสินทรัพย์เสี่ยงมากนั้นจะต้องได้รับการกำกับดูแลที่เข้มงวดกว่า อาทิเช่น ต้องมีการตั้งสำรองเงินทุนในระดับที่สูงกว่า และจะต้องคำนึงถึงความเสียหายที่สถาบันการเงินนั้น ๆ อาจจะสร้างให้กับสังคมหากสถาบันการเงินนั้นเกิดล้มละลายลงด้วย

.

2.2) จัดตั้งการสอดส่องดูแลตลาดเงินตลาดทุนที่มีความครอบคลุม โดยตลาดเงินตลาดทุนดังกล่าวจะต้องมีความต้านทานต่อความตึงเครียดที่เกิดกับระบบหรือการล้มละลายของสถาบันการเงินหลักได้ โดยรัฐบาลโอบามาได้นำเสนอมาตรการในการบังคับให้ธุรกรรมการซื้อขายอนุพันธ์ที่มิได้ผ่านตลาด (over the counter) และหลักทรัพย์ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (asset-backed securities)

.

มีการกำกับดูแลที่โปร่งใส มีวินัยและมีความต่อเนื่อง โดยให้มีการบันทึกและจัดเก็บรายงานการซื้อขายธุรกรรม over the counter ทุกชนิดเพื่อลความเสี่ยงที่อาจจะเกิดต่อระบบขึ้น ในขณะเดียวกันนั้น มาตรการนี้จะเพิ่มอำนาจให้กับธนาคารกลางสหรัฐต่อการดูแลโครงสร้างภาพรวมการจ่ายเงิน และชำระเงินให้เสร็จสิ้นของตลาดเพื่อมิให้เกิดการลุกลามภายในตลาดเงินขึ้น

.

2.3) ปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคและนักลงทุนจากการทำธุรกรรมทางการเงินที่ไม่เหมาะสม (financial abuse) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยให้มีการก่อตั้งองค์การที่ปกป้องผลประโยชน์ผู้บริโภคขึ้นมาใหม่ในรูปขององค์กรอิสระเพื่อที่จะดูแลสอดส่องและป้องกันการให้กู้ยืมที่หละหลวม   

.

ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมผลิตภัณฑ์ securities ที่มีความซับซ้อนไปจนถึงที่มีความซับซ้อนในระดับที่ต่ำ อาทิ เครดิตการ์ดและหนี้สินของผู้บริโภคในรูปแบบอื่น ๆ โดยเฉพาะเบี้ยค้ำประกันบ้าน (Mortgage) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤติทางการเงินในสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา 

.

อนึ่ง ความเป็นองค์กรเดี่ยวจะช่วยสร้างมาตรฐานที่เข้มงวดและรัดกุมโดยที่มีความชัดเจน ยุติธรรมและโปร่งใสต่อทั้งผู้บริโภค นักลงทุนและสถาบันการเงินมากกว่าในอดีตซึ่งได้รับการกำกับดูแลภายใต้หลายองค์กรดั่งเช่นช่วงที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน มาตรการปฏิรูปดังกล่าวได้มีการเสนอให้ก่อตั้งองค์กรที่ปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนผ่านกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ โดยการสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนในการยกระดับมาตรฐานและการเพิ่มความเข้มงวดให้มากขึ้น

.

2.4) เตรียมความพร้อมทางด้านเครื่องมือให้กับทางรัฐบาลสหรัฐในการบริหารจัดการความเสี่ยงทางด้านวิกฤตการทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้น โดยให้มีระบบการแก้ไขปัญหาหรือความล้มเหลวของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารที่อาจจะมีผลกระทบต่อระบบในวงกว้าง ซึ่งภายใต้มาตรการกฎหมายการกำกับดูแลสถาบันการเงินใหม่นี้ได้มีการเสนอให้มีองค์กรที่ให้อำนาจรัฐบาลในการเข้าจัดการปัญหากับบริษัทที่ถือกรรมสิทธิ์สถาบันการเงินหรือสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร

.

ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการล้มเหลวและอาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพต่อระบบการเงินโดยรวม  โดยจะใช้รูปแบบการพัฒนามาจากบริษัทประกันเงินฝากของรัฐ (Federal Deposit Insurance Corporation) อีกทั้งให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรภายในธนาคารกลางของสหรัฐที่เกี่ยวข้องกับการให้กู้ยืมแบบฉุกเฉินเพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น

.

2.5) ยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลของนานาชาติและพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐมองว่าภาคการเงินในประเทศอื่น ๆ ยังคงมีความเสี่ยงทางระบบการเงินเช่นกัน

.

ประกอบกับความผันผวนในภาคการเงินนั้นมีสูงและวิกฤติการทางการเงินสามารถลุกลามระหว่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหากในกลุ่มประเทศหนึ่งมีมาตรการในการกำกับดูแลแลที่เข้มงวดแต่มีการกำกับดูแลที่หละหลวมกว่าในอีกกลุ่มประเทศหนึ่งอาจส่งผลให้เกิดการถ่ายเทกิจกรรมทางการเงินไปยังกลุ่มประเทศที่มีมาตรฐานการดูแลที่เข้มงวดน้อยกว่าและก่อให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพในระบบการเงินโลกได้   

.

ดังนั้นมาตรการการกำกับดูแลสถาบันการเงินจึงควรจะมุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลในประเทศอื่น ๆ ให้มีความเท่าเทียมกัน โดยรัฐบาลสหรัฐในฐานะผู้นำหลักของประเทศกลุ่ม G-20 จะได้มีการนำเสนอให้มีการยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลระบบการเงินในประเทศอื่น ๆ ผ่านคณะกรรมการเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการ Basel และคณะกรรมการกำกับดูแลสถาบันการเงินต่อไป

.
3. ผลกระทบต่อประเทศไทย

ภาคการเงินของสหรัฐฯที่มีทิศทางที่เข้มงวดขึ้นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในทั้งด้านเศรษบกิจจริงและภาคการเงินโดยมาตรการการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่เข้มงวดอาจส่งผลให้สภาวะการหมุนเวียนของสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯตรึงตัวมากขึ้นและอาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยดังนี้

.

3.1) ภาคการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐ เนื่องจากสภาวะการหมุนเวียนของสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯตรึงตัวมากขึ้นอาจจะส่งผลให้การนำเข้าสินค้าและบริการของสหรัฐจากประเทศไทยลดลงบ้าง โดยมาตรการดังกล่าวแม้ว่าน่าจะเป็นผลดีต่อระบบการเงินและเศรษบกิจของสหรัฐฯ  

.

แต่ในระยะยาว อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากการหมุนเวียนของสินเชื่อในระบบที่เป็นไปอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการนำเข้าสินค้าและบริการของประเทศไทยซึ่งอาจจะลดลงบ้างในระดับหนึ่ง

.

3.2) ความสามารถในการให้กู้ยืมของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่อาจจะลดลงจากสภาวะสินเชื่อของสหรัฐที่อาจจะตรึงตัวมากขึ้นซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้กู้ยืมและผู้ลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะต่อการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment) จากสหรัฐฯ มายังประเทศไทยและอาจส่งผลกระทบทางอ้อมผ่านการให้กู้ยืมกับประเทศคู่ค้าประเทศไทยซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังประเทศไทยเช่นกัน โดย

.

หากพิจารณาจากเงินลงทุนโดยตรงสุทธิ (Net Foreign Direct Investment) ที่ไหลเข้าประเทศไทยจากสหรัฐฯ (ภาพที่ 1) พบว่ามีสัดส่วนลดลงมาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2552 เป็นการไหลออกจากประเทศไทยไปยังสหรัฐฯในขณะเดียวกันพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาโดยรวมแล้วนั้น FDI จากสหรัฐฯมีสัดส่วนที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่องเช่นกันจึงอาจบ่งชี้ได้ว่าบทบาทของ FDI จากสหรัฐฯ ต่อประเทศไทยนั้นมิได้อยู่ในระดับที่สูงมากนัก

.

ภาพที่ 1 การลงทุนโดยตรงจากสหรัฐฯ เข้าสู่ประเทศไทย

.

3.3) มาตรการกำกับดูแลระบบการเงินที่รัดกุมมากขึ้นอาจส่งผลให้เกิดความผันผวนต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายโดยเฉพาะการไหลออกของเงินทุนจากประเทศที่มีมาตรการรัดกุมมากกว่าไปยังประเทศที่มีความรัดกุมน้อยกว่าซึ่งประเทศดังกล่าวอาจจะเผชิญกับความเสี่ยงจาก capital flight ได้ในอนาคต

.

ทั้งนี้ประเทศได้สามารถรองรับความเสี่ยงจากภาวะดังกล่าวได้ เนื่องจากในปัจจุบันสหรัฐฯ และยุโรปเป็นผู้เล่นหลักของโลก ดังนั้นหากมาตรการกำกับดูแลระบบการเงินในกลุ่มประเทศดังกล่าวนั้นมีความรัดกุมมากขึ้นอาจจะส่งผลต่ออิสรภาพของการไหลเข้าออกของเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดความผันผวนในภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายของโลกได้      

.

อาทิ อาจเกิดการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายจากประเทศที่มีมาตรการควบคุมที่รัดกุมมากกว่าไปยังประเทศที่มีมาตรการควบคุมทางการเงินที่ผ่อนคลายกว่า ซึ่งเงินร้อย (hot money) ดังกล่าวที่ความผันผวนสูงนั้นอาจกลายมาเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษบกิจเมื่อเกิดภาวะเงินทุนไหลย้อนกลับ (Reversal of capital flows) หรือที่เรารู้จักกันในนามของ capital flight ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และปี 2551 – 2552 เป็นต้น

.
4. ประเด็นเชิงนโยบาย

จากการที่กล่าวมาข้างต้น ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปฏิรูปมาตรการกำกับดูแลภาคการเงินจองสหรัฐฯ ให้มีความาเข้มงวดมากขึ้นโดยต้อง

.

1) มุ่งเน้นการกระจายตลาดภาคการส่งออกจากสหรัฐฯมากขึ้นไปยังประเทศที่เกิดใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีการกระจายแหล่งการส่งออกของไทยไปยังประเทศที่เกิดใหม่ อาทิ ประเทศจีน ออสเตรเลีย ตะวันออกกลางและในอีกหลายประเทศในภูมิภาคมากขึ้น ทั้งนี้ หากพิจารณาจากสัดส่วนการส่งออกของประเทศไทยไปยังสหรัฐฯ ต่อการส่งออกของประเทศไทยทั้งหมดในปี 2552 ที่แม้ว่าจะยังอยู่ในอันดับที่ 1 ที่ร้อยละ 10.9 ลดลงมาจากช่วง 11 ปีก่อนหน้าที่เคยอยู่ระดับที่สูงมากที่ร้อยละ 22.2 

.

แต่หากพิจารณาจากสัดส่วนของการส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2553 จะพบว่าสัดส่วนการส่งออกของประเทศไทยไปยังสหรัฐปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 10.0 (ภาพที่ 2) ทำให้กลายเป็นตลาดการส่งออกลำดับที่ 2 รองจากประเทศจีนที่กลายมาเป็นอันดับที่ 1 ซึ่งมีสัดส่วนตลาดการส่งออกที่ร้อยละ 11.3 (ภาพที่ 3)

.

ภาพที่ 2 สัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐ ยุโรปและญีปุ่น2

.

ภาพที่ 3 สัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังจีนและประเทศเกิดใหม่

.

ดังนั้น หากกำลังการจับจ่ายใช้สอยและอุปสงค์การนำเข้าของสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงแล้วนั้นอาจไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกรุนแรงมากเหมือนในอดีต ซึ่งหากมีการกระจายตลาดการส่งออกของประเทศไทยออกจากสหรัฐฯมากขึ้นจะยิ่งลดผลกระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศไทยลง

.

2) ดูแลภาวะการเคลื่อนไหวและความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายมายังประเทศไทยอย่างใกล้ชิด โดยหน่วยงานภาครัฐควรดูแลความเคลื่อนไหวของเงินทุนเคลื่อนย้ายเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผันผวนที่สร้างความเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจจริงขึ้นได้ 

.

ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีเสถียรภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งและสามารถรองรับความผันผวนทางการเงินจากเงินทุนเคลื่อนย้ายสะท้อนได้จากระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ปัจจุบันอยู่ที่ 144.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 4.8 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น บ่งชี้ว่าหากเกิดภาวะเงินทุนไหลย้อนกลับออกจากประเทศไทยจะไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของค่าเงินบาทอย่างมีนัยสำคัญมาก

.

3) จากบทเรียนของวิกฤตการทางการเงินและแนวโน้มการปฏิรูปภาคการเงินของสหรัฐ ทำให้นักลงทุนให้ความสำคัญกับความมีประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และความยั่งยืนของระบบการเงิน ดังนั้น ไทยควรพัฒนาระบบการเงินและการกำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีแผนการพัฒนาระบบการเงินของประเทศไทยอยู่ภายใต้แผนการพัฒนาระบบการเงินระยะที่ 2 (Financial Sector Master Plan II)  และแผนพัฒนาระบบตลาดทุน (Capital Market Plan)

.

โดยแบบแผนดังกล่าวเป็นการเสริมสร้างประสิทธิภาพ สนับสนุนการแข่งขันให้เป็นไปตามมาตรฐานโลก พร้อมทั้งสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบการเงินและตลาดทุนมากขึ้น (Access to finance) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันความเสี่ยงจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งที่ผ่านมามิให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงขึ้นกับระบบการเงินของประเทศไทย

.

1ผู้เขียน ศศิน  พริ้งพงษ์ ส่วนการวิเคราะห์เสถียรภาพเศรษฐกิจ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ขอขอบคุณ ดร.ศรพล  ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เสถียรภาพเศรษฐกิจ สำหรับคำแนะนำ
2สัดส่วนการส่งออกของประเทศไทยในปี 2553 นับรวมเฉพาะไตรมาสแรกของปี 2553


.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง