เนื้อหาวันที่ : 2010-08-06 09:28:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1755 views

สซ. จับมือห้องปฏิบัติการแสงซินโครตรอน จีน พัฒนางานวิจัยข้าวและยางพารา

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จับมือห้องปฏิบัติการแสงซินโครตรอน ประเทศจีน ร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีซินโครตรอนและพัฒนางานวิจัยเรื่องข้าวและยางพารา

 .

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี  ประเทศไทย จับมือห้องปฏิบัติการแสงซินโครตรอน ของ สถาบันฟิสิกส์ประยุกต์แห่งนครเซี่ยงไฮ้  (Shanghai Institute of Applied Physics: SINAP) สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีซินโครตรอนและพัฒนางานวิจัยเรื่องข้าวและยางพารา

 .

รศ.ดร.ชัยวิทย์ ศิลาวัชนาไนย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ในเบื้องต้นจากการหารือระหว่างผู้บริหารระดับสูงและนักวิจัยมีความสนใจร่วมกันที่จะพัฒนางานวิจัยด้านการเกษตร อาทิ การวิจัยเกี่ยวกับสายพันธุ์ข้าว ซึ่งจีนเป็นประเทศที่มีประชากรบริโภคข้าวมากที่สุดในโลกและไทยก็เป็นประเทศที่ส่งออกเป็นอันดับหนึ่งเช่นกัน   และงานวิจัยด้านยางพารา 

 .

เพราะจีนถือเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในการสั่งซื้อนำเข้ายางพารา       การพัฒนางานวิจัยด้านนี้จะเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรของไทย สร้างความเข้มแข็งในการแข่งขันสู่ระดับโลกได้อย่างแน่นอน    

 .

"การลงนามบันทึกความร่วมมือของหน่วยงานวิจัยระดับชาตินี้    จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน  รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนและเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทคโนโลยีสุญญากาศ แม่เหล็ก ตลอดจนการนำแสงซินโครตรอนไปใช้เพื่อพัฒนาการวิจัยทั้งด้านวัสดุศาสตร์ สิ่งแวดล้อม เคมี ชีววิทยาและการแพทย์ การพัฒนาชิ้นส่วนจักรกลขนาดจิ๋ว และการขยายผลไปยังภาคเกษตรอุตสาหกรรม เป็นต้น"

 .

ทั้งนี้หน่วยงานวิจัยระดับชาติของทั้งสองสถาบันมีพัฒนาการในด้านเทคโนโลยีซินโครตรอนที่คล้ายคลึงกันในสองประการคือ  เป็นหน่วยงานที่พยายามพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด  โดยประเทศจีนสามารถสร้างและติดตั้งเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่มีค่าพลังงานถึง 3.5 กิกะอิเล็กตรอนโวลท์ได้ด้วยตนเองด้วยศักยภาพด้านกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ที่มีจำนวนมาก    ถึงแม้ว่าซินโครตรอนของไทยจะรับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนจากประเทศญี่ปุ่น

 .

แต่ระหว่างการติดตั้งบุคลากรของเราได้รับการถ่ายทอดและสร้างกำลังคนควบคู่กันไป เพื่อรองรับการพัฒนาศักยภาพของเครื่องซึ่งขณะนี้สามารถเพิ่มค่าพลังงานได้ที่ 1.2 กิกะอิเล็กตรอนโวลท์    เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีซินโครตรอนอย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศ ในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีซินโครตรอน เช่น ระบบเครื่องเร่งอนุภาค ระบบควบคุม การจัดอบรมสัมมนา และการร่วมใช้อุปกรณ์เครื่องมือด้านวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย