เนื้อหาวันที่ : 2010-08-06 08:45:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1048 views

"นายอ่างโมเดล iTAP" ต้นแบบเกษตรอินทรีย์

iTAP ชู นายอ่าง เทียมสำโรง เป็นต้นแบบความสำเร็จในการทำเกษตรอินทรีย์ด้วยการนำความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญ iTAP มาใช้อย่างเห็นผล

 .

iTAP ชู นายอ่าง เทียมสำโรง สมาชิกสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด เป็นต้นแบบความสำเร็จในการทำเกษตรอินทรีย์ด้วยการนำความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญ iTAP มาใช้อย่างเห็นผล อาทิ สามารถผลิตผัก-ผลไม้-ข้าวอินทรีย์, เลี้ยงหมูได้ปุ๋ยและไบโอแก๊ส ฯลฯ นำไปสู่การพึ่งตนเอง สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งเกษตกรและผู้บริโภค

 .

ต้นทุนของระบบผลิตทางการเกษตรที่สำคัญได้แก่ ปุ๋ยเคมี และสารเคมีในการกำจัดแมลงหรือวัชพืช แต่ยังมีระบบเกษตรกรรมหนึ่งที่ใกล้เคียงหรือเลียนแบบธรรมชาติมากที่สุดอย่าง “เกษตรอินทรีย์” ทำให้ไม่มีต้นทุนดังกล่าวได้ด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตดีขึ้น ดังต้นแบบความสำเร็จจาก สหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด ต.เมืองปัก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา 

 .

นางสาวสุมาลี ทองธีระ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด เริ่มต้นกล่าวถึงความเป็นมาของสหกรณ์ฯว่า ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2520 เป็นสหกรณ์ประเภทการเกษตรที่มีสมาชิกจำนวน 1,700 ครอบครัว จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก                   

 .

โดยวิธีช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีพื้นที่ดำเนินงานครอบคลุม 3 อำเภอ คือ อ.ปักธงชัย อ.โชคชัย และอ.เมืองนครราชสีมา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่มีพื้นที่อยู่ในเขตโครงการชลประทานลำพระเพลิงให้ได้รับผลผลิตเพิ่มขึ้นและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้านอาชีพหลักของสมาชิกได้แก่ การทำนา ทำไร่ และอาชีพเสริมคือ ทอผ้าไหม เลี้ยงสัตว์ ทำสวน ฯลฯ

 .

สำหรับความสนใจในการทำเกษตรอินทรีย์นั้นเกิดจากการได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานเมื่อปี 2551 ที่ประเทศญี่ปุ่นทั้งเรื่องเกษตรอินทรีย์และตลาดเกษตรกร(Famer Market)และเห็นตัวอย่างความสำเร็จ จึงต้องการแนะนำให้สมาชิก โดยเบื้องต้นคาดหวังว่าจะส่งเสริมให้ผลิตอาหารปลอดภัยบริโภคหรือจำหน่ายในชุมชน  

 .

จนกระทั่งเข้าไปอบรมความรู้ต่างๆเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.)จึงมีโอกาสเข้าร่วมกับ iTAP (โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย)เครือข่าย มทส. ในโครงการ ความเป็นไปได้ในการผลิตผักและผลไม้ให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระดับสหกรณ์ เพื่อทำระบบบริหารจัดการเครือข่ายการผลิตผักของเกษตรกร ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร นำไปสู่การพึ่งพาตนเองในที่สุด

 .

“ปี 2552 เริ่มต้นมีผู้สนใจทำเกษตรอินทรีย์และมีผู้เชี่ยวชาญ iTAP ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ  ดร. นันทกร บุญเกิด จากมทส.เข้ามาให้คำแนะนำ ระยะแรกมีคนสนใจมาก ต่อมาเหลือเพียงไม่กี่รายเนื่องจากความเคยชินในการปลูกพืชเชิงเดี่ยวไม่ผสมผสาน เคยชินกับการใช้สารเคมี อีกทั้งการทำเกษตรอินทรีย์ต้องอาศัยความขยันและอดทนแต่ก็ได้เกษตรกรต้นแบบคือที่บ้านนายอ่าง เทียมสำโรง ซึ่งมีพื้นที่เหมาะสมและทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีมาบ้างแล้ว”

 .

การเข้าร่วมโครงการดังกล่าวเกษตรกรต้องดำเนินงานผ่าน 5 กิจกรรมหลักโดยมีผู้เชี่ยวชาญ iTAP เข้ามาแนะนำอย่างใกล้ชิด ได้แก่ การทำปุ๋ยหมักอย่างง่ายๆจากเศษวัสดุธรรมชาติ เช่น พืช ผัก และการใช้เชื้อราช่วยย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ต่างๆทำให้เกษตรกรสามารผลิตปุ๋ยได้ การทำบ่อแก๊สชีวภาพจากการเลี้ยงสุกรทำให้ได้ปุ๋ยหมักและไบโอแก๊ส

 .

การปลูกข้าวโดยใช้แหนแดงซึ่งสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศ เพื่อใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพในการปลูกข้าวต้นเดี่ยวแบบประณีต การปลูกผักอินทรีย์โดยเฉพาะผักพื้นบ้านที่ไม่ใช้สารเคมีทำให้ช่วยลดต้นทุน รวมทั้งการศึกษาความเป็นไปได้ทางการตลาด เพื่อผลักดันให้ผลผลิตเกษตรอินทรีย์เป็นที่แพร่หลายในชุมชน

 .

นอกจากนี้ยังวางแผนการทำงานต่อเนื่อง ได้แก่ การแปรรูปผลไม้ เช่น ทำกล้วยอบ เนื่องจากมีแก๊สชีวภาพซึ่งผลิตได้เองอยู่แล้วและวางแผนส่งเสริมการทำ “ชุดต้มยำเกษตรอินทรีย์”ให้มีเพิ่มขึ้นเพื่อเปิดตลาดให้กว้างขึ้น ส่งผลให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งสมาชิกและคนในชุมชนยังได้บริโภคอาหารปลอดภัย พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น 

 .

ผจก.สหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด ยังกล่าวถึงการทำงานร่วมกับ iTAP ว่าเป็นหน่วยงานที่ให้ประโยชน์ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญ iTAP ที่มทส. ได้ให้ความสำคัญในการติดตามงานดีมาก เป็นส่วนสำคัญยิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้การดำเนินโครงการนี้ ประสบผลสำเร็จได้จริงเพราะหากทำกันเองคงไม่สำเร็จเป็นรูปธรรมเช่นนี้ได้ 

 .

“สาเหตุที่สำเร็จได้เนื่องจากอาจารย์มีความรู้มีความเชี่ยวชาญและพยายามกระตุ้น ผลักดันจนให้เกิดความสำเร็จได้ ต้องขอบคุณทาง iTAP เพราะเงินส่วนหนึ่งที่สหกรณ์ฯจ่ายไปนั้นผลประโยชน์ก็ยังคงตกอยู่กับสหกรณ์ฯเอง และยังทำให้เจ้าหน้าที่หรือบุคลากรของสหกรณ์ฯ ได้รับประโยชน์จากการเข้าพื้นที่ลงภาคสนามกับทีมผู้เชี่ยวชาญ ทำให้องค์ความรู้คงอยู่กับสหกรณ์ฯ” 

 .

สำหรับงบประมาณในการดำเนินโครงการนี้ รวมทั้งสิ้นประมาณ 358,000 บาท โดยเป็นเงินร่วมกันจากสหกรณ์ฯ 30% หรือ ประมาณ 100,000 กว่าบาท ที่เหลือเป็นเงินสนับสนุนจาก iTAP 70% ถือเป็นโครงการที่คุ้มค่าต่อการลงทุนมาก และถือเป็นสหกรณ์การเกษตรฯ แห่งแรกของไทยที่ริเริ่มให้สมาชิกฯ ทำเกษตรอินทรีย์ 

 .

นายอ่าง เทียมสำโรง เกษตรกรต้นแบบของสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด ซึ่งมีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่ที่ ต.บ่อปลาทอง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เล่าว่า ก่อนเข้าร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์ มีรายได้ไม่พอใช้ ไม่มีเงินเก็บ เพราะต้องหาเงินใช้หนี้ หมดไปกับค่าปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ประกอบกับราคาข้าวที่ไม่มีความแน่นอน บางปีก็ขายได้พอคุ้มทุน บางปีก็ขาดทุนอยู่อย่างนี้มาตลอดจึงหันมาใช้ชีวิตแบบพอเพียง คือ ทำอย่างพออยู่พอกิน เริ่มสนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์เพื่อไม่ต้องเป็นหนี้ โดยเริ่มจากลดการใช้ปุ๋ยและยาฯดังกล่าวลง 

 .

“นอกจากรายได้ที่ดีขึ้นแล้วยังมีเงินเหลือเก็บออมทุกเดือน เพราะไม่ต้องมาเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องปุ๋ยและสารเคมีอีกต่อไป และผลผลิตที่ได้ก็งอกงาม นอกจากนี้ยังได้สหกรณ์ฯ ช่วยในเรื่องของตลาด โดยให้พื้นที่ด้านหน้าสหกรณ์ฯ เป็นที่วางขายทุกวันอังคาร และสามารถกำหนดราคาขายได้เองโดยไม่ต้องผ่านคนกลางเหมือนที่ผ่านมาที่จะมีคนกลางมารับซื้อถึงที่แต่ให้ราคาน้อย ที่สำคัญนอกจากรายได้ที่ดีขึ้นแล้ว ด้านสุขภาพก็ดีขึ้นด้วย ”

 .

นายอ่าง บอกอีกว่า ในอดีตต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ย ยา และสารเคมีถึงปีละกว่า 20,000-30,000 บาท ขณะที่รายได้จากการขายข้าวก็พอๆกับค่าปุ๋ยฯที่จ่ายไป จึงไม่มีเงินเหลือเก็บ ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องซื้อทุกอย่าง แต่หลังจากการเข้าร่วมโครงการฯแทบไม่ต้องใช้เงินซื้อของเหล่านั้น

 .

อาทิ แก๊สหุงต้มที่ใช้ในครัวปัจจุบันหันมาใช้แก๊สจากมูลหมูที่เลี้ยงไว้แทนอีกทั้งยังนำน้ำปุ๋ยหมักที่ได้จากมูลหมูไปเป็นปุ๋ยในแปลงผักและสวนไร่นา ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มากไม่ต้องซื้อปุ๋ยและแก๊สหุงต้มอีกต่อไป นอกจากนี้ยังสามารถสร้างรายได้จากการขายแม่พันธุ์หมูได้อีกทางหนึ่งด้วย 

 .

ผลประโยชน์ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ทำให้นายอ่าง เทียมสำโรง สามารถทำเกษตรอินทรีย์จนประสบผลสำเร็จ มีการปลูกผักอินทรีย์ ปลูกข้าวระบบต้นเดี่ยว การเลี้ยงสุกร ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ และได้ไบโอแก๊สขนาดครัวเรือนเป็นแก๊สหุงต้มไว้ใช้เอง           

 .

นอกจากนี้ผลผลิตข้าวที่ได้เพิ่มขึ้นโดยใช้ “ระบบการปลูกข้าวต้นเดี่ยว” จาก 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มเป็น 830 กิโลกรัมต่อไร่ ราคาข้าวเพิ่มขึ้นจากเดิมขายอยู่กิโลกรัมละ 8-9 บาท เป็นกิโลกรัมละ 15 บาท และมีรายได้จากการขายผักอินทรีย์ 12,000 บาทต่อเดือนมีรายได้จากการเลี้ยงสุกร 5 ตัว 10,000 บาทต่อ 6 เดือน 

 .

ปัจจุบันจึงเกิดเป็น “ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ นายอ่างโมเดล iTAP : ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ สหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด” เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์และคนทั่วไปสามารถเข้ามาศึกษาดูงาน 

 .

ตัวอย่างความสำเร็จของ “ นายอ่างโมเดล iTAP : ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ สหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด” จึงนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำ “เกษตรอินทรีย์” ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ นำไปสู่การพึ่งพาตนเอง สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค สร้างความยั่งยืนให้ระบบเกษตรกรรมของไทยต่อไป 

 .

ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม“ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ : นายอ่างโมเดล iTAP” ติดต่อได้ที่ สหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด เลขที่ 8 หมู่ที่ 8 ถนนสืบศิริ ต.เมืองปัก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา โทร.0-4444-1060, 0-4445-1369 โทรสารต่อ 108 หรืออีเมล์ kun.nang@hotmail.com 

 .

สำหรับผู้สนใจขอรับความช่วยเหลือจากโครงการ iTAP (สวทช.) สามารถติดต่อได้ที่(ส่วนกลาง) โทร.0-2564-7000 ต่อ โครงการ iTAP หรือที่ iTAP เครือข่าย มทส.โทร.0-4422-4947 ,0-4422-4921 โทรสาร 0-4422-4814