เนื้อหาวันที่ : 2010-08-06 08:35:07 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 521 views

สหรัฐฯเพิ่มมาตรการเข้มตรวจสอบความปลอดภัยอาหารแปรรูป

สหรัฐฯ เข้มงวดการตรวจสอบสินค้าอาหารแปรรูป ส่งเจ้าหน้าที่คณะกรรมการอาหารและยา เดินทางไปตรวจสอบโรงงานผลิตอาหารที่มีความเสี่ยงสูงในต่างประเทศ ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมรับมือมาตรการดังกล่าว

.

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า สหรัฐฯได้เพิ่มมาตรฐานการตรวจสอบสินค้าอาหารแปรรูป โดยปัจจุบันสหรัฐฯ จะตรวจสอบสินค้าทั้งสิ้น 18 ล้านรายการโดยใช้วิธีการประเมินความเสี่ยง แต่ต่อไปจะจัดส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปตรวจสอบโรงงานที่ผลิตอาหารที่มีความเสี่ยงสูงในต่างประเทศ เช่น ผัก ผลไม้สด เนย อาหารบรรจุกระป๋องที่มี low-acid อาหารทะเล อาหารที่มีความชื้นต่ำ และเครื่องเทศ โดยมีการตรวจสอบ 2 แบบ ดังนี้ 

.

1. Emergency Inspection Process เป็นการตรวจสอบสินค้าที่มีการแพร่ระบาดโรคหรือในภาวะฉุกเฉินต่างๆ โดยจะดำเนินการในระยะเวลาสั้น ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

.
2. Surveillance Inspection Process เป็นการตรวจสอบโดยทั่วไป ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
- สหรัฐฯจะแจ้งสถานเอกอัครราชทูตหรือหน่วยงานตัวแทนของประเทศนั้นล่วงหน้าก่อนการตรวจสอบจริง 6 เดือน
- ตรวจสอบโรงงานตามกฎระเบียบของคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (3 สัปดาห์ต่อการตรวจ 6-8 โรงงาน) 
.

- แจ้งผลการตรวจสอบ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ NAI (ผ่านการตรวจสอบ) VAI (ตรวจพบสิ่งที่ต้องปรับปรุง) และ OAI (ตรวจพบสิ่งที่ต้องปรับปรุงและ แจ้งผู้ประกอบการให้ปรับปรุง) 

.

ทั้งนี้อาจจะมีการตรวจสอบซ้ำในปีถัดไป โดยจะนำผลการตรวจสอบไปประเมินความเสี่ยงสำหรับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศดังกล่าว
ปี 2552 ไทยส่งออกสินค้าอาหารแปรรูปและผลไม้แปรรูปไปสหรัฐฯ มีมูลค่า 1,692 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของมูลค่าการส่งออกรวมไปยังสหรัฐฯ

.

โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 ไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวไปสหรัฐฯแล้ว 713 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณร้อยละ 23 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสินค้าในกลุ่มอาหารแปรรูปและผลไม้แปรรูป เป็นสินค้าที่มีศักยภาพของไทยในตลาดสหรัฐฯมาก ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรเตรียมรับมือกับมาตรการดังกล่าวด้วย