เนื้อหาวันที่ : 2010-08-05 11:26:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1720 views

เปิดตัว คพข. เข้าดูแลการประกอบกิจการพลังงาน

"สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน" สู่นิมิตรหมายใหม่ของการดูแลคุ้มครองผู้ใช้พลังงานกับการทำงานอย่างเที่ยงธรรม เปิดตัวคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตทั่วประเทศ ภายใต้สโลแกน "ดูแลผู้ใช้ ห่วงใยผู้ประกอบการ พลังงานไทยยั่งยืน"

"สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน" สู่นิมิตรหมายใหม่ของการดูแลคุ้มครองผู้ใช้พลังงานกับการทำงานอย่างเที่ยงธรรม เปิดตัวคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตทั่วประเทศ ภายใต้สโลแกน "ดูแลผู้ใช้ ห่วงใยผู้ประกอบการ พลังงานไทยยั่งยืน"

.

นายกวิน ทังสุพานิช
เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

.

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) แถลงข่าวเปิดตัว “คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (คพข.)” 13 เขตทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายสำคัญของเมืองไทย ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานอย่างโปร่งใส เที่ยงธรรม เพื่อความมั่นคงของกิจการพลังงานไทย สร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน โดยมีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล  พร้อมมอบนโยบายให้แก่คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตเพื่อให้ทราบถึงบทบาท หน้าที่และภารกิจภายใต้สโลแกน “ดูแลผู้ใช้ ห่วงใยผู้ประกอบการ พลังงานไทยยั่งยืน”

.

นายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า “ตามแผนแม่บทการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2541 ที่ผ่านมาในสาขาพลังงาน

.

ซึ่งนอกจากจะได้กำหนดแนวทางการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติแล้ว  ยังได้กำหนดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องวางกรอบการกำกับดูแลกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ  และมีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน เพื่อสร้างความเสมอภาคในการแข่งขัน  โดยให้มีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลอิสระสาขาพลังงานขึ้นซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระเพื่อรับผิดชอบในการกำกับดูแลกิจการพลังงานในอนาคต ซึ่งก็คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นั่นเอง

.

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน มีวิสัยทัศน์ คือ เป็นองค์กรหลักในการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานอย่างโปร่งใส เพื่อความมั่นคงของกิจการพลังงานไทย สร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน โดยมีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล  โดยมีพันธกิจในการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานให้มีระบบการบริหารจัดการพลังงานให้มีความมั่นคงและเชื่อถือได้ มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมต่อทั้งผู้ใช้และผู้ประกอบกิจการพลังงาน ตลอดจนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

.

โดยยึดมั่นต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมและโปร่งใส เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง สกพ. ยังได้จัดให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงานภายใต้กรอบนโยบายของรัฐ” 

.

ดร. ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน

.

ดร. ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวต่อไปว่า “และในปัจจุบัน “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)”  ได้เล็งเห็นถึงกลไกสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชน คือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนรับรู้ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ เพื่อสร้างความโปร่งใสและเพิ่มคุณภาพการตัดสินใจของภาครัฐให้ดีขึ้น และเป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุก ๆ ฝ่าย ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการ พ.ศ. 2550  ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่สำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้บริโภคในกิจการพลังงาน และ

.

สังคมโดยรวม ด้วยเจตนารมณ์ดังกล่าวในพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงได้กำหนดให้มีมาตรา 98 และ 99 ที่ว่าด้วยการมี “คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต หรือ คพข.” ทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมได้มีปฏิสัมพันธ์ทั้งในการคิดร่วมกันและการดำเนินการร่วมกันในการสร้างความเป็นธรรมของกิจการพลังงาน และความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศโดยการมีส่วนร่วมของสังคมทุกภาคส่วน

.

ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดของการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม คือ  การสร้างบรรยากาศที่เปิดกว้างอย่างเสรีในการเข้าไปมีส่วนร่วมของคนทุกฝ่าย  โดยผู้เข้าร่วมนั้นควรแสดงความเห็นของตนไปตามแนวทางที่เห็นว่าเป็นธรรม  พร้อมจะรับฟังความเห็นแย้งและอาจแก้ไขความเห็นของตนได้  และที่สำคัญจะต้องไม่ใช้กลวิธีตอบโต้ที่บั่นทอนเสรีภาพของผู้อื่นที่เห็นแย้งกับตนเอง  

.

“สำหรับการคัดเลือกสรรหา “คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต หรือ คพข.” ทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ ได้มีการเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมสมัครจากทั่วประเทศ  เพื่อร่วมเปิดมิติใหม่แห่งการทำหน้าที่คุ้มครองผู้ใช้พลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน  สำหรับผู้สมัครทั่วไปสรรหาผ่านจากการจัดเวทีคัดเลือกในระดับจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด รวม 76 เวที 

.

และผู้สมัครในส่วนของผู้แทนเครือข่ายภาคประชาสังคมสรรหาผ่านเวทีในระดับเขตจำนวน 13 เขต รวม 13 เวที  ด้วยกระบวนการแสดงวิสัยทัศน์จนสู่ขั้นคัดเลือกด้วยวิธีการจับสลากจากผู้ที่ผ่านคุณสมบัติกว่า 1,000 คน  จนได้คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ รวม 143 ท่าน จำนวนเขตละ 11 ท่าน ที่ประกอบด้วยสัดส่วนผู้สมัครทั่วไป 8 ท่าน และผู้แทนเครือข่ายภาคประชาสังคม 3 ท่าน”

.

ในส่วนนโยบาย บทบาทหน้าที่และภารกิจต่อประชาชนของ “คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต หรือ คพข.” นั้น  ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ดิเรก ลาวัณย์ศิริ  ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า “คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต หรือ คพข.  จะทำหน้าที่  คุ้มครองสิทธิของผู้ใช้พลังงานในการร้องเรียนเกี่ยวกับการประกอบกิจการพลังงาน หรือการได้รับบริการไม่เป็นธรรม  และสิทธิการได้รับข้อมูลข่าวสารด้านพลังงานและข้อมูลเกี่ยวกับการให้บริการ 

.

ตลอดจนการมีส่วนร่วมจัดการและตรวจสอบการดำเนินงานด้านพลังงานของประเทศ  โดยการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนรวมถึงให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้พลังงาน  พร้อมกับเสนอมาตรการแก้ไขและปรับปรุงการให้บริการต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน  ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานในท้องถิ่นในประเด็นต่าง ๆ เช่น การเรียกเก็บอัตราค่าบริการสูงเกินจริง การได้รับบริการอย่างไม่เป็นธรรม 

.

“คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต หรือ คพข. ได้รับมอบหมายให้แบ่งพื้นที่การดูแลออกเป็น 13 เขต  โดยมีผู้แทนของผู้ใช้พลังงานในแต่ละเขตจำนวน 11 คน ซึ่งในแต่ละเขตประกอบด้วยกลุ่มจังหวัดจำนวน 3-8 จังหวัด ซึ่งถือเป็นการกระจายความรับผิดชอบดูแลให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ของพื้นที่และลักษณะของการใช้พลังงานที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น 

.

ซึ่งการจะทำให้สามารถตอบสนองเจตนารมณ์ข้างต้นได้นั้นจำเป็นที่จะต้องมีคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต  และเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานเขตฯ ที่มีการดำเนินงานโดยคำนึงถึงประชาชนทุกกลุ่ม ภูมิปัญญาท้องถิ่น  และการมีสิทธิ มีเสียง มีส่วนร่วมของชุมชนในการตัดสินใจดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด โดย“คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต หรือ คพข. จะมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี

.

ซึ่งจากนโยบาย บทบาทหน้าที่และภารกิจต่อประชาชนของ “คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต หรือ คพข. จากที่กล่าวมาข้างต้นผมและคณะกรรมการทุกท่านเชื่อว่าประชาชนทุกคนจะมีความมั่นใจในกิจการพลังงาน และทำให้กิจการพลังงานของไทยมีความโปร่งใส มั่นคง  และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน” ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ดิเรก กล่าวทิ้งท้าย