เนื้อหาวันที่ : 2010-08-05 09:41:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1498 views

"อภิสิทธิ์" มั่นใจแนวทางขับเคลื่อนศก. ใช้ศักยภาพ AFTA ยกระดับคุณภาพชีวิต

นายกฯ เชื่อมั่นแนวทางที่รัฐบาลและเศรษฐกิจไทยกำลังขับเคลื่อน จะนำไปสู่การใช้ศักยภาพ AFTA และอาเซียนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย-อาเซียนในอนาคต

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นแนวทางที่รัฐบาลและเศรษฐกิจไทยกำลังขับเคลื่อน จะนำไปสู่การใช้ศักยภาพ AFTA และอาเซียนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย-อาเซียนในอนาคต

.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

.

นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถา "เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย ก้าวไกลไปกับ AFTA" เชื่อมั่นแนวทางที่รัฐบาลและเศรษฐกิจไทยกำลังมีการขับเคลื่อน จะนำไปสู่การใช้ศักยภาพของ AFTA และอาเซียนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยและอาเซียนในอนาคต- คาดแนวโน้มจีดีพีครึ่งปีแรกเติบโตร้อยละ 10 เพราะแรงหนุนจากภาคการส่งออก 

.

วานนี้ (4 ส.ค. 2553) เวลา 10.30 น. ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม อาคารคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ อิมแพคเมืองทองธานี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดนิทรรศการและรูปลักษณ์ใหม่ของกรมการค้าต่างประเทศ และเป็นประธานเปิดงาน "DTF' 68 ปี สู่ความเป็นเลิศ เปิดแนวรุกบุกตลาด AFTA" พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย ก้าวไกลไปกับ AFTA"

.

เมื่อเดินทางถึง นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดนิทรรศการและรูปลักษณ์ใหม่ของกรมการค้าต่างประเทศ จากนั้น นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวรายงาน จากนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงาน "DTF' 68 ปี สู่ความเป็นเลิศ เปิดแนวรุกบุกตลาด AFTA" พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย ก้าวไกลไปกับ AFTA สรุปสาระสำคัญดังนี้

.

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การแข่งขันทางเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันและในอนาคตมีความเข้มข้นมากขึ้นโดยลำดับ ระบบเศรษฐกิจที่แข่งขันโดยอิงกับกลไกตลาดมากขึ้น เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของทุกภูมิภาค มีผลกระทบมายังเศรษฐกิจของทุกประเทศ และมีแรงกดดันในการที่จะต้องลดปัญหาที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นในเรื่องของการค้า

.

อย่างไรก็ตามจะเห็นว่า การเติบโตของข้อตกลงทางด้านการค้าเสรียังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยากลำบากในการที่จะมีการหาข้อยุติในการเจรจาพหุภาคีในระดับโลก ก็คือการเจรจาขององค์การการค้าโลก WTO ซึ่งแม้ว่าทุกคนยอมรับว่าถ้าได้กติกาซึ่งเป็นกติกาของโลก จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเป็นธรรมที่สุด

.

แต่ข้อเท็จจริงคือการบรรลุข้อตกลงใช้เวลายาวนานมาก ซึ่งมีความยุ่งยาก มีความสลับซับซ้อน รวมไปถึงกติกาในการตัดสินใจก็ไม่เอื้ออำนวยให้มีการบรรลุข้อตกลงได้อย่างรวดเร็ว และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว  

.

ดังนั้นสิ่งที่เติบโตขึ้นมาโดยลำดับคือ ข้อตกลงในระดับภูมิภาคต่าง ๆ ไม่เพียงแต่เป็นการเพิ่มพูนในเรื่องของการค้า แต่เป็นความพยายามในการที่จะสร้างตลาดเดียวหรือตลาดร่วม เพื่อให้สามารถที่จะมีขนาดของตลาด ที่สามารถจะดึงดูดการลงทุนจากนอกภูมิภาคเข้าไปสู่ภูมิภาคนั้น ๆ ซึ่งกลุ่มอาเซียนได้มีความพยายามที่จะผลักดันและได้ตกลงให้มีการจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียนเป็นเวลานานกว่า 17 ปีแล้ว 

.

ทั้งนี้ ในระยะหลังภูมิภาคอาเซียนมีการเติบโตของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีน หรืออินเดีย ดังนั้น ความจำเป็นเร่งด่วนในการที่จะต้องกระชับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน เพื่อคงและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาค จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนมากยิ่งขึ้น

.

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในภาวะของวิกฤติเศรษฐกิจโลกรอบที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียและอีกหลายประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้แสดงออกถึงศักยภาพของการที่จะขยายตัวหรือฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเป็นที่คาดหมายว่าจะเป็นภูมิภาคที่การเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะสูงที่สุดในโลกด้วย

.

ดังจะเห็นได้ว่าขณะนี้ความสนใจของประเทศอื่น ๆ ในการที่จะเข้ามาร่วมกับทางอาเซียน เพื่อที่จะกระชับความร่วมมือมีเพิ่มขึ้นมาก ปีที่แล้วในช่วงที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน ก็เริ่มมีการพูดถึงการขยายข้อตกลงการค้าเสรีหรือเขตการค้าเสรีให้ครอบคลุมถึงเรื่องของเอเชียตะวันออกในภาพรวม และในปีนี้มีการเริ่มพูดถึงอาเซียน+8 คือจะมีการขยายออกไปอีก

.

ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงศักยภาพของภูมิภาคอาเซียนของเรา ซึ่งการก้าวเดินไปกับ AFTA เป็นเรื่องที่จะเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต และการก้าวไปด้วยความเชื่อมั่นทั้งในศักยภาพ โดยมีความพร้อมก็จะเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ที่จะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเติบโตทางเศรษฐกิจของเรานั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

.

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้มีความเชื่อมั่นถึงแนวทางที่รัฐบาลและเศรษฐกิจไทยกำลังได้มีการขับเคลื่อนกันอยู่ เพื่อที่จะนำไปสู่การใช้ศักยภาพของ AFTA และอาเซียนในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทย และอาเซียนต่อไปในอนาคต ว่ามีหลายเหตุผลคือ ประการแรก

.

ในส่วนของเศรษฐกิจไทยปีนี้ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตทางการเมืองโดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนกับพฤษภาคม แต่เป็นที่รับทราบกันทั่วโลกว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้บ่งบอกถึงความเข้มแข็งของพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย ที่ตัวเลขการเติบโตเป็นทางการในช่วงไตรมาสแรกอยู่ที่ร้อยละ 12

.

ขณะนี้คาดการณ์ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เป็นทางการสำหรับครึ่งปีแรก น่าจะขยายตัวอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 10 ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงมาก และเป็นการบ่งบอกถึงการฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากวิกฤตในรอบปัจจุบัน โดยการเติบโตในปีนี้ได้รับแรงส่งอย่างสำคัญจากการส่งออกทั้งในเรื่องของมูลค่าและอัตราการขยายตัว ทั้งในแง่ของสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมที่เติบโตอยู่มากกว่าร้อยละ 30

.

ประการที่สอง เมื่อมองลงมาถึงเรื่องของความเกี่ยวพันกับทาง AFTA จะเห็นได้ชัดว่าขณะนี้อาเซียนได้กลายมาเป็นตลาดอันดับ 1 ในเรื่องของการค้าของประเทศแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นไปตามแนวทางซึ่งผู้ที่ได้มีการขับเคลื่อนเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียนปรารถนาที่จะเห็น เมื่อบวกกับการคาดการณ์ว่าภูมิภาคนี้จะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ก็จะทำให้บทบาทของการค้าระหว่างไทยในอาเซียนเอง มีบทบาทมากขึ้นโดยลำดับ ในการเป็นตัวจักรสำคัญในการที่จะพัฒนาหรือนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ

.

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการใช้สิทธิของ AFTA ผ่านกลไกของ AFTA โดยตรง ก็พบว่าเพิ่มสูงขึ้น คือ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วในครึ่งปีแรกก็พบว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ AFTA นั้นเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 62 อันเป็นตัวที่บ่งบอกถึงความสำคัญและศักยภาพของการเติบโตที่ AFTA จะมีผลในเรื่องของการส่งเสริมการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

.

แต่อย่างไรก็ตามโดยศักยภาพและแนวโน้มที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะไม่มีบทบาทในการที่จะส่งเสริม หรือในการที่จะหนุนช่วยให้ปรากฏการณ์เหล่านี้ได้รับการสานต่อ และมีการพัฒนาไป รัฐบาลได้ตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า ความจำเป็นในเรื่องของการขับเคลื่อนเพื่อที่จะให้ศักยภาพของ AFTA ได้ถูกใช้อย่างเต็มที่นั้น จำเป็นที่จะต้องดูแลหลายด้านด้วยกัน คือ

.

1. ตามที่มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในเรื่องการค้าเสรีนั้น รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยดูแลการแข่งขันภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ดูแลกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเขตการค้าเสรี เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับหลายด้าน 2. รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมสนับสนุนเรื่องของการขนส่งระบบโลจิสติกส์ ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกในบริเวณชายแดน เพื่อเพิ่มการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นให้มีความทั่วถึง 3.การขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะเดินหน้าไปได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนเป็นส่วนสำคัญ

.

ซึ่งรัฐบาลจะมีการทำในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น โดยอาศัยกลไกของ กรอ. และกลไกอื่น ๆ ที่จะทำให้การดำเนินงานของภาครัฐและภาคเอกชนมีความสอดคล้องกัน รวมทั้งส่งเสริมภาคธุรกิจไทยให้ไปลงทุนในต่างประเทศมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านหรือในอาเซียน ซึ่งก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่คนไทยจะได้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน

.

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่าจากวิกฤตเศรษฐกิจรอบที่ผ่านมา ทั่วโลกได้เห็นประจักษ์แล้วว่าภูมิภาคเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงมาก โลกทั้งโลกหันมาดูเอเชีย และมีความต้องการที่จะเข้ามาเชื่อมโยงกับเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ การก้าวเข้าไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในอีก 5 ปีข้างหน้า

.

ซึ่งถือได้ว่าจะเป็นก้าวที่สำคัญที่ทำให้ศักยภาพของเอเชียเพิ่มสูงขึ้นไปอีก และการบรรลุความสำเร็จในเรื่องข้อตกลงและการปฏิบัติเพื่อที่จะให้ AEC เป็นจริงนั้น จะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียนและเศรษฐกิจของไทยในอนาคต

.

จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประเทศในกลุ่มอาเซียนครั้งนี้ ในส่วนของไทยจะก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจ มีความพร้อมที่จะแข่งขัน มีการบริหารจัดการที่ดี มีการกำกับดูแลที่ครบถ้วน มีประสิทธิภาพ และอยากจะเห็นทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันผลักดันให้เดินหน้าไปสู่ AEC ได้อย่างสร้างสรรค์

.

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
วิมลมาส บรรเจิดกิจ / รายงาน

.
ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย