เนื้อหาวันที่ : 2010-08-02 15:51:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3537 views

ขบวนการแก้ไขปัญหา "รัฐประกาศทับซ้อน" ที่ดินทำกินบ้านห้วยระหงษ์

แม้รัฐบาลจะมีสัญเชิงนโยบายว่าจะแก้ปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านเกษตรกร แต่จากบทเรียนการต่อสู้ของขบวนการภาคประชาชนก็ไม่ได้ละความพยายามที่จะเข้าไปติดตามตรวจสอบเกี่ยวกับความคืบหน้า โดยเฉพาะกรณีปัญหาความขัดแย้งที่ดินที่รัฐประกาศทับซ้อนที่ทำกินของชาวบ้านซึ่งขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมายรัฐธรรมนูญ

.

หลังจากรัฐบาลซึ่งนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีสัญญาเชิงนโยบายว่าจะแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านเกษตรกร ซึ่งรัฐบาลตอบรับกับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เสนอโดยกลุ่มองค์กรเครือข่ายปฏิรูปที่ดินและกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ตามแนวคิดการร่างกฎหมายโฉนดชุมชนนั้น ในปัจจุบันกระบวนการแก้ไขยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาข้อกฎหมาย

.

โดยสำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งเป็นช่วงที่เข้าไปแทรกแซงตรวจสอบยาก ถึงกระนั้น สำหรับบทเรียนการต่อสู้ของขบวนการภาคประชาชนเองก็ไม่ได้ละความพยายามที่จะเข้าไปติดตามตรวจสอบเกี่ยวกับความคืบหน้า รวมถึงพยายามสร้างกระบวนการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของกฎหมายให้กับชุมชน เพื่อให้แนวทางการแก้ไขปัญหานำมาสู่ความสำฤทธิ์ผลในเชิงปฏิบัติเกิดผลที่เรียกว่า การปฏิรูปที่ดินอย่างยั่งยืนนั่นเอง

.

โดยเฉพาะกรณีปัญหาความขัดแย้งที่ดินที่รัฐประกาศทับซ้อนที่ทำกินของชาวบ้านซึ่งขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ข้อเท็จจริงของสถานการณ์วันนี้ จึงต้องถูกนำเสนอสู่สาธารณะถึงความคืบหน้าของกระบวนการแก้ไขที่รับผิดชอบโดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

.

นายพูนศักดิ์ ขวัญชอบ ผู้ประสานเครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ป่าภูผาแดง ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก เพชรบูรณ์ ได้กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการพิจารณาข้อกฎหมาย พ.ร.บ.โฉนดชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินที่ถูกรัฐประกาศทับซ้อน ว่า

.

พูนศักดิ์ ขวัญชอบ 

.

"ประเด็นเรื่องโฉนดชุมชน ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนตีความกฤษฎีกา ซึ่ง เราพี่น้องเราต้องไม่วางใจ เนื่องจากยังไงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ก็คงไม่ยอม แน่ๆ เขาพยายามผลักดันเราออกจากพื้นที่ เขาจะเอาพื้นที่มาปลูกป่า แบบนี้แล้วเราจะสู้ยังไง แต่ถ้าไม่สู้เราจะสูญเปล่า และยิ่งถ้าเราอ่อนแอเมื่อไหร่ เขาจะมาหาเราทันที เพราะพักหลังๆ มีรถเจ้าหน้าที่แวะเวียนเข้ามาในหมู่บ้านเราตลอด เห็นมาถ่ายรูป ชี้นู้นชี้นี่ มีแผนที่มากางดูตลอด

.

ส่วนขั้นตอนกฎหมายจากระยะนี้ไปอีก 3 เดือน ก่อนกฤษฎีกาจะตีความเสร็จ เราจะทำยังไงกันบ้าง เราต้องมาคุยกัน ซึ่งตรงนี้พี่น้องคงเข้าใจแล้วว่าเพราะอะไรเราต้องมาเรียกร้องสิทธิ ที่ดิน ก็ผลจากการประกาศเขตอนุรักษ์ เมื่อปี 2542 นี่แหละ ตอนแรกที่มีการประกาศเขต เราไม่รู้หรอก จนปี 2546-2547 นั่นแหละเขามาวางเขต ชาวบ้านจึงรู้

.

แล้วจากนั้นชาวบ้านจึงได้เดินทางไปอำเภอ ไปจังหวัด จนมีหนังสือมาจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ว่าให้กรมอุทยานและพันธุ์พืช มาแก้ไข แต่ก็ไม่มีการแก้ไข จนเราเดินทางไปที่จังหวัด ว่ามีการจะเคลื่อนย้ายชาวบ้าน ซึ่งนั่นแหละเราก็สู้มาแต่นั้น สู้มาตลอดครับ

.

กรณีเรื่องหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง ช่วงหนึ่งค่อนข้างจะมุทะลุ เอาแต่ชนเผชิญหน้า ที่บุกเข้ามาปลูกป่าในพื้นที่ทำกินของชาวบ้านกว่า 200 ไร่ จนในยุคนายชัยณรงค์ เป็นหัวหน้าเขตฯ ซึ่งเมื่อชาวบ้านไปชุมนุมยึดพื้นที่ จนเขาคืนพื้นที่ให้จำนวนหนึ่งประมาณ 2 แปลง รวม 100 กว่าไร่ จากปัญหานี้ ต่อมา ผู้ว่าราชการจังหวัด เพชรบูรณ์ได้แต่งตั้งกรรมการขึ้นมาดูแลปัญหา และก็มี กรรมการสิทธิมนุษยชน คุณ สุนี ไชยรส ได้มาลงพื้นที่ รับฟัง ทำให้ชาวบ้านได้พื้นที่ทำกินคืนมาทั้ง 2 แปลง

.

สถานการณ์ตอนนี้เงียบ ไม่ได้แปลว่าแก้ปัญหาแล้ว แต่อยู่ในระหว่างแก้ปัญหา เพราะเราอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำชั้น 1 A เราเองก็ไม่ได้อยู่เปล่าๆ แต่ก็พยายามจัดกิจกรรมดูแลป่า และต่อมา มูลนิธิกองทุนไทย ก็ให้งบเรามาอีก 50,000 บาท ทำให้ชาวบ้านมีงบประมาณทำกิจกรรม ทั้งเรื่องยาวชน และการไปดูงาน

.

นอกจากมูลนิธิกองทุนไทย แล้วต่อมาก็มี UNDP ของสหประชาชาติก็เข้ามาสนับสนุนเราอีก ทำให้เราได้ปลูกป่าตามหัวไร่ปลายนา ไว้ใช้สอย นอกเหนือจากปลูกต้นไม้ตามป่า เราพยายามทำ พยามต่อสู้เพื่อสิทธิของเรา เราไม่ได้ท้อถอย" นายพูนศักดิ์ อธิบายแจกแจงพร้อมทั้งเผยเพิ่มเติมอีก เกี่ยวกับที่มาและขั้นตอนการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงบทบาทองค์กรชาวบ้านเองควรจะดำเนินการอย่างไรในพื้นที่เพื่อรอผลเกี่ยวกับความคืบหน้า

.

"ในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะขึ้นเป็นนายกฯ เราก็พยายามไปเรียกร้องสิทธิ เพื่อให้เรามีความมั่นคงในการถือครองที่ดิน จนได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาช่วยงาน รวมแล้ว 6 คณะ 6 พื้นที่ เพื่อศึกษากรณีปัญหาและหาทางออก จนมาถึงประเด็นเรื่องโฉนดชุมชน แต่ละที่ที่พี่น้องบอกว่า เงียบไปแล้ว อยากให้ตระหนักด้วยว่า เงียบไม่ใช่ไม่มีความเคลื่อนไหว แต่เจ้าหน้าที่กำลังดูข้อกฎหมายและอาจจะมีการดำเนินการใดๆ กับพี่น้อง

.

เราพยายามรวมกลุ่มกัน ทำกิจกรรม เช่นทำบ้านดิน เพื่อให้ชุมชนมีทางออก เช่นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทำเพื่อให้ชุมชนรวมตัวกันเหนียวแน่น ความเข้มแข็งและความมั่นคงของเรา มาจากเรารวมตัวกันเราต้องสู้ และวันนี้ เราได้สู้กันมา 5 ปีแล้ว

.

เรื่องการต่อสู้กับทางรัฐบาลคืบหน้าไปบ้าง มีคณะอนุกรรมการทางกฎหมาย มีอาจารย์ไพโรจน์ พลเพชร กำลังดำเนินการ แต่ก็ปีปัญหา อย่างคุณสุวิทย์ คุณกิติ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กำลังเร่งดำเนินการใช้กฎหมายแก้ปัญหา แต่ผมก็สงสัยว่า กฎหมายลูก กับกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายไหนกันแน่ที่เป็นกฎหมายสูงสุด เพราะที่ผมเห็นกฎหมายลูกนี่แหละสูงสุด

.

เพราะทั้งๆ ที่ชุมชนดำเนินชีวิตมานมนานแต่ก็ถูกกฎหมายลูกเล่นงาน คดีที่ถูกดำเนินการ ทั้งบ้านห้วยกลทาและห้วยระหงส์ ทั้ง 20 กว่าราย มีแค่ 6 รายที่สั่งไม่ฟ้อง พวกที่สั่งฟ้อง ก็ถูกเรียกค่าเสียหาย 10,000 กว่าบาท ต่อมาก็ฟ้องแพ่งชาวบ้าน ทำให้ทรัพยากรเสียหาย ทำให้ภาวะโลกร้อน เรียกค่าเสียหาย 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ก็ 100,000 กว่าบาท

.

คิดว่า เขาแค่พยายามอ่านการว่าเขาเล่นงานชาวบ้านได้ ซึ่งแค่เพื่อข่มขู่ เขามีภาพแผนที่ ตรงไหนที่เห็นว่าล้ำไปในเขตเขา เขาจะเล่นงานทันที เขาเอาตัวนี้มาอ้าง แล้วเล่นงานชาวบ้าน" นายพูนศักดิ์กล่าว

.

นางอรนุช ผลภิญโญ ผู้ประสานงาน โครงการจัดการทรัพยากรต้นน้ำเซิน กล่าวเสริมอีกว่า สถานการณ์ตอนนั้นมีอุปสรรคมาก เพราะรัฐเองก็เชื่อมั่นในแนวทางการแก้ไขปัญหาของตน จนมีการวางระเบียบการใช้ที่ดินแบบให้ชาวบ้านถือครองในแบบการเช่าระยะยาว คือ 30 ปี และต้องมีการตรวจตรวจทุกๆ 3 ปี ซึ่งเรื่องนี้ค่อนข้างมีปัญหา

.

อรนุช ผลภิญโญ

.

"แนวคิดโฉนดชุมชน ตามเงื่อนไขของรัฐบาลที่เสนอมาคือ ให้ชาวบ้านเช่า 30 ปี โดยทุกๆ 3 ปี จะต้องมีการตรวจสอบการทำประโยชน์ ทำให้พบว่า นโยบายรัฐบาลกำลังไม่จริงใจ แถมไม่รู้จะเอาจะเอาตัวรอดไหมในเวลานี้ ตอนแรกนั้นรัฐบาลรับปากชาวบ้านอย่างฉาดฉาน ว่าจะแก้ไขปัญหาให้ แต่มาวันนี้ เราไม่เคยได้ยินเสียงจากปากรัฐบาลเลย ว่า จะแก้ปัญหาที่ดินอย่างไร

.

ขณะนี้ แม้แต่ พล.อ.สุรยุทธ เองก็เอาตัวไม่รอด เลย ทั้งๆ ที่ ที่ดินที่ได้รับมา ได้มาด้วยความเสน่หา แต่ก็ยังอยู่ไม่ได้ คิดอีกแง่หนึ่งคือ พล.อ. สุรยุทธ เพิ่งได้มาอยู่แท้ๆ แต่กฎหมายบอกยกฟ้อง ไม่ดำเนินการ ทางกฎหมาย แต่พวกเราที่อยู่มาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย เรากลับถูกฟ้อง แบบนี้เราชาวบ้านจะคิดอย่างไร

.

เรากำลังจะกลายเป็นผู้ต้องหา ทั้งๆ ที่เราทำมาหากินมานาน เรื่องจะออกโฉนดชุมชนหรืออะไรก็แล้ว แต่ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะหมู่บ้านเราอยู่ในเขตป่าต้นน้ำ ดังนั้น เรื่องที่ รมต.จะแก้ไขปัญหาโดยการออกโฉนด ความคิดนี้มันไปไม่ได้เลย เพราะที่ดินเหล่านี้ มันมีกฎหมาย พ.ร.บ.อุทยานนและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ารองรับซึ่งศักดิ์สิทธิ์มาก

.

แถมยังมีชาวบ้านบางคนไปเชื่อว่า เพราะชาวบ้านต่อสู้นี่แหละที่ทำให้พวกเราไม่ได้โฉนด การเมืองเขาจะออกให้อยู่แล้ว เจ้าหน้าที่จะออกมารังกวัดที่ดินให้อยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ชาวบ้านอย่าไปเชื่อ มันออกโฉนดให้ชาวบ้านไม่ได้ ดังนั้น อยากจะเตือนพี่น้องว่า นอกจากเรื่องประสานงานแล้ว ยังไม่พอเราต้องมีการสื่อสารข้อมูล เข้าใจสถานการณ์ให้ถูกต้องด้วย ไม่งั้นเดี๋ยวเราจะพลาดพลั้งไปหลงเชื่อ ข่าวสารอื่นๆ ที่ทำให้เราไขว้เขวแตกแยก

.

เราตัวหลักๆต้องคิดได้ คิดเป็น วางแผนให้ดี รัดกุมและทำความพร้อมให้ขบวนเราชาวบ้านต้องพร้อมเสมอ ที่สำคัญชาวบ้านจะต้องเหนียวแน่นเข้มแข็ง

.

เรื่องโฉนดชุมชนก็เช่นเดียวกัน เราต้องจัดระบบ จัดระเบียบ ทำความเข้าใจให้ตรงกันพร้อมกัน ว่าทำไมถึงอยากได้โฉนดชุมชน มันดีอย่างไร มันปกป้องป่า ทรัพยากรได้ไหม อย่างไร เราต้องเข้าใจให้ถูกต้อง และตรงกัน ร่วมกัน วันหนึ่งเขาอาจจะลงมาสอบถาม กับเรา ดังนั้นความเข้าใจของพี่น้องสำคัญมาก ทุกคนจะต้องกล้า พูดได้ คิดได้ อธิบายให้สังคม ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าใจได้ ว่ามันจำเป็น สำคัญ อย่างไรกับพี่น้องเพราะวันข้างหน้ายังไง พี่น้องก็ต้องเข้ามาดูแลตัวเอง ทำด้วยตัวเอง อย่าพยายามพึ่งพิงคนอื่นๆ นะคะ

.

อีกอย่าง ที่อยากเอ่ยถึงชาวบ้านที่เดือดร้อนเกี่ยวกับปัญหาที่ดิน คืออย่าลืมเรื่องข้อมูลข่าวสาร เรื่องนี้สำคัญมากอยากย้ำไว้ เราจะบอกสังคมอย่างไร แกนนำที่ไปประชุมที่กรุงเทพฯ พอกลับมาแล้วได้ ข่าวสารมาอย่างไร เราต้องสื่อสารกันแจ้งข่าวกัน จะได้รู้เท่าทันกัน แล้วก็ต้องทำงานร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน ซึ่งอยากได้คนทำงานกลไกเพชรบูรณ์สัก 5 คน จากนั้นค่อยไปเลือกตัวแทนภาคอีก 2 คน อีกที ซึ่งฝากให้เราพี่น้องชาวบ้านไปคุยกัน เพื่อหามาตรการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาได้ดีกว่านี้" นางอรนุช กล่าวย้ำ

.
โดย : ทีมงานไทยเอ็นจีโอ
         มูลนิธิกองทุนไทย
.
ที่มา : www.thaingo.org