เนื้อหาวันที่ : 2010-08-02 10:50:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 590 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 2 ส.ค. 2553

1. แก้เกมสหรัฐฯขึ้นบัญชีดำกุ้ง-สิ่งทอ

- ปลัดกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า มีแผนที่จะเชิญคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐสภาสหรัฐฯ มาเยือนไทย โดยจะใช้โอกาสนี้ยืนยันว่าไทยไม่ได้ผลิตสินค้ากุ้งและเครื่องนุ่งห่มจากแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ สำหรับสินค้ากุ้งมีประเทศที่ถูกขึ้นบัญชี ได้แก่ บังกลาเทศ พม่า และกัมพูชา ซึ่งการถูกขึ้นบัญชีครั้งนี้ ไทยอาจเสียศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศผู้ส่งออกกุ้งไปยังสหรัฐฯ

.

ที่สำคัญ คือ อินโดนีเซีย เอกวาดอร์ จีน และเม็กซิโก เป็นต้น ขณะที่สินค้าเครื่องนุ่งห่ม นอกเหนือจากไทยมีประเทศอื่นๆที่ถูกขึ้นบัญชี ได้แก่ อาร์เจนตินา จีน อินเดีย จอร์แดน และมาเลเซีย ซึ่งการขึ้นบัญชีดำอาจส่งผลต่อเนื่อง ทำให้ประเทศอื่นนำข้อมูลดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือในการกีดกันการนำเข้าสินค้ากุ้งและเครื่องนุ่งห่มเช่นเดียวกับสหรัฐฯ  

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 53 การส่งออกกุ้งสดแช่แข็งของไทยขยายตัวร้อยละ 31.2 ต่อปี โดยในเดือน มิ.ย. 53 ขยายตัวร้อยละ 40.4 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 16.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า(ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) ทั้งนี้ เป็นผลจากการรั่วของน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก ทำให้การส่งออกกุ้งแช่แข็งไปยังสหรัฐฯ ในเดือนมิ.ย. 53 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 35.6 ต่อปี โดยตลาดสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 40 ของการส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทย

.

ในส่วนของเครื่องนุ่งห่ม ไทยส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 39 ของการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทย โดยการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังสหรัฐฯในเดือนมิ.ย. 53 ขยายตัวร้อยละ 28.4 ต่อปี ทั้งนี้ หากไทยถูกขึ้นบัญชีดำเป็นระยะเวลานาน จะเป็นการเสียโอกาสในการส่งออกกุ้งและเครื่องนุ่มห่ม ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญไปยังสหรัฐฯอย่างมาก

.

2. เงินลงทุนภาคการผลิต 7 เดือนแรกปี 53 ขยายตัวร้อยละ 68.0

- รมว.อุตสาหกรรมเปิดเผยว่า การประกอบกิจการโรงงานเดือนมิ.ย.53 มีโรงงานขออนุญาตประกอบกิจการใหม่ 314 โรงงาน จำนวนแรงงานทั้งสิ้น 6,839 คน ใช้เงินลงทุนรวมกว่า 12,000 ล้านบาท หรือขยายตัวที่ร้อยละ 29.0 ต่อปี โดยอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง

.

ทั้งนี้ จากประมาณการยอดการลงทุนในช่วง ม.ค.-ก.ค. 2553 เบื้องต้นพบว่า มีเม็ดเงินลงทุนรวมประมาณ 9.7หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวจากปีก่อนที่ร้อยละ 68.0

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ด้านการผลิตล่าสุดพบว่า ยังขยายได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (สัดส่วนร้อยละ 39.8 ของ GDP) ในช่วง 6 เดือนแรกปี 53 ขยายตัวร้อยละ 24.2 ต่อปี

.

โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดีส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก ได้แก่ ยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิ.ย. 53 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับ 103.3 จุด ซึ่งสูงกว่าระดับ 100 เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของคำสั่งซื้อและยอดขายสินค้าอุตสาหกรรม จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีการขยายโรงงานมากขึ้น

.

3. ดัชนีคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมของจีนต่ำสุดในรอบ 17 เดือน

- สำนักงานสถิติของจีนแถลงตัวเลขดัชนีคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมของจีนเดือน  ก.ค. 53 ว่า อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือนที่ระดับ  51.2 จากระดับ 52.1 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดไว้ บ่งชี้ถึงสัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน  โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการเข้มงวดการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการชะลอโครงการลงทุนของรัฐบาลจีน อย่างไรก็ตาม ดัชนีดังกล่าวยังคงอยู่เหนือระดับ 50.0 สะท้อนว่าภาคการผลิตของจีนยังคงขยายตัว

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า การลดลงของดัชนีคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมของจีนเป็นหนึ่งสัญญาณที่ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 53 จะชะลอตัวลงจากช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 11.1 ต่อปี ซึ่งการชะลอตัวในภาคการผลิตของจีนอาจส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยลดลงได้ ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยรองจากสหรัฐฯ โดยไทยส่งออกสินค้าไปยังจีนคิดเป็นร้อยละ 10.6  ของการส่งออกทั้งหมด

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง