ปตท. ปตท.สผ. ลงนามซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งซอติก้า แปลงเอ็ม 9 สหภาพพม่า ในอัตรา 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะเริ่มส่งก๊าซฯ ในปี 2556
ปตท. – ปตท.สผ. ลงนามซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งซอติก้า แปลงเอ็ม 9 สหภาพพม่า ในอัตรา 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะเริ่มส่งก๊าซฯ ในปี 2556 |
. |
. |
วันนี้ (30 กรกฎาคม 2553) ที่กรุงเนปิดอว์ สหภาพพม่า นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนาย อู ตัน เต (U Than Htay) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงาน สหภาพพม่า เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Gas Sales Agreement) จากแหล่งซอติก้า (Zawtika) แปลงเอ็ม 9 ในอ่าวเมาะตะมะ สหภาพพม่า ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ) |
. |
โดย นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ในฐานะผู้ซื้อ) กับ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดย นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติสหภาพพม่า โดย อู มิน เต (U Myint Htay) กรรมการผู้จัดการ (ในฐานะผู้ขาย |
. |
ตามสัญญาดังกล่าว ปตท.สผ. จะเริ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งซอติก้า แปลงเอ็ม 9 ในปี 2556 ในอัตรา 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยจะส่งให้กับ ปตท. จำนวน 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้กับประเทศ ส่วนที่เหลือ 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะส่งให้กับสหภาพพม่าเพื่อใช้ภายในประเทศ ทั้งนี้ สัญญาฯ มีอายุ 30 ปี |
. |
ซึ่งปริมาณก๊าซฯที่ ปตท. รับจากแหล่งซอติก้านี้จะสามารถทดแทนการนำเข้าน้ำมันเตาได้ประมาณปีละ 2,400 ล้านลิตร ช่วยให้ประเทศประหยัดเงินตราต่างประเทศประมาณ 400,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา (อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อเหรียญสรอ. ราคาน้ำมันเตา 70 เหรียญสรอ.ต่อบาร์เรล) |
. |
แหล่งซอติก้า ในอ่าวเมาะตะมะ สหภาพพม่า ห่างจากเมืองย่างกุ้งประมาณ 300 กิโลเมตร เป็นแหล่งก๊าซฯสำคัญแหล่งหนึ่งในโครงการพม่า เอ็ม 9 และเอ็ม 11 โดยมี บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ปตท.สผ.อ.) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการและถือสัดส่วน 100% มีปริมาณสำรองพิสูจน์แล้วขั้นต้นประมาณ 1.4 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ราคาก๊าซฯของแหล่งซอติก้าเทียบเคียงได้กับแหล่งก๊าซฯ ยาดานาและเยตากุน ซึ่ง ปตท.สผ. จะเร่งดำเนินการพัฒนาแหล่งซอติก้า โดยจะเริ่มดำเนินการออกแบบแท่นหลุมผลิต แท่นผลิตกลาง และก่อสร้างท่อก๊าซฯ เพื่อให้สามารถเริ่มการผลิตได้ในปี 2556 |
. |
อนึ่ง ความสำเร็จในการเจรจาครั้งนี้เป็นผลมาจากความพยายามของทั้ง ปตท. และ ปตท.สผ. ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาตลาดก๊าซธรรมชาติของประเทศ ตลอดจนโอกาสในการลงทุนด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในต่างประเทศ ซึ่งจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ที่ประเทศและประชาชนได้รับในระยะยาว เนื่องจากก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนพลังงานของประเทศและภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนโดยรวมอีกด้วย |