เนื้อหาวันที่ : 2010-07-31 11:43:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3448 views

สวทช. ชู ผลงาน iTAP พัฒนาประสิทธิภาพโรงสีข้าวผลตอบรับเกินคาด

สวทช.ปลื้ม!! โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงสีข้าวภายใต้การสนับสนุนของ iTAP หลังได้ผลการตอบรับจากผู้ประกอบการโรงสีข้าวทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการฯ ถึง 99 ราย รวม 101 โครงการภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี คาดจะช่วยให้โรงสีมีประสิทธิภาพในการสีข้าวได้คุณภาพที่ดีขึ้น

..

สวทช.ปลื้ม!! โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงสีข้าวภายใต้การสนับสนุนของ iTAP หลังได้ผลการตอบรับจากผู้ประกอบการโรงสีข้าวทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการฯ ถึง 99 ราย รวม 101 โครงการภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี คาดจะช่วยให้โรงสีมีประสิทธิภาพในการสีข้าวได้คุณภาพที่ดีขึ้น และจะส่งผลดีต่อรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 4.6 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 560 ล้านบาทต่อปี จากผลการปรับปรุงประสิทธิภาพการสีที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3% พร้อมจัดงบฯอีกกว่า 28 ล้านบาท ทำโครงการ “โรงสีไฮสปีค” ตั้งเป้า 50 แห่งภายใน 6 เดือน

..

ประเทศไทย เป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก โดยในปี2552 มีปริมาณการส่งออกข้าว 8.57 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11% มีส่วนแบ่งการตลาดโลกถึง 34.9% โดยมีประเทศผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญ คือ ไทย เวียดนาม สหรัฐอเมริก ปากีสถาน และอินเดีย สำหรับผลผลิตข้าวของไทยในปี 2552/2553 รวมทั้งสิ้น 31.46 ล้านตันข้าวเปลือก ( ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มิ.ย. 2553 ) ขณะที่คาดว่าทั้งปีจะมีผลผลิตข้าวปริมาณ 31.489 ล้านตันข้าวเปลือก ( 20.8 ล้านตันข้าวสาร ) 

.

แม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ แต่ไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคาข้าว การเปลี่ยนแปลงราคาเป็นไปตามกลไกราคาตลาด ดังนั้น การผลิตข้าวของไทยจะต้องพัฒนาคุณภาพข้าว เพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตข้าว ตลอดจนสายโซ่อุปทานของข้าว ( Rice Supply Chain ) เริ่มตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ เช่น การพัฒนาพันธุ์ข้าว การผลิตข้าว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวข้าวเปลือก ,

.

กระบวนการกลางน้ำ เช่น การปรับปรุงคุณภาพข้าวเปลือก การจัดการคลังข้าวเปลือก/ข้าวสาร การจัดกระบวนการสีข้าว การจัดการโลจิสติกส์ภายในโรงสี และกระบวนการปลายน้ำ เช่น การจัดการคลังสินค้า การจัดการส่งมอบข้าวให้กับตัวแทนนายหน้า (หยง) ผู้ส่งออกข้าว และผู้นำเข้าในต่างประเทศจนถึงผู้บริโภคข้าวในลำดับสุดท้าย 

.

รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา
รองผู้อำนวยศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

.

รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “ โรงสีข้าวเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปข้าวในกระบวนการกลางน้ำของสายโซ่อุปทานของข้าว ดังนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในกระบวนการสีข้าวจึงมีความสำคัญต่อการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ” 

.

จากการสำรวจเบื้องต้นของโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP) โดยผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่า โรงสีข้าวจำนวนมากมีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพต่ำ ทั้งในแง่ของปริมาณผลผลิต คือ ปริมาณข้าวหัก(สูญเสีย) การใช้พลังงาน และการหยุดของเครื่องจักร 

.

โดยปัญหาที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ การสีข้าว มีการสีซ้ำมาก เนื่องจากการสีในรอบแรกยังได้ข้าวเปลือกอยู่จำนวนมาก ใช้พลังงานสิ้นเปลืองและข้าวเปลือกที่สีออกมานั้น มีการแตกหักสูง บุคลากรขาดความรู้ในการปรับตั้งเครื่องจักรทำให้การทำงานของเครื่องสีข้าวไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทั้งนี้หากมีการปรับปรุงตามหลักการเชิงวิศวกรรมจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างชัดเจน

.

รองผู้อำนวยศูนย์ TMC กล่าวว่า “ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงสีข้าว จึงเกิดขึ้น เนื่องจาก สวทช. โดยโครงการ iTAP เล็งเห็นว่าควรเข้าไปมีบทบาทให้การสนับสนุนโรงสีข้าวของไทยให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยใช้วิธีการให้การสนับสนุนโรงสีต้นแบบ เพื่อสร้างความตระหนักให้กับโรงสีข้าวทั่วประเทศที่มีกว่า 43,000 แห่ง          

.

ในขณะเดียวกันยังรวบรวมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโรงสีข้าวเพื่อให้สามารถรองรับการดำเนินการปรับปรุงโรงสีข้าวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระยะยาวต่อไป โดยวัตถุประสงค์ของโครงการก็เพื่อเพิ่มผลผลิตในกระบวนการกะเทาะเปลือกข้าว สีข้าวและขัดขาว โดยอาศัยความรู้ด้านวิศวกรรมในการปรับตั้งอุปกรณ์ในกระบวนการปรับปรุงเครื่องจักรให้ได้กำลังการผลิตสูงขึ้น ปริมาณข้าวหักลดลง และมีอัตราการสีข้าวสูงขึ้น”

.

นางสาวสนธวรรณ สุภัทรประทีป ผู้อำนวยการโครงการiTAP

.

นางสาวสนธวรรณ สุภัทรประทีป ผู้อำนวยการโครงการiTAP กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการฯ ว่า จากการดำเนินงานเมื่อปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ได้มีการจัดสัมมนาไปแล้ว 4 ครั้ง ใน 4 จังหวัด ( ขอนแก่น , อุบลราชธานี ,นครราชสีมา และพิษณุโลก ) มีการเข้าเยี่ยมโรงสีข้าวและวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้น 120 แห่ง มีจำนวนผู้ประกอบการโรงสีข้าวเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้น 99 ราย รวม 101 โครงการ ( โครงการประเภทข้าว ) แบ่งตามรายภูมิภาค ได้แก่

.

ภาคอีสาน 76 โครงการ , ภาคเหนือ 16 โครงการ , ปริมณฑล 4 โครงการ , ภาคตะวันตก 2 โครงการ , ภาคตะวันออก 1 โครงการ , ภาคใต้ 1 โครงการ และ กรุงเทพฯ 1 โครงการ โดยโรงสีที่เข้าร่วมโครงการมีกำลังการผลิตรวมกันมากกว่า 10,000 ตันต่อวัน คาดว่า จะช่วยให้โรงสีมีกำไรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 4.6 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 560 ล้านบาทต่อปี ( คิดเฉลี่ยการสีข้าว 4 เดือน) จากการปรับปรุงประสิทธิภาพการสีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3% 

.

นอกจากนี้ ยังขยายผลไปสู่โครงการ“โรงสีไฮสปีด” เริ่มดำเนินการไปแล้วตั้งแต่เดือน พ.ค.2553 ตั้งเป้าหมายโรงสี 50 แห่งภายใน 6 เดือน ใช้งบประมาณสนับสนุน 27.9 ล้านบาท ล่าสุดยังได้มีความร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) จัดสัมมนา“เทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพของโรงสีข้าว” ขึ้น เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการโรงสีข้าวเข้าร่วมงานกว่า 30 ราย( จากพื้นที่ จ.อุบลราชธานี , ศรีสะเกษ, ยโสธร , ร้อยเอ็ด )

.

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล
ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

.

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวยอมรับว่า “ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงสีข้าว เป็นอีกหนึ่งผลงานเด่นของ iTAP ที่เข้าไปสร้างประโยชน์ให้กับเอกชนอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเดิมโรงสีใช้เครื่องจักรที่ไม่มีประสิทธิภาพทำให้ผลผลิตข้าวที่สีออกมาหัก และมีข้าวเปลือกผสม ทำให้ผลผลิตข้าวไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร ” 

.

นอกจาก iTAP จะสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเข้าไปเป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิดแล้ว ยังสนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายสำหรับที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จึงทำให้ iTAP เป็นโครงการที่ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงง่าย จับต้องได้ และเห็นผลชัดเจน 

.

ล่าสุด ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ( MTEC ) ยังได้มีการออกแบบและพัฒนาเครื่องสีข้าวรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมขึ้น เพื่อตอบโจทย์หรือปัญหาให้กับผู้ประกอบการ การร่วมมือดังกล่าวถือเป็นการนำโจทย์จากผู้ประกอบการโดยตรงเข้ามาสู่งานวิจัยและพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง ซึ่งมีส่วนในการเพิ่มความแข็งแกร่งและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไทยในตลาดโลกต่อไป