เนื้อหาวันที่ : 2010-07-30 09:15:37 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 878 views

ตำรวจตรวจจับอินเตอร์เน็ต คาเฟ่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

ตำรวจตรวจจับอินเตอร์เน็ต คาเฟ่ที่เชียงใหม่ กรุงเทพ หาดใหญ่ และหนองคายในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ พบซอฟต์แวร์เถื่อนบนเครื่องคอมพิวเตอร์รวมทั้งสิ้น 280 เครื่อง มูลค่ากว่า 4.3 ล้านบาท

ตำรวจตรวจจับอินเตอร์เน็ต คาเฟ่ที่เชียงใหม่ กรุงเทพ หาดใหญ่  และหนองคายในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ พบซอฟต์แวร์เถื่อนบนเครื่องคอมพิวเตอร์รวมทั้งสิ้น 280 เครื่อง มูลค่ากว่า 4.3 ล้านบาท

.

ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) เพิ่มความพยายามลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในธุรกิจร้านให้บริการอินเตอร์เน็ต หรืออินเตอร์เน็ต คาเฟ่ โดยระดมกำลังเข้าตรวจค้นจับกุมการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ทั่วประเทศ

.

ในระลอกแรกนี้ ตำรวจเข้าตรวจค้นอินเตอร์เน็ต คาเฟ่ จำนวนแปดแห่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ กรุงเทพ หาดใหญ่ และหนองคาย และพบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์คิดเป็นมูลค่า 4.34 ล้านบาท

.

อินเตอร์เน็ต คาเฟ่ซึ่งถูกตรวจค้นในครั้งนี้ มีคอมพิวเตอร์ในครอบครองเฉลี่ยร้านละ             35 เครื่อง ถูกตรวจพบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ต่างๆ จริง เจ้าของอินเตอร์เน็ต คาเฟ่อาจต้องหยุดกิจการ ถูกปรับ และอาจถูกจำคุกได้

.

“ร้านให้บริการอินเตอร์เน็ตเหล่านี้นับเป็นว่ามีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีการใช้งานคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์จำนวนมากในการสร้างรายได้และผลกำไร” พันตำรวจเอก ชัยณรงค์  เจริญไชยเนาว์ โฆษกของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) กล่าว “ธุรกิจร้านให้บริการอินเตอร์เน็ตจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฏหมายลิขสิทธิ์เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ หากฝ่าฝืนก็จำต้องได้รับบทลงโทษตามกฎหมาย”

.

อีกหนึ่งผลงานของตำรวจไทย ที่เกี่ยวเนื่องกับการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์คือเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมร้านค้าคอมพิวเตอร์สองแห่ง ที่ต้องสงสัยว่าจำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ภายในงานแสดงสินค้าไอทีคอมมาร์ท

.

เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินตรวจภายในบริเวณงาน และพบผู้จัดจำหน่ายคอมพิวเตอร์สองรายที่เสนอติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จำหน่ายให้กับลูกค้า จึงได้เข้าจับกุมผู้จัดจำหน่ายทั้งสองรายในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

.

“การใช้งานและจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์เถื่อน เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายลิขสิทธิ์ไทยอย่างชัดเจน และเราจำเป็นต้องเตือนให้ธุรกิจต่างๆ ตระหนักถึงความร้ายแรงของผลที่จะตามมาจากการละเมิดกฎหมายด้วยการเข้าตรวจค้นจับกุม” พันตำรวจเอกชัยณรงค์กล่าว “ร้านค้าต่างๆ รู้ดีถึงความสุ่มเสี่ยงของการจำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ภายในงานคอมมาร์ท เพราะเคยมีการตรวจตราและจับกุมในลักษณะเดียวกันนี้มาก่อนแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เห็นได้ชัดว่าการจำหน่ายซอฟต์แวร์เถื่อนภายในงานลดลง แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้าง เราจึงยังมีงานต้องทำอีกมาก”

.

เกี่ยวกับกรณีที่เจ้าของร้านอินเตอร์เน็ต คาเฟ่รายหนึ่ง ร้องเรียนเรื่องการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเข้าจับกุมในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์พันตำรวจเอกชัยณรงค์กล่าวว่า  

.

“ผมไม่ทราบรายละเอียดของเรื่องนี้ แต่จากความเข้าใจของผม เจ้าของอินเตอร์เน็ต คาเฟ่   รายนี้ถูกตั้งข้อหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ จากการตรวจพบว่ามีซอฟต์แวร์เถื่อนหลายรายการ  ติดตั้งอยู่ในคอมพิวเตอร์หลายเครื่องที่ใช้งานภายในร้าน ขณะนี้กำลังมีการสืบสวนกรณีนี้อยู่ผมจึงไม่อาจให้ความเห็นมากไปกว่านี้ได้ ที่ผมพูดได้ก็คือเมื่อเราเข้าตรวจค้นอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ที่ต้องสงสัยว่าละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

.

เราปฏิบัติตามระเบียบ และเจ้าของสิทธิ์มีส่วนร่วมในกระบวนการทางกฎหมายตลอดจนการตกลงค่าชดเชยอย่างใกล้ชิด เจ้าหน้าที่ตำรวจบก. ปอศ. เพียงแต่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับการร้องเรียนจากเจ้าของสิทธิ์ เก็บรวบรวมหลักฐานภายในอินเตอร์เน็ต คาเฟ่ ตามที่ได้รับหมายค้นจากศาล เราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเจรจาตกลงยอมความหรือชดใช้ค่าเสียหาย” 

.

กฎหมายลิขสิทธิ์ไทยระบุว่า ผู้บริหารของบริษัทที่ถูกจับกุมในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ จะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

.

ผู้ที่รายงานการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ผ่านทางสายด่วนโทร. 02-714-1010 หรือทางเว็บไซต์ มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัลสูงสุดถึง 250,000 บาท ข้อมูลของผู้รายงานจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.stop.in.th