โฆสิต ระบุผู้ลงทุนต้องรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและอยู่ร่วมกับคนในพื้นที่ได้ ด้านปตท.ยอมรับชะลอได้แค่ 2-3 สัปดาห์หากมากกว่านั้นจะเสียโอกาสทางธุรกิจ อ้างมีโรงงานรอพึ่งวัตถุดิบจากโครงการปิโตรเคมี
โฆสิตระบุผู้ลงทุนต้องรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและอยู่ร่วมกับคนในพื้นที่ได้ หากโครงการ ไม่เกิดต้องรับความเสี่ยงเอง ด้านปตท.ยอมรับชะลอได้แค่ 2-3 สัปดาห์หากมากกว่านั้นจะเสีย โอกาสทางธุรกิจ อ้างมีโรงงานรอพึ่งวัตถุดิบจากโครงการปิโตรเคมี |
. |
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงพลังงาน เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษ จ.ระยอง ว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานประสานไปยังบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ชะลอการลงทุนในโครงการปิโตรเคมีระยะที่ 3 มูลค่ากว่า1แสนล้านบาท โครงการก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลเอ็นจี) รวมถึงโครงการใหม่ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)ไปแล้ว เพื่อให้ปตท.ไปชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้ได้ก่อนที่จะมีการลงทุนต่อไป |
. |
เป็นหน้าที่ของผู้ลงทุนที่จะต้องเข้าไปทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ เพราะสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องการเห็นคือ ผู้ลงทุนอยู่ร่วมกับผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่เดิมได้ ต้องมีการชะลอโครงการต่างๆออกไปก่อน และหากโครงการเกิดไม่ได้ถือเป็นภาระความเสี่ยงที่จะต้องรับ เพราะปตท. มีภารกิจที่จะต้องให้สังคมอยู่ได้ นายโฆสิต กล่าว ทั้งนี้ในส่วนของแผนปฎิบัติการแก้ไขปัญหามลพิษจ.ระยองนั้นทั้งในส่วนในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนอกนิคมฯจะมีการเสนอให้คณะอนุกรรมการที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานคณะทำงานอยู่ |
. |
คาดว่าประมาณต้นเดือนมีนาคมจะสามารถชี้แจงแผนปฏิบัติการของ จ.ระยองให้กับประชาชนในพื้นที่และผู้ที่สนใจให้ได้ทราบถึงความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหา ส่วนความคืบหน้าในการจัดตั้งกองทุนรักษาสุขภาพประชาชนในพื้นที่นั้น ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้จะสรุปชัดเจนว่าเงินทุนเบื้องต้นจะเป็นเท่าไหร่ และมีการบริหารจัดการอย่างไร เบื้องต้นการนิคมอุตสาหกรรม(กนอ.)จะเป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายให้จำนวน 10 ล้านบาท |
. |
นายพรชัย รุจิประภา รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้โครงการลงทุนในทุกอุตสาหกรรมที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มีการชะลออยู่แล้ว ส่วนโครงการที่ไม่มีปัญหาด้านมลพิษก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยในส่วนของโครงการต่างของ ปตท.นั้น กระทรวงพลังงานเป็นผู้ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในส่วนของโครงการปิโตรเคมีระยะ 3 นั้นมีเพียงสองโครงการเท่านั้นที่ยังไม่ผ่านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ส่วนโครงการแอลเอ็นจีนั้นยังคงพอมีเวลาเนื่องจากโครงการจะแล้วเสร็จในปี 2554 |
. |
อย่างไรก็ตามรายงานข่าวจากบีโอไอระบุว่าโครงการของปตท.ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนล่าสุดไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ประกอบด้วยกิจการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ขนาด 960 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มูลค่าเงินลงทุน 29,427 ล้านบาท และกิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือเดินทะเลขนถ่ายก๊าซแอลเอ็นจีปีละประมาณ 5.75 ล้านตัน มูลค่าเงินลงทุน 25,610 ล้านบาท โดย คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้ในปี 2554 |
. |
นายสาธิต ชาญเชาว์กุล เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า โครงการที่บีโอไออนุมัติไปแล้วแต่ยังไม่ผ่านอีไอเอ จะต้องทำอีไอเอให้แล้วเสร็จ จากนั้นจึงจะออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้ โดยเจ้าของโครงการต้องไปปฏิบัติตามเงื่อนไขก่อนออกบัตรส่งเสริมการลงทุน อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีปัญหาสามารถขยายเวลาออกไปได้ 2 ปีนับจากที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน |
. |
นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มสำรวจ ผลิตและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. กล่าวว่าในนิคมอุตสาหกรมมาบตาพุด นั้นมีโครงการลงทุน 2 โครงการอยู่ระหว่างยื่นขอแผนอีไอเอ คือโรงแยกก๊าซ 6 และโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก โดยถ้าต้องชะลอโครงการออกไปนั้นในภาพรวมสามารถทำได้เพียง 2-3 สัปดาห์เท่านั้น หากนานกว่านี้อาจทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจได้ เนื่องจากยังมีโรงงานที่ยังต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากโครงการปิโตรเคมีอยู่ ส่วนโครงการแอลเอ็นจี ไม่มีปัญหามลพิษเนื่องจากใช้เทคโนโลยีความร้อนเท่านั้น อย่างไรก็ตามขณะนี้ปตท.อยู่ระหว่างเร่งจัดทำแผนลดมลพิษให้เสร็จโดยเร็ว |