เนื้อหาวันที่ : 2010-07-28 11:36:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2341 views

ทียูเอฟ ทุ่มงบกว่า 680 ล้านยูโร ซื้อกิจการ MW Brands

มติบอร์ดทียูเอฟ อนุมัติการเข้าซื้อกิจการ MW Brands เต็ม 100% จาก Trilantic Capital Partners คาดหากประสบความสำเร็จ ทียูเอฟจะกลายเป็นบริษัทผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของโลก

มติบอร์ดทียูเอฟ อนุมัติการเข้าซื้อกิจการ MW Brands เต็ม 100% จาก Trilantic Capital Partners คาดหากประสบความสำเร็จ ทียูเอฟจะกลายเป็นบริษัทผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของโลก

.

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารทียูเอฟ

.

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2553 มีมติอนุมัติการเข้าซื้อกิจการ MW Brands (MWB) เต็ม 100% จาก Trilantic Capital Partners

.

MW Brands เป็นหนึ่งในผู้นำด้านผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าและอาหารทะเลในตลาดยุโรป ภายใต้แบรนด์ John West, Petit Navire, Hyacinthe Parmentier และ Mareblu ซึ่งเป็นแบรนด์ชั้นนำในตลาดฝรั่งเศส อังกฤษ ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี ปัจจุบัน MWB ถือครองโดย Trilantic Capital Partners ซึ่งเป็นกองทุนส่วนบุคคล                    

.

โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการถึง 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ Trilantic ได้เข้าซื้อ MWB จาก HJ Heinz ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินงานล่าสุด เมื่อ 31 มีนาคม 2553 MWB มียอดขายสูงถึง 448 ล้านยูโร โดยมูลค่าของสินทรัพย์เท่ากับ 559 ล้านยูโร

.

สำหรับการเข้าลงทุนใน MWB ของทียูเอฟนั้น ทียูเอฟจะเข้าลงทุนเต็ม 100% ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 680 ล้านยูโร หรือประมาณ 28.5 พันล้านบาท โดยการจ่ายเงินสด ซึ่งมีการจัดหาแหล่งเงินทุนในการเข้าซื้อกิจการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การเข้าลงทุนนี้ บริษัทจะต้องขอมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่ออนุมัติการดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งการตรวจสอบเกี่ยวกับ anti-trust จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

.

หากการดำเนินการประสบความสำเร็จ จะทำให้ทียูเอฟกลายเป็นผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะสามารถแปรรูปวัตถุดิบปลาทูน่าได้ถึง 500,000 ตันต่อปี และในแง่ของรายได้แล้ว ทียูเอฟจะกลายเป็นบริษัทผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของโลก นอกจากนั้นแล้ว ทียูเอฟจะเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทอาหารทะเลที่มีเครือข่ายครอบคลุมไปทั่วโลก          

.

และผลจากการนี้ก็จะทำให้สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายของกระบวนการผลิตทั้งหมดเข้าไว้ด้วย คือ ตั้งแต่การผลิต การขาย การกระจายสินค้า และการมีแบรนด์ชั้นนำในเอเชีย อเมริกา และยุโรป ปัจจุบันทียูเอฟมีสัดส่วนยอดขายที่มาจากตลาดยุโรป 11% ของสัดส่วนยอดขายทั้งหมด ซึ่งถ้าการลงทุนประสบความสำเร็จจะช่วยให้สัดส่วนยอดขายในตลาดนี้เติบโตมากขึ้น

.

ทั้งนี้ นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารทียูเอฟ กล่าวถึงการลงทุนใน MWB ว่า “ถือเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับการรวมจุดแข็งต่างๆ ของตลาดอาหารทะเลในโลกเข้าไว้ด้วยกัน โดยเชื่อว่า การรวมกันในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมธุรกิจซึ่งกันและกัน สามารถสร้างกลยุทธ์ด้านการตลาดที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทกลายเป็นผู้นำทางด้านอาหารทะเลของโลกที่สามารถเข้าถึงแหล่งซัพพลายและตลาดผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

.

นอกจากนั้นประโยชน์ของการเข้าลงทุนดังกล่าวก็จะทำให้บริษัทมีโรงงานแปรรูปเพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง ในประเทศฝรั่งเศส โปรตุเกส เซเชลส์ และกานา ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานแปรรูปทั้งหมด 5 แห่งคือ ประเทศไทย (สมุทรสาครและสงขลา) อินโดนีเซีย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันกองเรือจับปลาที่ปัจจุบันมีอยู่แล้ว 4 ลำจะเพิ่มขึ้นอีก 5 ลำ เป็นทั้งหมด 9 ลำ

.

นอกจากการเพิ่มศักยภาพทางด้านฐานการผลิต การตลาด และแหล่งวัตถุดิบให้กับบริษัทแล้ว ความแข็งแกร่งทางธุรกิจและการมีเครือข่ายที่มั่นคงของ MWB ในยุโรปจะช่วยเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจ และสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงให้กับทียูเอฟจากฐานลูกค้าที่มีอยู่และการเป็นผู้นำแบรนด์ในตลาดยุโรป และเรามีความเป็นยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อนรับพนักงานทั้งหมดของ MWB เข้ามาเป็นหนึ่งในครอบครัวของไทยยูเนี่ยน”

.

นอกจากนี้นายโจ โคเฮน ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของ Trilantic Capital Partners กล่าวเสริมว่า “เรามีความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมกับ MWB ตั้งแต่แรก หลังจากเข้าซื้อมาจาก Heinz จนปัจจุบัน MWB กลายเป็นบริษัทอาหารทะเลบรรจุกระป๋องชั้นนำในยุโรป และเราเชื่อว่า ทียูเอฟ เป็นผู้ซื้อที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการทำดีลนี้         

.

โดยเชื่อว่าจะสามารถร่วมกำหนดและดำเนินกลยุทธ์ต่างๆ กับ MWBได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบ การคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ตลอดจนการสร้างการเติบโตของยอดขายจากทั่วโลก นอกจากนี้ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ นับเป็นก้าวที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจทางด้านผลิตภัณฑ์อาหารทะเลอย่างยั่งยืน”

.

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2552 บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) มีรายได้จากการขายในรูปของบาทเท่ากับ 68.9 พันล้านบาท หรือประมาณ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยทำกำไรทั้งปีเท่ากับ 3.3 พันล้านบาท และ EBITDA อยู่ที่ 6 พันล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมาสินค้าปลาทูน่ามีสัดส่วนยอดขายเป็นอันดับหนึ่ง คือ 44% รองลงมาคือ กุ้งแช่แข็ง 20% อาหารแมวบรรจุกระป๋อง 9% อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง 9% อาหารกุ้ง 6% ปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรลบรรจุกระป๋อง 4% ปลาหมึกแช่แข็ง 3% และอื่นๆ อีก 5%

.

โดยล่าสุดผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2553 บริษัทสามารถทำยอดขายในรูปเงินบาทเท่ากับ 16.3 พันล้านบาท และยอดขายในรูปเงินเหรียญสหรัฐเท่ากับ 498 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่กำไรสุทธิเท่ากับ 831.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.3% เมื่อเทียบไตรมาสแรกของปี 2552 และเพิ่มขึ้น 15.8% เมื่อเทียบกับกำไรในไตรมาส 4/2552 โดยกำไรต่อหุ้นในไตรมาสแรกนี้เท่ากับ 0.94 บาท

.

ราคาหุ้นของบริษัท เมื่อวานนี้ (27 ก.ค. 53) ปิดที่ 47. 75 บาท เพิ่มขึ้น 2.69% จากราคาปิดที่ 46.50 บาท เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 53โดยมีมูลค่าการซื้อขายที่ 264.4 ล้านบาท

.

Trilantic Capital Partners เป็นกองทุนส่วนบุคคลที่มีสำนักงานในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสินทรัพย์ในการดูแลและจัดการเป็นจำนวน 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะเน้นการลงทุนในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจอุตสาหกรรม ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจด้านการเงิน และธุรกิจด้านการบริการ

.

สำหรับที่ปรึกษาการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวประกอบด้วย บริษัทมอร์แกน สแตนเลย์ และบมจ. หลักทรัพย์บัวหลวง ซึ่งทั้ง 2 บริษัทจะเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับ TUF ในขณะที่ UBS จะเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับ Trilantic

.
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.bangkokbiznews.com