iTAP ดึง ผู้เชี่ยวชาญ มช. ช่วยผู้ประกอบการพัฒนาประสิทธิภาพ "เตาชุบเหล็ก-เตาอบแข็งเหล็กแบบสุญญากาศ" ผลิตใบมีดด้วยเหล็กไฮสปีด
iTAP ดึง ผู้เชี่ยวชาญ มช.เข้าพัฒนาประสิทธิภาพ "เตาชุบเหล็ก-เตาอบแข็งเหล็กแบบสุญญากาศ" ช่วยผู้ประกอบการผลิตใบมีดด้วยเหล็กไฮสปีด |
. |
. |
นางปัทมา กฤษณรักษ์ กรรมการผู้จัดการการ บริษัท ไอ.ที.ซี. อินเตอร์คัทส์ จำกัด ผู้ผลิตใบมีดด้วยเหล็กไฮสปีด กล่าวว่า บริษัทฯ เป็นผู้ชำนาญในการชุบแข็ง ขึ้นรูป ทำคมผลิตภัณฑ์เหล็กคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ISO 9001 เริ่มดำเนินธุรกิจเมื่อปี 2527 ที่ตั้งเดิมอยู่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ และได้ย้ายมาตั้งโรงงานที่ อ.เกาะคา จ.ลำปาง เพราะเป็นบ้านเกิดของคุณพ่อ (นายมาลีราช ปาเต็ล) ผู้ก่อตั้งบริษัทปัจจุบันเป็นประธานกรรมการต้องการกลับมาทำประโยชน์ให้กับท้องถิ่น เพื่อสร้างงานให้บ้านเกิดมาตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน |
. |
ธุรกิจหลักของบริษัท คือ การผลิตใบมีดกบไฟฟ้าสำหรับช่างเฟอร์นิเจอร์ ใบมีดตัดหญ้า ใบมีดตัดดิน ใบเลื่อยลันดา ใบเลื่อยตัดกิ่งไม้ ใบเลื่อยคันธนู และเลื่อยวงเดือนสำหรับงานช่าง หลังย้ายมาตั้งโรงงานที่ลำปาง จึงได้เพิ่มกำลังการผลิต และเริ่มผลิตใบมีดที่มีรูปแบบหลากหลายขึ้น รวมถึงใบมีดที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ เครื่องตัดกระดาษ เครื่องบดรีไซเคิลพลาสติก เครื่องสับไม้ หรือแม้แต่ใบมีดที่ใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิก เป็นต้น ใบมีดอุตสาหกรรมเหล่านี้เดิมทีจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ |
. |
บจก. ไอ.ที.ซี.อินเตอร์คัทส์ เป็น 1 ใน 10 ของผู้ผลิตใบมีดในประเทศ เน้นผลิตสินค้าคุณภาพสูงเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ เจาะกลุ่มลูกค้า 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มบริษัทค้าส่งเครื่องมือช่าง โดยจะผลิตภายใต้แบรนด์ของลูกค้า อาทิ ตราตา และ King Eagle และกลุ่มโรงงาน ซึ่งผลิตภัณฑ์จะเป็นใบมีดอุตสาหกรรมที่รับผลิตตามแบบของลูกค้า ภายใต้แบรนด์ของบริษัท คือ “Diamond Eye” |
. |
กรรมการผู้จัดการ ยอมรับว่า ธุรกิจนี้แม้ตลาดไม่ใหญ่มากนักแต่มีการแข่งขันสูงทั้งจากผู้ผลิตในประเทศด้วยกัน และจากผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เช่นจีน ไต้หวัน และแถบยุโรป ลูกค้าอาจมีความจะอ่อนไหวกับสินค้าราคาถูกที่มาจากผู้ขายรายอื่น |
. |
แต่เมื่อได้ชี้แจงถึงคุณภาพที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเงินที่จ่ายเพิ่ม ลูกค้าก็ยอมรับและเข้าใจ แต่อย่างไรก็ตาม ทางโรงงานก็พยายามที่จะควบคุมต้นทุนให้ดีที่สุดแม้ว่าวัตถุดิบหลักคือ “เหล็ก” ที่ต้องนำเข้าเพราะไม่สามารถผลิตเองได้ในประเทศ จะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม บริษัท จึงต้องหาวิธีในการควบคุมต้นทุนด้านอื่นๆ แทน เพราะการไปปรับขึ้นราคากับลูกค้านั้นเป็นเรื่องยาก |
. |
. |
“ ภายใต้อุดมการณ์ที่บริษัทยึดมั่นตลอดมา คือ เรื่องของความซื่อสัตย์ และคุณภาพของสินค้า ทั้งในเรื่องการคัดสรรวัตถุดิบที่เหมาะกับการนำไปใช้งานของลูกค้า , เครื่องจักรอุปกรณ์ในกระบวนการผลิต และบุคลากร ปัจจุบันบริษัท มีพนักงานกว่า 120 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาย และกว่า 80%เป็นคนในพื้นที่ |
. |
อีกส่วนหนึ่งเป็นพนักงานที่ย้ายตามมาจากพระประแดง โรงงานแห่งนี้จึงประสบปัญหาการเข้าออกของพนักงานน้อย จึงสามารถพัฒนาคุณภาพการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ต่างจากโรงงานอื่นๆ ที่มักสะดุดเพราะมีการเข้า-ออกของพนักงานบ่อย จึงถือเป็นจุดแข็งของบริษัท ” นางปัทมา กล่าว |
. |
ด้านกระบวนการผลิตส่วนใหญ่จะใช้เครื่องจักรเกือบทุกขั้นตอน เครื่องจักรที่ใช้อยู่มีทั้งเครื่องในประเทศและนำเข้า และบางส่วนเกิดจากการวิจัยและพัฒนาของโรงงานเอง อาทิ เตาชุบเหล็กขนาดเล็ก ( 60 - 70 ซม.) จากเยอรมันสำหรับการผลิตชิ้นงานที่มีความยาว 3 - 5 นิ้ว แต่บริษัทได้พัฒนาต่อยอดให้มีขนาดที่ยาวขึ้นเกือบ 2 เมตร เพื่อรองรับการผลิตชิ้นงานที่มีความยาวถึง 1.50 เมตร |
. |
แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้นเป็นผลให้อุณหภูมิความร้อนภายในเตาชุบกระจายไม่ทั่วถึง โดยความร้อนบริเวณหัวเตาและท้ายเตามีอุณหภูมิแตกต่างกันถึง 50 องศาเซลเซียส และความไม่สม่ำเสมอของอุณหภูมิดังกล่าว ทำให้ชิ้นงานของเหล็กหรือใบมีดบริเวณปลายทั้งสองข้างมีความแข็งไม่เท่ากัน ส่งผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน |
. |
จึงเป็นที่มาของการเข้ารับการสนับสนุนจาก iTAP (โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทยไทย ) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เครือข่ายภาคเหนือ ในโครงการ “ปรับปรุงเตาชุบแข็ง” เพื่อปรับปรุงการกระจายอุณหภูมิของเตาชุบเหล็ก และโครงการ “ วิเคราะห์และปรับปรุงการทำงานของเตาอบแข็งเหล็กแบบสุญญากาศ ” ตั้งแต่ปี 2550 – 2552 โดย iTAP ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาทั้ง 2 โครงการ |
. |
โดยโครงการปรับปรุงเตาชุบแข็งนั้น ผู้เชี่ยวชาญได้มีการออกแบบการจัดเรียง Heater ภายในเตาใหม่ และให้มีระบบตรวจสอบอุณหภูมิทั้ง 3 จุด ตั้งแต่ส่วนหัว ส่วนกลาง และส่วนท้ายของเตา ปัจจุบันแก้ปัญหาอุณหภูมิที่ไม่สม่ำเสมอให้สามารถกระจายความร้อนได้ดีขึ้น โดยมีอุณหภูมิต่างกันเพียง 5 - 10 องศาเซลเซียสเท่านั้น ทำให้ชิ้นงานที่ออกมามีความแข็งที่สม่ำเสมอเท่าเทียมกันเป็นที่ยอมรับได้ ลดปัญหาการทำงานซ้ำ และลดการสูญเสีย |
. |
. |
สำหรับโครงการที่ 2 เป็นการปรับปรุงเตาชุบแข็งเหล็กแบบสุญญากาศที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเตาดังกล่าวมีอายุการใช้งานประมาณ 20 ปี จึงยังเป็นการควบคุมแบบ manual และการจัดเก็บข้อมูลการทำงาน ก็ยังเป็นการบันทึกเอกสารด้วยมือ จึงไม่สะดวกต่อการนำข้อมูลมาใช้ให้เป็นประโยชน์สำหรับการผลิตในครั้งต่อๆ ไป ดังนั้น ทางผู้เชี่ยวชาญจึงได้แนะนำให้มีการปรับปรุงการทำงานของเครื่องอบดังกล่าว |
. |
สำหรับโครงการปรับปรุงเตาชุบแข็งเหล็กแบบสุญญากาศนี้ได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยผู้เชี่ยวชาญได้ทำการติดตั้งระบบบันทึกข้อมูลอุณหภูมิ ความดัน และกำลังไฟฟ้า เป็นระบบที่สามารถบันทึกข้อมูลลงบนคอมพิวเตอร์ได้เพื่อนำข้อมูลมาเก็บไว้หรือสามารถตรวจสอบการทำงานได้ว่าในการชุบแต่ละครั้งเป็นอย่างไร และมีผลต่อผลิตภัณฑ์อย่างไร |
. |
จึงช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานได้เข้าใจในการทำงานง่ายขึ้น ไม่ต้องจดข้อมูลด้วยมือซึ่งอาจเกิดการคลาดเคลื่อนของข้อมูล แต่ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญยังได้แนะนำให้บริษัทจะต้องบันทึกและเก็บข้อมูลอย่างสม่ำเสมอเพื่อใช้เป็นข้อมูลการผลิต จึงควรมีการตรวจเช็คเครื่องบันทึกอย่างสม่ำเสมอด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดและเมื่อมีการเก็บข้อมูลได้มากพอก็จะสามารถสร้างระบบควบคุมแบบอัตโนมัติได้ |
. |
กรรมการผู้จัดการ ไอ.ที.ซี. กล่าวว่า จากโครงการทั้ง 2 โครงการที่ทำร่วมกับ iTAP นี้ ทำให้โรงงานสามารถลดความซ้ำซ้อนของงานที่ทำ และเพิ่มประสิทธิภาพในงานทำงานได้เป็นอย่างมาก จึงถือว่า ความสำเร็จครั้งนี้ เพราะได้รับการสนับสนุนจากโครงการ iTAP เสมือนกันว่าบริษัทได้มีที่ปรึกษา R&D ด้านเทคโนโลยีนำองค์ความรู้เข้ามาพัฒนา SMEs ได้อย่างถูกต้อง |
. |
ทั้งนี้ ผลประกอบการในปี 2552 ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าลดลงไป 12-15% แต่เนื่องจากเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องจากปลายที่แล้ว ทำให้บริษัท คาดว่า จะสามารถเพิ่มยอดขายกลับขึ้นมาได้ 15% |
. |
ผู้สนใจผลิตภัณฑ์ของบริษัท ไอ.ที.ซี.อินเตอร์คัทส์ จำกัด ติดต่อได้ที่ เลขที่ 131/1 หมู่ที่ 4 ต.วังพร้าว อ.เกาะคา จ.ลำปาง โทร.054-327-817-8 โทรสาร 054-327-819 หรือที่เว็บไซต์ www.inter-cuts.com |
. |
สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเข้ารับการสนับสนุนจากโครงการ iTAP ติดต่อได้ที่ (ส่วนกลาง) โทร.02-564-7000 ต่อ โครงการ iTAP , เครือข่าย สวทช. ภาคเหนือ โทร.053-226-264 หรือที่เว็บไซต์ www.tmc.nstda.or.th/itap และ www.nn.nstda.or.th |