สรุปผลการตรวจสอบปัญหาทางขับและทางวิ่ง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เบื้องต้นได้ข้อสรุปปัญหาการแตกร้าวมาจาก 3 สาเหตุ คือ ปัญหาน้ำใต้ดิน ปัญหาวัสดุปูผิวแท็กซี่เวย์ หรือแอสฟัลติก คอนกรีต ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงการเร่งรัดงานก่อสร้างเพื่อเร่งเปิดสนามบินอาจทำให้การก่อสร้างไม่มีความสมบูรณ์
สรุปผลการตรวจสอบปัญหาทางขับ (แท็กซี่เวย์) และทางวิ่ง (รันเวย์) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เบื้องต้นได้ข้อสรุปปัญหาการแตกร้าวมาจาก 3 สาเหตุ คือ ปัญหาน้ำใต้ดิน ปัญหาวัสดุปูผิวแท็กซี่เวย์ หรือแอสฟัลติก คอนกรีต ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงการเร่งรัดงานก่อสร้างเพื่อเร่งเปิดสนามบินอาจทำให้การก่อสร้างไม่มีความสมบูรณ์ |
. |
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความคืบหน้าจากการตรวจสอบปัญหาการแตกร้าวของแท็กซี่เวย์และรันเวย์ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยคณะกรรมการกลางตรวจสอบปัญหาแท็กซี่เวย์และรันเวย์ ที่มีนายต่อตระกูล ยมนาค กรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นประธาน โดยหลังจากคณะกรรมการกลางฯ ได้ลงพื้นที่ และประชุมหาข้อสรุปตั้งแต่ช่วงเย็นวานนี้ (9 ก.พ.) จนถึงเวลา 07.00 น. เช้าวันที่ 10 ก.พ. |
. |
โดยในเวลา 22.00 น. คณะกรรมการกลางฯ ได้นำเจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวง พร้อมอุปกรณ์ตรวจสอบความแข็งของพื้นผิวของแท็กซี่เวย์ ที่เรียกว่า ดีเทคโทมิเตอร์ จำนวน 4 เครื่อง เข้าดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งได้ข้อสรุปเชิงวิชาการว่า ความแข็งแรงของผิวแท็กซี่เวย์ในบริเวณที่มีความเสียหาย มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 (คิดตามสเกลเครื่องตรวจวัด) และพื้นผิวแท็กซี่เวย์ที่มีความปกติ จะมีค่าเฉลี่ยความแข็งแรงอยู่ที่ 4,000 แสดงให้เห็นว่าความเสียหายของผิวแท็กซี่เวย์มีความรุนแรง ตามค่าเฉลี่ย คือ 1 ใน 4 ผิวแท็กซี่เวย์ปกติเท่านั้น |
. |
ในขณะที่การตรวจสอบสภาพของผิวรันเวย์นั้น พบว่า มีความแข็งแรงมากกว่าผิวแท็กซี่เวย์มาก โดยจุดที่มีความเสียหายเกิดขึ้น ที่เรียกว่า จุดทัชดาวน์ ซึ่งเป็นจุดแรกที่เครื่องบินสัมผัสพื้นเมื่อจะลงจอด และจุดเทคออฟ ซึ่งเป็นจุดที่เครื่องบินจะทะยานขึ้นสู่อากาศ ความเสียหายที่เกิดขึ้นสามารถซ่อมแซมได้กลับมาแข็งแรงเช่นเดิม ในขณะที่ปัญหาน้ำใต้ดินไม่ส่งผลกระทบกับผิวใต้รันเวย์ เนื่องจากระดับผิวรันเวย์ที่มีความสูงจากระดับน้ำใต้ดิน 1.75 เมตร สูงกว่าระดับความสูงจากระดับน้ำใต้ดินของแท็กซี่เวย์ที่ 75 เซนติเมตร ทำให้น้ำใต้ดินไม่สามารถขึ้นมาถึงผิวใต้รันเวย์ได้ |
. |
ส่วนสาเหตุความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแท็กซี่เวย์นั้น เบื้องต้นมาจาก 3 สาเหตุ คือ ปัญหาน้ำใต้ดิน จากสภาพด้านล่างของแท็กซี่เวย์ในอดีต ซึ่งเคยเป็นบ่อปลา 2,000 บ่อ จากปัญหาในขณะนี้พบว่ามีน้ำจากภายนอกไหลเข้าสู่ชั้นดินของใต้แท็กซี่เวย์ แต่กลับไม่ไหลออก ทำให้ดินมีสภาพอุ้มน้ำตลอดเวลา ซึ่งในส่วนนี้จะต้องแก้ไขปัญหาที่ทางเดินน้ำต่อไป ส่วนที่ 2 คือ ปัญหาการผสมวัสดุปูผิวแท็กซี่เวย์ ที่เรียกว่า แอสฟัลติก คอนกรีต |
. |
มีส่วนผสมที่บกพร่อง ทำให้ผิวคอนกรีตชั้นนี้ ไม่มีความแข็งแรงตามมาตรฐาน รวมถึงปัญหาสุดท้ายคือ การก่อสร้างจากฝีมือของช่างที่ดำเนินการก่อสร้างแท็กซี่เวย์นี้ ซึ่งคณะกรรมการฯ ตั้งข้อสังเกตว่า การเร่งรัดงานเพื่อให้สนามบินเปิดได้ตามกำหนด อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขั้นตอนก่อสร้าง ช่างก่อสร้าง มีการเร่งรัดงาน จนทำให้งานขาดมาตรฐาน |
. |
ส่วนประเด็นที่ความเสียหายของแท็กซี่เวย์และรันเวย์นั้น ที่ต้องดำเนินการซ่อมแซมใหญ่ และต้องปิดใช้งานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปีหรือไม่นั้น คณะกรรมการฯ รายหนึ่งยอมรับว่า ประเด็นดังกล่าวคณะกรรมการฯ แต่ละคนยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยบางรายเห็นว่า การปิดพื้นที่ทั้งหมดจะทำให้การซ่อมแซมคล่องตัว แต่ก็มีคณะกรรมการฯ บางส่วนเห็นว่า การซ่อมแซมสามารถปิดซ่อมพื้นที่บางส่วนได้ ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงที่ใกล้หมดฤดูหนาว ซึ่งลมจะมีการเปลี่ยนทิศทางอีกครั้ง ส่งผลให้เครื่องบินต้องมีการเปลี่ยนทิศทางขึ้น-ลง ถือเป็นโอกาสดีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้งานแท็กซี่เวย์และรันเวย์เพื่อประโยชน์ในการซ่อมแซมได้. |