สนช. - ปตท.- MCC.- กรมอุทยานฯ นำร่องรณรงค์ใช้ถุงพลาสติกชีวภาพบนเกาะเสม็ด หวังสร้างตัวอย่าง ชุมชนเกาะสีเขียว ที่ยั่งยืน
สนช. - ปตท.- MCC.- กรมอุทยานฯ นำร่องรณรงค์ใช้ถุงพลาสติกชีวภาพบนเกาะเสม็ด หวังสร้างตัวอย่าง “ชุมชนเกาะสีเขียว” ที่ยั่งยืน |
. |
. |
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า - หมู่เกาะเสม็ด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด จัดงานงานแถลงข่าวเปิดตัวและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการการใช้ถุงขยะพลาสติกชีวภาพ PBS คัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อผลิตปุ๋ยชีวภาพ ณ เกาะเสม็ด” |
. |
เพื่อรณรงค์ลดปริมาณขยะพลาสติกบนเกาะเสม็ด พร้อมทั้งคัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อนำมาผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งคาดว่าช่วยลดปัญหาการกำจัดขยะในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวได้กว่า 100 ตัน/เดือน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน คิดเป็นปริมาณคาร์บอนได้ถึง 1,600 ตัน/ปี |
. |
นายสันติ สาทิพย์พงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “หลายประเทศ ทั่วโลกได้ผลักดันนโยบายสนับสนุนให้เกิดการใช้พลาสติกชีวภาพ เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกที่เหลือตกค้างและสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี รวมทั้งประเทศไทยซึ่งมีประชากรบริโภคพลาสติกต่อหัวปีละ 46.8 กิโลกรัม และก่อให้เกิดขยะพลาสติกตกค้างปีละประมาณ 1 ล้านตัน ซึ่งต้องใช้เวลา 300-400 ปี จึงจะย่อยสลายได้หมด |
. |
ผนวกกับปริมาณขยะอินทรีย์ที่เกิดขึ้นจำนวนมากถึงปีละ 9 ล้านตัน ถ้าสามารถนำถุงพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพมาใช้คัดแยกขยะอินทรีย์จากต้นทาง จะสามารถผลิตปุ๋ยชีวภาพได้ถึงปีละ 6 ล้านตัน คิดเป็นรายได้เพิ่มสูงถึง 60,000 ล้านบาท ซึ่งมีความสอดคล้องกับแผนที่นำทางแห่งชาติการพัฒนาพลาสติกชีวภาพ ในกลยุทธ์ที่ 4 การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรณรงค์และสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ |
. |
ดังนั้น สนช. จึงริเริ่มโครงการการใช้ถุงขยะพลาสติกชีวภาพ PBS คัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อผลิตปุ๋ยชีวภาพ ณ เกาะเสม็ด ขึ้น เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมชุมชนเกาะเสม็ดให้เป็นตัวอย่างของ “ชุมชนเกาะสีเขียวที่ยั่งยืน” หรือ “green island” ซึ่งเป็นการเสริมภาพลักษณ์ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม และยกระดับการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ชุมชนให้โดดเด่นยิ่งขึ้น |
. |
แสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพนอกจากจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศแล้วยังเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ นับเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด” |
. |
นายภิมุข สิมะโรจน์ ผู้ช่วยประจำรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “การดำเนินโครงการนำร่อง ณ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า หมู่เกาะเสม็ด ในครั้งนี้นับว่ามีความเหมาะสมยิ่ง เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวมาเป็นจำนวนมากและก่อให้เกิดขยะประมาณ 6 ตัน/วัน อีกทั้งสภาพพื้นที่เป็นเกาะมีทะเลล้อมรอบทำให้มีพื้นที่จัดการขยะที่จำกัด จึงเกิดการจัดการขยะที่ไม่ถูกหลัก เช่น การเผาขยะในบริเวณเปิด เป็นต้น |
. |
โดยอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมในวงกว้าง และทำให้สถานที่ท่องเที่ยวมีความเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว แต่ในปัจจุบันได้มีการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ ซึ่งประชาชนในเกาะเสม็ดก็ได้มีการคัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อนำมาทำปุ๋ยหมักและไบโอดีเซลมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง |
. |
ดังนั้น โครงการนี้จะเป็นการสนับสนุนแนวทางในการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเป็นกรณีศึกษาที่สร้างความเข้าใจและข้อมูลที่แสดงผลได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้เกิดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการจัดการขยะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติต่อไปในอนาคต” |
. |
ดร. วันทนีย์ จองคำ ผู้อำนวยฝ่ายส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม สนช. กล่าวว่า “พลาสติกชีวภาพ ถือเป็นนวัตกรรมของวัสดุแห่งอนาคต เพราะเป็นพลาสติกชนิดใหม่ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้อย่างเป็นรูปธรรมและทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าพลาสติกธรรมดาไม่ต่ำกว่าหนึ่งเท่า เนื่องจากสามารถผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรที่สามารถปลูกขึ้นใหม่ทดแทนได้ |
. |
เช่น มันสำปะหลัง หรืออ้อย ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สนช. ได้ริเริ่มและประสานงานโครงการนำร่องให้เกิดการใช้งานผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในการนำถุงขยะพลาสติกชีวภาพมาใช้จัดการคัดแยกขยะอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพ |
. |
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศอย่างหมู่เกาะเสม็ด ซึ่งมีพื้นที่เหมาะสมในการนำรูปแบบดังกล่าวมาดำเนินงานเพื่อจัดการขยะที่ดีและเกิดการเพิ่มมูลค่าได้ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่มีความพร้อมอย่างสูง ที่ได้เริ่มมีการดำเนินคัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อทำปุ๋ยหมักและไบโอดีเซลมาในระดับหนึ่งแล้ว” |
. |
“การดำเนินโครงการนำร่องนี้ สนช. ได้ให้การสนับสนุนด้านวิชาการกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยในการผลิตถุงขยะพลาสติกชีวภาพ PBS และการรณรงค์การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างจิตสำนึกและความตระหนักด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน |
. |
โดยใช้ถุงขยะพลาสติกชีวภาพในการคัดแยกขยะอินทรีย์ เพื่อนำมาผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างโรงหมักย่อยถุงบรรจุขยะอินทรีย์ให้เป็นปุ๋ยชีวภาพจำนวน 4 ล้านบาท จากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MCC) |
. |
ทั้งนี้ จะมีการติดตามและเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นในโครงการอย่างต่อเนื่องในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยหวังว่ารูปแบบของโครงการนำร่องนี้จะสามารถนำไปสู่การขยายผลให้เกิดนโยบายระดับประเทศ ด้านการจัดการขยะอินทรีย์ที่มีระบบการคัดแยกได้อย่างประสิทธิภาพโดยใช้ถุงพลาสติกชีวภาพเป็นเครื่องมือ ซึ่งทำให้การจัดเก็บและการขนส่งมีความสะดวกและถูกสุขอนามัย |
. |
อีกทั้งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการคัดแยกถุงพลาสติกชีวภาพออกในขั้นตอนการแปรรูปให้เป็นปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งนอกจากจะสามารถลดปริมาณก๊าซมีเทนที่เกิดจากการเน่าสลายตัวของขยะอินทรีย์ในบ่อฝังกลบขยะระบบเปิดแล้ว ยังก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มโดยนำมาใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพสำหรับการปลูกพืชได้ต่อไป” ดร. วันทนีย์ กล่าว |
. |
ดร. ปรัชญา ภิญญาวัธน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กลุ่ม ปตท. กับ มิตซูบิชิ เคมิคอล ได้เข้าร่วมสนับสนุนดำเนินการแปรรูปขยะให้เป็นประโยชน์ โดยใช้ถุงพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Biodegradable Plastic) ในการคัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อนำไปผลิตปุ๋ยชีวภาพ |
. |
โดยพิจารณาใช้ถุงพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Biodegradable Plastic) ที่ส่วนผสมระหว่าง PLA และ PBS ซึ่งมีความยืดหยุ่นและสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติภายในเวลา 6 เดือน จึงเหมาะสมต่อการคัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อนำไปผลิตปุ๋ยชีวภาพ |
. |
ช่วยลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของเกาะ และสร้างรายได้ในการจำหน่ายปู๋ยชีวภาพอีกด้วย ทั้งนี้ ปตท. และ มิตซูบิชิ เคมิคอล ได้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างโรงหมักย่อยถุงบรรจุขยะอินทรีย์ให้เป็นปุ๋ยชีวภาพ และให้บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (PTTPM) เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบเพื่อการผลิตถุงพลาสติกดังกล่าว |
. |
ทั้งนี้ โครงการนำร่องนี้สอดคล้องกับนโยบาย “Green Society” ของกลุ่ม ปตท. ในการจะสร้างให้เกิดสังคมสีเขียว ด้วยความใส่ใจในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติงาน นับตั้งแต่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Process) มีมาตรการดูแลด้านคุณภาพความปลอดภัยด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด |
. |
ทำให้โรงงานของกลุ่ม ปตท. เป็นโรงงานสีเขียว (Green Plant) ซึ่งจะนำมาสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อส่งแวดล้อม (Green Product) และไม่มีอันตรายต่อสุขภาพถึงมือผู้บริโภคในที่สุด สำหรับ Green Product ของกลุ่ม ปตท. ที่ผลิตจากพืชพรรณธรรมชาติ นอกจากผลิตภัณฑ์ที่คุ้นเคย เช่น น้ำมันไร้สารตะกั่ว น้ำมันแก๊ซโซฮอล ไบโอดีเซล ก๊าซ NGV แล้ว ยังมีอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่สำคัญก็คือ “พลาสติกชีวภาพ” |
. |
ซึ่งกลุ่ม ปตท. ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของพลาสติกชีวภาพ ที่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น น้ำตาลจากอ้อย หรือ แป้งจากข้าวโพดและมันสำปะหลัง เป็นวัตถุดิบในการผลิต และสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ช่วยลดภาวะโลกร้อน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตร จึงได้มุ่งมั่นศึกษาพัฒนาการผลิต |
. |
ตลอดจนแสวงหาโอกาสในการพัฒนาตลาดพลาสติกชีวภาพอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจ ที่จะได้ร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนาธุรกิจ ให้เข้าสู่ระดับโลก โดยจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค เลือกใช้วัตถุดิบและเทคโนโลยีที่เหมาะสม มีความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” |