เบี้ยกุดชุม ไม่ใช่ปรากฏการณ์ชั่วขณะที่เกิดขึ้นในกระแส เศรษฐกิจพอเพียง แต่เป็นผลพวงความพยายามใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการพึ่งตนเองมายาวนาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชนลดการพึ่งพาภายนอก มีการจำกัดการใช้เฉพาะแลกเปลี่ยนสินค้า ที่ผลิตขึ้นในชุมชน
เบี้ยกุดชุม ไม่ใช่ปรากฏการณ์ชั่วขณะที่เกิดขึ้นในกระแส เศรษฐกิจพอเพียง แต่เป็นผลพวงความพยายามใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการพึ่งตนเองมายาวนาน ของชุมชนตำบลนาโส่ อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ปัจจุบันกลายเป็นกรณีศึกษาธุรกิจชุมชน เพื่อการพึ่งตนเอง ที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะใน 5 หมู่บ้านนำร่องการใช้ เบี้ยกุดชุม เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนในชุมชน |
. |
กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ชี้ขาดการอนุญาตให้ใช้เบี้ยกุดชุมใน 5 ชุมชน ในอำเภอกุดชุม และทรายมูล จังหวัดยโสธร หลังได้รับการวินิจฉัยจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว โดย ธปท. เสนอให้กำหนดเงื่อนไขการใช้เบี้ยกุดชุมให้ชัดเจนที่จะต้องไม่ขัดกับ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 |
. |
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ได้รับหนังสือตอบรับจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับการตีความเรื่องการใช้เบี้ยกุดชุมในการแลกเปลี่ยนสินค้า และบริการแทนเงินตราแล้ว หลังจากที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เสนอให้กระทรวงการคลัง และ ธปท.สนับสนุนการใช้เบี้ยกุดชุมในหมู่บ้านท่าลาด โสกขุมปูน สันติสุข กุดหิน อำเภอกุดชุม และหมู่บ้านโคกกลาง อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร เพื่อกระตุ้นกิจกรรมในทางเศรษฐกิจภายในชุมชน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง ซึ่งกระทรวงการคลังจะพิจารณาในรายละเอียดพร้อมเสนอให้ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาต่อไป |
. |
ทั้งนี้ เบื้องต้นกระทรวงการคลังเกรงว่าการใช้เบี้ยกุดชุมแทนเงินตราในชุมชนดังกล่าวอาจขัดต่อ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 จึงได้นำเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความให้ชัดเจนก่อน โดยยืนยันว่าขึ้นอยู่กับอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะ ตามมาตรา 9 พ.ร.บ.เงินตรา กำหนดว่า ห้ามผู้ใดทำ จำหน่าย ใช้หรือนำออกใช้ ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใด ๆ แทนเงินตรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่การใช้อำนาจดังกล่าว ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งจะกระทำได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น |
. |
สำหรับความเห็นของ ธปท. ยังเป็นห่วงว่า พ.ร.บ.เงินตรา มีเจตนารมณ์ให้มีระบบเงินตราของรัฐบาลเป็นระบบหลักเพียงระบบเดียว หากยินยอมให้มีการอ้างเจตนาว่า ไม่ได้มุ่งประสงค์นำออกใช้แทนเงินบาท เพราะใช้เพียงระหว่างสมาชิกแล้ว ในอนาคตถ้ามีชุมชนอื่นออกใช้วัตถุใดแทนเงินบาทในทำนองเดียวกัน และมีการใช้ในเขตพื้นที่กว้างขึ้น รัฐจะไม่สามารถควบคุมดูแลได้ ธปท. จึงได้เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาอนุญาตให้ใช้เบี้ยกุดชุมแทนเงินบาทได้โดยมีขอบเขตและเงื่อนไขหลายข้อ เช่น ให้ใช้เบี้ยกุดชุมได้เฉพาะภายใน 5 หมู่บ้าน ต้องมีข้อความปรากฏบนเบี้ยกุดชุมให้ชัดเจนว่า มิใช่เงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ปริมาณเบี้ยที่จะออกใช้ และจำนวนสูงสุดที่จะออกให้แก่สมาชิกแต่ละราย |
. |
รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้ ธปท. เคยมีความเห็นเกี่ยวกับการใช้เบี้ยกุดชุมของกลุ่มชาวบ้านตำบลนาโส่ อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกันภายในชุมชน เป็นการทำผิด พ.ร.บ.เงินตรา 2501 และห้ามใช้คำว่า เบี้ยกุดชุม อีก ซึ่งทำให้กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนและคนทำงานชุมชนได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ธปท. ใช้อำนาจไม่ถูก เพราะได้ทำลายความเข้มแข็งของชุมชน และภูมิปัญญาชาวบ้าน แต่ต่อมา ธปท. ได้ผ่อนผันให้ใช้เบี้ยกุดชุมได้ แต่ต้องเปลี่ยนเป็น บุญกุดชุม รวมทั้งต้องไม่ใช้คำว่า ธนาคาร และ เงิน และยังมีเงื่อนไขอื่น ก่อนที่ชาวบ้านจะสามารถใช้ บุญกุดชุม ได้อีกครั้งเมื่อปี 2546. |
. |
เบี้ยกุดชุม ที่ทำขึ้นนี้มีเจตนารมณ์หลัก เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชนลดการพึ่งพาภายนอก มีการจำกัดการใช้เฉพาะแลกเปลี่ยนสินค้า ที่ผลิตขึ้นในชุมชน คือ ผลผลิตทางการเกษตร อาหารแปรรูป ผลผลิตจากโรงสีข้าว รักษ์ธรรมชาติ สินค้าหัตถกรรมหรือยาสมุนไพรต่างๆ เท่านั้น |
. |
โดยมีองค์กร ที่ชื่อ ชมรมรักษ์ธรรมชาติ กลุ่มเกษตรกร ทำนา นาโส่ เป็นแกนกลางของการรวมกลุ่มดำเนินกิจกรรมพึ่งตนเองในรูปแบบต่างๆ และมีพระสงฆ์เป็นแกนกลางการรวมตัว พร้อมกับองค์กรพัฒนาเอกชนจากใน และต่างประเทศ เข้ามาส่งเสริมให้ความรู้การจัดการสมัยใหม่ |