1. รมว. พาณิชย์มั่นใจยอดส่งออกไทย – รัสเซีย กระฉูดหลังจากมีการหารือที่ผ่านมา |
- รมว. พาณิชย์เปิดเผยถึงการเดินทางไปรัสเซียว่า ได้หารือถึงแนวทางการขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยทั้งสองประเทศมีโครงสร้างทางการค้าที่เกื้อกูลกัน ซึ่งรัสเซียเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบที่สำคัญ เช่น น้ำมันดิบ สินแร่ ปุ๋ย ขณะที่ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว มันสำปะหลังและอาหารแปรรูปต่างๆ ซึ่งเป็นสินค้าที่รัสเซียต้องการซื้อ |
. |
ดังนั้น ภาครัฐของทั้งสองประเทศจะร่วมกันผลักดันแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่มีอยู่ และสนับสนุนการพบปะติดต่อกันของภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการพิจารณาแนวทางการค้าในรูปแบบการแลกเปลี่ยนสินค้า (Barter Trade) และการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐสำหรับสินค้าที่ทั้งสองประเทศมีศักยภาพ |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของไทยไปรัสเซียในช่วง 5 เดือนแรกของปี 53 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 4.04 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ที่ 1.74 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นขยายตัวสูงถึงร้อยละ 131.63 ต่อปี โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญเป็นอันดับ 1 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกปี 53 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.26 ของมูลค่าการส่งออกไทยไปรัสเซีย |
. |
ทั้งนี้ จากการหารือทางการค้าในครั้งนี้จะส่งผลให้สินค้าของไทยสามารถส่งออกได้มากขึ้น อันจะเป็นการขยายตลาดส่งออกไปสู่ตลาดใหม่มากขึ้น นอกเหนือจากตลาดเดิม เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับต่ำ และอาจส่งผลให้การกีดกันทางการค้าของแต่ละประเทศลดลงได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมไทย |
. |
2. การลงทุนภาคเหนือตอนบนในช่วง 6 เดือนแรกปี 53 คึกคัก |
- ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 เปิดเผยถึงภาวะการลงทุนภาคเหนือตอนบนครึ่งปีแรกปี 53 พบว่ามีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีจำนวน 37 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปี 52 ที่มีจำนวน 20 โครงการ โดยมีมูลค่าการลงทุน กว่า 2,720.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเงินลงทุนจำนวน 1,273 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 113.58 ต่อปี |
. |
โดยอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน คืออุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กิจการผลิตซอฟต์แวร์ |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนภาคเหนือตอนบนที่ขยายตัวดีสอดคล้องกับภาพรวมของการลงทุนภาคเอกชนโดยรวม ที่มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนและปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในช่วง 5 เดือนแรกปี 53 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 30.1 ต่อปี และร้อยละ 49.8 ต่อปี ตามลำดับ |
. |
ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร (มีสัดส่วนร้อยละ 13.1 ของ GDP) มีการฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 53การลงทุนภาคเอกชนที่แท้จริงจะขยายตัวร้อยละ 10.2 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.3 ถึง 12.1 ต่อปี (ประมาณการ ณ เดือน มิ.ย.53) |
. |
3.ตลาดหุ้นเอเซียร่วง กังวลตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ |
- ดัชนีตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงโดยถ้วนหน้า เนื่องจากตลาดวิตกกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังคงอ่อนแอ หลังจากที่บริษัทใหญ่หลายบริษัท อาทิเช่น แบงค์ ออฟ อเมริกา ซิตี้กรุ๊ป และเจนเนอรัล อิเล็กทริก รายงานผลประกอบการที่ต่ำกว่าคาดการณ์ ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเดือน ก.ค. 53 ก็ร่วงลงเกินคาด |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุดนี้ ยังคงแสดงสัญญาณเปราะบาง โดยจะเห็นได้จากทั้งฝั่งการผลิตและการใช้จ่าย โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือนมิ.ย. 53 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 56.2 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน |
. |
ในขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรก็กลับมาลดลงเป็นครั้งแรกในเดือน มิ.ย. 53 หลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันในช่วงต้นปี เนื่องจากสัญญาจ้างงานชั่วคราวโดยภาครัฐสิ้นสุดลง อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนก.ค. 53 ร่วงลงสู่ระดับ 66.5 จุด |
. |
ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ย่อมเป็นปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกของไทยที่มีสหรัฐฯเป็นตลาดหลัก |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |