เนื้อหาวันที่ : 2010-07-15 12:29:51 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 617 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 15 ก.ค. 2553

1. กนง.อนุมัติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี

- คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เห็นควรที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าสู่ระดับปกติ  จึงได้มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี คือ จากเดิมร้อยละ 1.25 ต่อปี  เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที  เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 53 สามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาดการณ์และคงจะสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง  ประกอบกับในขณะนี้แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อยังมีไม่มาก แต่คาดว่าในปีหน้าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นจากผลของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากเดิมร้อยละ 1.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี มีสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่สามารถเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่องจากผลของภาวะเศรษฐกิจโลกที่สามารถฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย และแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่อาจปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต

.

ดังนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.มีทิศทางเดียวกับธนาคารกลางของหลายประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปในช่วงก่อนหน้านี้ เช่น เกาหลีใต้ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 2.00 ต่อปี เป็นร้อยละ 2.25 ต่อปี  และนิวซีแลนด์ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 2.50 ต่อปี เป็นร้อยละ 2.75 ต่อปี  ซึ่งทั้งสองประเทศมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลก 

.

2. โตโยต้าเผย ยอดขายรถยนต์เดือน มิ.ย. 53 พุ่งร้อยละ 62.6 ต่อปี

- บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า สถิติการขายรถยนต์เดือนมิ.ย. 53 มีปริมาณขายทั้งสิ้น 70,557 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.6 ต่อปี นับเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยที่ ตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 75.7 ต่อปี รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.5 ต่อปี รวมทั้งรถกระบะ 1 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.7 ต่อปี

.

สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ภายในประเทศที่ดีขึ้น เป็นผลจากกำลังซื้อของประชาชนที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับราคาน้ำมันที่ไม่เปลี่ยนแปลง ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสม

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดขายรถยนต์ของไทยที่ขยายตัวสูงตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 4 ปี 52 ได้รับปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ สะท้อนจากการบริโภคภาคเอกชนเดือน พ.ค. 53 ที่ขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับปีก่อน ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ในระดับสูง

.

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเดือน มิ.ย. 53ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 69.1 จากเดือน พ.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 67.2 จุด ทั้งนี้ หากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยไม่มีปัจจัยลบใดๆมากระทบ โดยเฉพาะการส่งออกที่เป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อการเติบโตของตลาด รถยนต์ในประเทศของไทย 

.

3. ADB เตือนจีนเสี่ยงฟองสบู่

- ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) กล่าวว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจีนในช่วงครึ่งปีแรกมีมากขึ้น แต่ยังสามารถควบคุมได้ นอกจากนี้ ได้เตือนถึงความเสี่ยงของการเกิดสภาวะฟองสบู่ โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมาจากการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจของประเทศ

.

อย่างไรก็ตาม ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าผลกระทบจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปสามารถส่งผลกระทบต่อความสามารถในการส่งออกของจีน และจีนควรเพิ่มบทบาทของการบริโภคภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น รวมถึงลดการพึ่งพาการใช้นโยบายการเงินและการคลังที่ขยายตัวลง เพื่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจ

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่เศรษฐกิจจีนกำลังขยายตัวในระดับที่สูงที่ร้อยละ 11.9 ต่อปี ในไตรมาสแรกของปี 53 เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตั้งแต่หลังวิกฤตการเงินโลก ผ่านทางการส่งออกไปจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

.

จนปัจจุบันจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 10.6 ของมูลค่าการส่งออก และขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 53.3 ต่อปี ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 53  ทั้งนี้ การชะลอการดำเนินนโยบายขยายตัวของจีน น่าจะมีผลกระทบต่อไทยอยู่บ้าง ซึ่งรัฐบาลจีนจะต้องลดบทบาทของเครื่องมือภาครัฐอย่างเหมาะสม และประเทศไทยควรต้องเร่งส่งอุปสงค์ภายในประเทศใหม่มากขึ้น

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง