เนื้อหาวันที่ : 2010-07-15 12:21:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1352 views

คลัง เผย 9 เดือนแรกปีงบ 53 เก็บรายได้ทะลุเป้ากว่า 2.4 แสนล้าน

"สาธิต" เผยเดือนมิ.ย. รัฐเก็บรายได้เกินเป้าเกือบ 3 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือนแรกปีงบประมาณ 2553 เก็บรายได้ทะลุเป้ากว่า 2.4 แสนล้านบาท ชี้เป็นผลมาจากเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง

"สาธิต" เผยเดือนมิ.ย. รัฐเก็บรายได้เกินเป้าเกือบ 3 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือนแรกปีงบประมาณ 2553 เก็บรายได้ทะลุเป้ากว่า 2.4 แสนล้านบาท ชี้เป็นผลมาจากเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง

.

.

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยในเดือนมิถุนายน 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.1 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้ากว่า 2.6 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิสูงกว่าเป้าหมายกว่า 2.4 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 24.8 

.

เดือนมิถุนายน 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 108,965 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 26,658 ล้านบาท หรือร้อยละ 32.4 เป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนผ่านการจัดเก็บภาษีจาก การบริโภคและการนำเข้าที่สูงกว่าประมาณการเป็นจำนวนมาก โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่          

.

ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ และอากรขาเข้า ทั้งนี้ ภาษีรถยนต์ในเดือนนี้จัดเก็บได้เป็นจำนวน ถึง 7,099 ล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ ยังได้รับรายได้พิเศษจากการส่งคืนเงินประเดิมและเงินชดเชย และดอกผลของเงินดังกล่าวจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จำนวน 8,135 ล้านบาท 

.

ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 – มิถุนายน 2553) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,240,065 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 246,177 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.8 สาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมในสังกัดกระทรวงการคลังที่สูงกว่าประมาณการในอัตราที่สูง ได้แก่ กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร และกรมศุลกากร ซึ่งจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายถึง 86,360 85,526 และ 17,756 ล้านบาท หรือร้อยละ 39.3 10.8 และ 32.2 ตามลำดับ รวมทั้งได้รับรายได้จากการยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อีกจำนวน 49,016 ล้านบาท

.

นายสาธิต รังคสิริ สรุปว่า “จากผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 ที่สูงกว่าเป้าหมายจำนวนมากและแนวโน้มการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้กระทรวงการคลังมั่นใจว่า การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2553 นี้จะสูงกว่าประมาณการไม่ต่ำกว่า สองแสนแปดหมื่นล้านบาทอย่างแน่นอน”

.
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนมิถุนายน 2553 และในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำเดือนมิถุนายน 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 108,965 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 26,658 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 – มิถุนายน 2553) จัดเก็บได้ทั้งสิ้น 1,240,065 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ ตามเอกสารงบประมาณ 246,177 ล้านบาท                 

.

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ กระทรวง การคลังคาดว่าการจัดเก็บรายได้ตลอดทั้งปี จะสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ (1,350,000 ล้านบาท) ไม่ต่ำกว่า 2.8 แสนล้านบาท โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

.

1. เดือนมิถุนายน 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 108,965 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 26,658 ล้านบาท หรือร้อยละ 32.4 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 24.7) เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีจากการบริโภคและการนำเข้าได้สูงกว่าประมาณการเป็น จำนวนมาก โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ และอากรขาเข้า สูงกว่าประมาณการ 10,224 3,831 3,571 และ 2,280 ล้านบาท ตามลำดับ 

.

สำหรับสาเหตุที่ทำให้การจัดเก็บรายได้ในเดือนมิถุนายน 2553 ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้วถึงร้อยละ 24.7 นั้น เนื่องจากวันสุดท้ายของการยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภงด.50) และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ในปีที่แล้วตรงกับวันหยุดราชการ ผู้ประกอบการจึงยื่นชำระภาษีในเดือนมิถุนายน 2552 ในขณะที่การยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมของปีนี้เกือบทั้งหมดได้ยื่นชำระภายในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา 

.

รายได้จากส่วนราชการอื่นจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 5,678 ล้านบาท เนื่องจากในเดือนนี้มีรายได้พิเศษจากการส่งคืนเงินประเดิมและเงินชดเชย และดอกผลของเงินดังกล่าวจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จำนวน 8,135 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ดี ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษจากค่าสัมปทานปิโตรเลียม จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 3,400 ล้านบาท  

.

นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 626 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ยังไม่ได้นำส่งรายได้จำนวน 1,105 และ 238 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี

.

2. ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 – มิถุนายน 2553) รัฐบาลจัดเก็บ รายได้สุทธิ 1,240,065 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 246,177 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 21.2) สาเหตุสำคัญสรุปได้ดังนี้

.

1) การขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
2) มูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้
3) การปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิต (น้ำมัน สุรา เบียร์ และยาสูบ)
4) การได้รับเงินจากการยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 49,016 ล้านบาท (เดือนเมษายน 2553) 

.

ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 877,557 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 85,526 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 6.4) ภาษีที่จัดเก็บได้สูงและต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ 

.

- ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 70,646 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.4 เป็นผลจากการบริโภคภายในประเทศและการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากสินค้านำเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ จำนวน 41,330.6 หรือร้อยละ 34.8 และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายใน ประเทศจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ จำนวน 29,314.9 หรือร้อยละ 15.9

.

- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 19,030 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.2 เป็นผลจากภาษีที่จัดเก็บได้จากฐานเงินเดือนและฐานอสังหาริมทรัพย์สูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ

.

- ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 16,124 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.5 เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ 

.

- ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 24,275 ล้านบาท หรือร้อยละ 29.9 ซึ่งเป็นผลจากกำไรสุทธิของบริษัทฯ ที่ลดลง เนื่องจากการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบ และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ รวมทั้งบริษัทมีการขยายการลงทุนเพิ่มมากขึ้นด้วย 

.

2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 306,337 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 86,360 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 48.8) สาเหตุสำคัญมาจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน สุรา เบียร์ และยาสูบ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 ส่งผลให้จัดเก็บภาษีน้ำมัน ภาษียาสูบ ภาษีเบียร์ และสุรา สูงกว่าประมาณการ 41,712 10,156 7,320 และ 2,213 ล้านบาท หรือร้อยละ 56.5 33.8 18.9 และ 7.3 ตามลำดับ    

.

นอกจากนี้ ยังจัดเก็บภาษีรถยนต์ได้สูงกว่าประมาณการ จำนวน 24,009 ล้านบาท หรือร้อยละ 75.8 เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่และโครงการส่งเสริมการขาย ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก 

.

2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บได้รวม 72,861 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 17,756 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 32.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 23.3) เนื่องจากอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 16,498 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.9 เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง        

.

โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม 2552 – พฤษภาคม 2553) มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาท ขยายตัวสูงถึง ร้อยละ 29.4 และ 22.7 ตามลำดับ นอกจากนี้ รายได้อื่นจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการถึง 1,353 ล้านบาท หรือร้อยละ 90.5 เป็นผลจากในเดือนเมษายน 2553 มีรายได้จากค่าปรับคดีจำนวน 897 ล้านบาท 

.

2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 65,558 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,218 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 5.2) เนื่องจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นำส่งรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ดี การนำส่งรายได้และ การจ่ายเงินปันผลของธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กองทุนรวมวายุภักษ์ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสูงกว่าเป้าหมาย

.

2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บได้รวม 125,416 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 63,529 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 102.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 85.1) เนื่องจากกระทรวงการคลังได้รับโอนเงินจากการยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 49,016 ล้านบาท เมื่อเดือนเมษายน 2553 และได้รับรายรับจาก การส่งคืนเงินประเดิมและเงินชดเชย และดอกผลของเงินดังกล่าวจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จำนวน 8,135 ล้านบาท ในเดือนมิถุนายน 2553 

.

2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร 157,581 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งบประมาณ 5,387 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.3 (ต่ำกว่าปีที่แล้วร้อยละ 0.2) ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 112,632 ล้านบาท และการคืนภาษีอื่นๆ 44,949 ล้านบาท โดยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่าประมาณการ 15,368 ล้านบาท แต่การคืนภาษีอื่นๆ สูงกว่าประมาณการ 9,981 ล้านบาท เนื่องจากการคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ค่อนข้างสูง

.

2.7 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้ อปท. ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ โดยตั้งแต่ต้นปีงบประมาณได้มีการจัดสรรให้ภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ อปท. แล้ว 3 งวด จำนวนรวมทั้งสิ้น 32,301 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8,101 ล้านบาท (ร้อยละ 33.5) และสูงกว่าปีที่แล้ว 7,681 ล้านบาท (ร้อยละ 31.2) เนื่องจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าประมาณการและสูงกว่าปีที่แล้ว

.
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร 02 273 9020 ต่อ 3500 และ 3545