เนื้อหาวันที่ : 2010-07-14 11:05:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4363 views

เวียดนาม ฤา จะเป็นเสือเศรษฐกิจตัวจริง ?

เรื่องราวเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม ที่เชื่อกันว่าเป็น "เสือเศรษฐกิจตัวจริง" กว่าจะมาเป็นเวียดนามที่เพรียบพร้อมไปด้วยทรัพยากรที่มีศักยภาพเอื้อต่อการพัฒนาประเทศได้ยาวไกล ต้องเผชิญอุปสรรคอะไรบ้าง และทำอย่างไรประเทศจึงผงาดขึ้นมาได้อย่างแข็งแกร่ง

ท่องโลกเศรษฐกิจ
“เวียดนาม” ฤา จะเป็นเสือเศรษฐกิจตัวจริง ?

.

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ

.

.

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับโอกาสที่ดีจากวารสาร Industrial Technology Review ในการสื่อสารเรื่องราวของวิชาเศรษฐศาสตร์ผ่านคอลัมน์นี้ ผู้เขียนตระหนักดีว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) นั้นเป็นเรื่องไกลตัวพวกเราอยู่พอสมควร อย่างไรก็ตามการศึกษาเศรษฐกิจในมิติที่ซับซ้อนก็คือการศึกษาถึงเรื่องราวของการทำมาหากินรวมไปถึงปากท้องของมนุษย์นั่นเอง

.

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คือ การสื่อสารที่ฉับไวขึ้นตลอดจนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้เองระบบเศรษฐกิจที่ใช้กลไกตลาด (Market Economy) เป็นเครื่องมือจัดสรรทรัพยากรจึงเข้ามาแทนที่ระบบเศรษฐกิจที่รัฐเป็นผู้วางแผนการจัดสรรทรัพยากรจากส่วนกลาง (Central Government Planning)

.

ปรากฏการณ์ดังกล่าวนอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงการล่มสลายของระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการเสรีภาพในการเลือกที่จะบริโภค หรือผลิตสินค้าและบริการที่ตนเองต้องการซึ่งเป็นปรัชญาพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

.

สำหรับซีรีส์ “ท่องโลกเศรษฐกิจ” นี้ ผู้เขียนมีความปรารถนาที่จะนำเสนอเรื่องราวเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ที่น่าสนใจทั้งในแง่ของภูมิหลัง ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ศักยภาพในการพัฒนาประเทศ แนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต ตลอดจนความคิดนักเศรษฐศาสตร์ของประเทศนั้น ๆ โดยประเทศแรกที่ผู้เขียนอยากแนะนำ คือ “เวียดนาม” ครับ

.
เวียดนาม: ฤา จะเป็นเสือเศรษฐกิจตัวจริง

ผู้เขียนเชื่อว่าท่านผู้อ่านย่อมได้ยินกิตติศัพท์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามมาไม่มากก็น้อย และว่ากันว่าเวียดนามเนี่ยแหละที่จะเป็น “เสือเศรษฐกิจตัวจริง” ในอีก 5 ปีข้างหน้า 

.

ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของเวียดนามนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับ ญี่ปุ่น เยอรมัน และเกาหลี ครับ กล่าวคือ เป็นประเทศที่เผชิญกับความพินาศย่อยยับของสงคราม แน่นอนครับว่า ญี่ปุ่นและเยอรมัน คือ ตัวอย่างของผู้แพ้สงครามในอดีตแต่กลับกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่วนเกาหลีนั้นประสบหายนะจากสงครามเกาหลีในช่วงทศวรรษที่ 50 จนทำให้แผ่นดินเกาหลีต้องถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ 

.

สำหรับเวียดนามก็เช่นกันครับ นับตั้งแต่เวียดนามสลัดแอกจากการปกครองของฝรั่งเศสได้ เวียดนามเองก็ต้องเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมือง จนต้องแยกออกเป็นเวียดนามเหนือ เวียดนามใต้ จนกระทั่งเมื่อ “ไซ่ง่อนแตก” เมื่อปี ค.ศ.1975 เวียดนามจึงอยู่ภายใต้การปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อย่างสมบูรณ์ โดยมีจีนเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแล

.

โฮจิมินห์ หรือ ลุงโฮ ของชาวเวียดนาม
ผู้สร้างชาติเวียดนามใหม่ด้วยอุดมการณ์สังคมนิยม

.

ด้วยเหตุนี้เองเวียดนามจึงพัฒนาเศรษฐกิจโดยยึดแนวทางสังคมนิยมแบบจีนเป็นหลัก เนื่องจากมีสภาพสังคมวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน เวียดนามได้ใช้การวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลางหรือ Central Command–based Economy เป็นกลไกการจัดสรรและกระจายทรัพยากร

.

อย่างไรก็ดีดูเหมือนว่าแนวทางดังกล่าวจะไม่ได้ผลสักเท่าไรครับ เพราะยิ่งพัฒนาไป คนเวียดนามยิ่งยากจน จนกระทั่งเมื่อจีนเริ่มหันมาเปิดประเทศราว ๆ ต้นทศวรรษที่ 80 สมัยของ “เติ้ง เสี่ยว ผิง” นั้น เวียดนามก็เริ่มหันซ้ายแลขวาว่าจะปรับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองอย่างไรดี และในที่สุดจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศตามแนวทางใหม่จึงเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1986 ภายใต้แผนการปฏิรูปที่ว่า “โด๋ เหม่ย” ครับ

.
โด๋ เหม่ย (Doi Moi): แผนปฏิรูปเศรษฐกิจของเวียดนาม

โดยปกติแล้วประเทศสังคมนิยมเมื่อเขาจะปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาประเทศนั้น เขาจะต้องประชุมหารือกันในส่วนของพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นพรรคที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ เช่น สหภาพโซเวียต สมัยนาย “มิคาอิล โกบาชอฟ” ก็ได้ปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจโดยนำระบบตลาดมาใช้มากขึ้น ภายใต้แผน “เปเรสทอยก้า” (Perestroika) เช่นเดียวกับจีนยุคของเติ้ง เสี่ยว ผิง ที่พยายามสร้างให้สังคมจีนเป็นสังคม “เสี่ยวคัง” อันแปลว่าสังคมอุดมสมบูรณ์ ผู้คนอยู่ดีกินดี

.

สำหรับเวียดนามก็เช่นกันครับ ในการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ครั้งที่ 6 เมื่อ ปี ค.ศ.1986 พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม หรือ Communist Party of Vietnam ได้ตัดสินใจที่จะยกเลิกแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบมาร์กซิสต์ซึ่งเน้นการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง โดยหันมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดมาเป็นกลไกการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งข้อสรุปของการประชุมใหญ่ครั้งนั้นนำมาซึ่งแผนที่เรียกว่า “โด๋ เหม่ย” (Doi Moi) ซึ่งแปลว่า การปฏิรูป (Renovation) นั่นเองครับ

.

กล่าวกันว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามนั้นได้ยึดจีนเป็นต้นแบบ ด้วยเหตุนี้เองพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจึงพัฒนาเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป แผนโด๋ เหม่ย นั้นได้กำหนดกรอบการบริหารงานเศรษฐกิจไว้ 17 ข้อ ครับ ซึ่งส่วนใหญ่เน้นไปที่การผ่อนคลายกฎระเบียบให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น   

.

อีกทั้งยังมีการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่หวือหวามาก มีการปรับลดค่าเงิน “ดอง” ใหม่ เพื่อเอื้อต่อการทำการค้าการลงทุน ขณะเดียวกันในแง่ของภาคการธนาคารนั้นรัฐบาลเวียดนามก็ยังควบคุมอยู่อย่างใกล้ชิด

.

ทั้งนี้ในช่วงเริ่มต้นของแผนปฏิรูปนั้น รัฐบาลเวียดนามเน้นเป้าหมายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าอัตราการเจริญเติบโต ด้วยเหตุนี้เองในช่วงแรก ๆ อัตราการจำเริญเติบโตเศรษฐกิจจึงอยู่ที่ 2.5%–5% อย่างไรก็ตามดูเหมือนเป้าหมายด้านเสถียรภาพก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะเมื่อเริ่มประกาศใช้แผนปฏิรูปเมื่อปี ค.ศ. 1986 เวียดนามก็ต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อถึง 453.5 % นับว่าสูงที่สุดในประวัติการณ์

.

อย่างไรก็ดีรัฐบาลเวียดนามค่อย ๆ จัดการเรื่องเงินเฟ้อจนค่อย ๆ ลดลงมาเรื่อย ๆ และตัวเลขล่าสุดในปี ค.ศ.2007 เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 6 % นับว่าดีทีเดียวครับ

.

นายโว วัน เคียต (Vo Van Kiet)
อดีตนายกรัฐมนตรีเวียดนามช่วงปี ค.ศ.1991- 1997
ผู้มีส่วนร่างแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ โด๋ เหม่ย

.
วิกฤตการเงินในเอเชีย ปี ค.ศ.1997: จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจของเวียดนาม

เวียดนามเป็นประเทศที่โตเงียบ ๆ มาแบบเรื่อย ๆ ค่อย ๆ รักษาเนื้อรักษาตัว ผู้เขียนดูตัวเลขเศรษฐกิจของเวียดนามในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ.1986-2007) ผู้เขียนอดทึ่งไม่ได้ถึงฝีมือการบริหารเศรษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามซึ่งไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่า “จีน” เลยครับ

.

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1997 อันเป็นปีที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “โรคต้มยำกุ้ง” (Tom Yum King Disease) นั้น หลายประเทศในเอเชียล้วนรับผลกระทบไปตาม ๆ กันโดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็นต้นตอแห่งวิกฤต ดูจะ “ซึมยาว” กว่าเพื่อนแต่สำหรับเวียดนามเองแล้วปี ค.ศ.1997 เป็นปีที่พวกเขามีอัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 8.2% ครับ 

.

แม้ว่าหลังวิกฤตไปแล้วเศรษฐกิจเวียดนามจะโตเฉลี่ยอยู่ประมาณ 4 %-7% แต่ก็นับว่าเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขเศรษฐกิจอื่น ๆ ก็พลอยดีไปด้วยทั้งในแง่ของ “เงินเฟ้อ” ที่สามารถรักษาได้ต่ำกว่า 10% หรือ ตัวเลข “อัตราการว่างงาน” ซึ่งมีเพียง 2% นับว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นบรรยากาศความน่าลงทุนและการทำมาค้าขาย ตลอดจนมองเห็นโอกาสของตลาดที่จะพัฒนาไปได้อีกไกล

.

อาจกล่าวได้ว่าหลังวิกฤตการเงินครั้งนั้น ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเวียดนามเลยก็ว่าได้ครับ เพราะเม็ดเงินลงทุนจากหลายประเทศเริ่มหลั่งไหลไปลงทุนในเวียดนามมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนจากสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส หรือแม้แต่ไทยเอง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจแต่เวียดนามกลับสามารถประคองตัวและแถมยังดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาสร้างงานและผลผลิตให้กับคนเวียดนามได้อีก

.

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา เวียดนามมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ 7.5% ครับ สูงเป็นอันดับสองรองจากจีนเท่านั้น เห็นแล้วก็น่าอิจฉาดีครับ ! และเมื่อปีที่แล้วพวกเขาเริ่มเปิดตลาดหุ้นที่โฮจิมินห์ ซิตี้ (Ho Chi Min Stock Market) เพื่อดึงเงินลงทุนมาลงในตลาดทุน ในด้านการค้านั้นเวียดนามก็เข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก (WTO) เมื่อปี ค.ศ.2006 ด้วยเหตุนี้เองทำให้มีบรรษัทข้ามชาติแห่เข้าไปลงทุนกันยกใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น บิล เกตต์ เจ้าพ่อไมโครซอฟท์ก็ติดอกติดใจจะเข้ามาสร้างฐานการผลิตใหม่ที่เวียดนาม

.

“โรงงานทำรองเท้า” อีกหนึ่งอุตสาหกรรมการผลิตที่เวียดนามได้แย่งฐานการผลิตจากไทยไปแล้ว

.

ผู้เขียนมีตัวเลขที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ ตัวเลขคนจนในเวียดนามครับ ทางการเวียดนามเขารายงานไว้ว่าช่วงต้นแผนปฏิรูปโด๋ เหม่ย นั้นคนจนเวียดนามมีอยู่ประมาณ 51% ครับ พูดง่าย ๆ คือประชากรเกินครึ่งเป็นคนจน “จน” ในที่นี้หมายถึงมีรายได้ต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ต่อวัน อย่างไรก็ตามทุกวันนี้เวียดนามมีคนจนเหลืออยู่เพียง 8% ของประชากรของประเทศ ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็เป็นตัวชี้วัดการพัฒนาที่ดีได้ประการหนึ่ง

.

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เขียนมองว่า “เวียดนาม” อาจจะเผชิญปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ต่างไปจากหลายประเทศที่ประสบ โดยเฉพาะปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในการกระจายรายได้ เพราะแม้จำนวนคนจนจะลดลงก็จริงแต่ก็ไม่มีใครตอบได้ว่าการกระจายรายได้ดีขึ้นหรือเปล่า นอกจากนี้ปัญหา “เศรษฐกิจฟองสบู่” หรือ เศรษฐกิจแบบเก็งกำไรก็จะกลายเป็นปัญหาที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์เวียดนามจะต้องปวดหัวแน่หากไม่สามารถดูแลกฎระเบียบได้ดีพอ ปัญหาเหล่านี้ คือต้นทุนของการพัฒนาที่เวียดนามอาจจะต้องจ่ายต่อไปในอนาคตครับ

.
บทส่งท้าย: เหลียวมองตัวเรา

ผู้เขียนเชื่อว่าเวียดนามมีศักยภาพที่จะพัฒนาประเทศได้ไกลไม่แพ้จีนหรือชาติในเอเชียตะวันออก เหตุผลหนึ่งน่าจะมาจาก ความคล้ายคลึงกันของลักษณะผู้คนที่มีวินัยและอดทน ซึ่งหากย้อนดูปูมหลังทางประวัติศาสตร์นั้นชาติเหล่านี้ล้วนเผชิญความยากลำบากจากภัยธรรมชาติและสงครามด้วยกันทั้งสิ้น

.

แม้ว่าทุกวันนี้เวียดนามยังขาดสาธารณูปโภคบางอย่างมารองรับการพัฒนาแต่ในอนาคตหากพวกเขาได้รับการลงทุนสิ่งต่างๆเหล่านี้มากขึ้น ท่านผู้อ่านคิดว่าเขาจะไปได้ไกลขนาดไหนล่ะครับ นอกจากนี้การพัฒนาระบบการศึกษาอย่างจริงจังซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา “ทุนมนุษย์” นั้นเวียดนามก็ให้ความสำคัญเช่นกัน 

.

ย้อนกลับมามองบ้านเราสิครับ ถึงวันนี้เราคงต้องมานั่งทบทวนกันแล้วว่าการพัฒนาประเทศที่แท้จริงนั้นเราควรจะไปทิศทางไหน เพราะการพัฒนาประเทศควรจะตอบสนองคนกลุ่มใหญ่มากกว่าคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมิใช่หรือครับ ? แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

.
เอกสารประกอบการเขียน

1. William S. Turley and Mark Selden, "Reinventing Vietnamese Socialism: Doi Moi in Comparative Perspective".
2. ภาพประกอบจาก
www.wikipedia.org