เนื้อหาวันที่ : 2010-07-13 10:09:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1235 views

ครม.เศรษฐกิจจี้หน่วยงานเร่งเดินหน้าเมกะโปรเจ็ค

เผยสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินและการลงทุน ยังขยายตัวเป็นบวกแม้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง แต่ยังห่วงวิกฤตหนี้ยุโรปฉุดการส่งออก การลงทุน 6 เดือนแรกเฉียด 2 ล้านล้านบาท

.

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ พร้อมรับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการเงิน - รายงานสถานการณ์การลงทุน 

.

วันนี้ เวลา 08.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ครั้งที่ 8 / 2553 ภายหลังการประชุม นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุม ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

.

ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการเงิน ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอ โดยเศรษฐกิจไทยในช่วง 5 เดือนแรกปี 2553 อัตราการขยายตัวยังเป็นบวกแม้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง โดยภาคท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีในเดือนมิถุนายนและคาดว่าจะกลับสู่ระดับก่อนวิกฤตได้ก่อนสิ้นปี 2553

.

การบริโภคได้รับผลกระทบเล็กน้อยและมีแนวโน้มขยายตัวเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนที่แข็งแกร่ง ทั้งรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวสูง การจ้างงานอยู่ในระดับดี และความเชื่อมั่นผู้ประกอบการและนักลงทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นหลังสถานการณ์คลี่คลาย ส่งผลให้การผลิตและการลงทุนขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการที่สนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน ได้แก่ การต่ออายุมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ 5 มาตรการอีก 6 เดือน

.

การขึ้นเงินเดือนข้าราชการร้อยละ 5 เป็นวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท และมาตรการ "ไทยเที่ยวไทย" ซึ่งเป็นการให้หักลดหย่อนภาษีเงินได้ 15,000 บาท อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี อันเนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของประเทศต่างๆ ที่เริ่มทยอยสิ้นสุดลง การชะลอการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลัง และภาวะวิกฤตหนี้ในยุโรป อาจส่งผลให้การส่งออกไทยชะลอตัวลงบ้าง

.

ภาคการเงินขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ภาคการเงินโดยรวมยังแข็งแกร่ง สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วง ระบบการเงินยังมีสภาพคล่อง ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปล่อยสินเชื่อ การให้สินเชื่อขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อสูงขึ้น แต่ยังอยู่ในเป้าหมาย และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นตามแนวโน้มของเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาคไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก

.

ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์การลงทุนตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเสนอ โดยโครงการลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2553) มีมูลค่าการลงทุน 1.9 ล้านล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.4 คิดเป็นจำนวนโครงการที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.3 (จาก 432 โครงการเป็น 632 โครงการ) และคาดว่าเกิดการจ้างงานรวม 76,656 คน หมวดอุตสาหกรรมที่มีผู้สนใจขอรับส่งเสริมลงทุน อันดับ 1 ได้แก่ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีเงินลงทุนรวม 85,100 ล้านบาท อันดับ 2 ได้แก่

.

อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน มีมูลค่าลงทุนรวม 26,400 ล้านบาท อันดับ 3 ได้แก่ อุตสาหกรรมโลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 23,200 ล้านบาท และ อันดับ 4 ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าการลงทุนรวม 22,800 ล้านบาท โครงการลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมจำแนกได้ดังนี้

.

1. แยกตามขนาดของการลงทุน ส่วนใหญ่เป็นโครงการมูลค่าลงทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท มี 481 โครงการ (ร้อยละ 76 ของโครงการทั้งหมด) คิดเป็นมูลค่าลงทุน 2.5 หมื่นล้านบาท ส่วนโครงการขนาดใหญ่มูลค่าลงทุนเกิน 1 พันล้านบาท มีเพียง 32 โครงการ (ร้อยละ 5) คิดเป็นมูลค่าลงทุน 1.16 หมื่นล้านบาท โดยโครงการสำคัญ คือ กิจการผลิต HDD กิจการผลิตไฟฟ้า 12 โครงการ และกิจการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน มีเงินลงทุนรวมกว่า 8 หมื่นล้านบาท

.

2. แยกตามสัดส่วนผู้ถือหุ้น โครงการที่มีคนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น และโครงการที่มีต่างชาติถือหุ้นทั้งสิ้นมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน (ร้อยละ 37-38 ของโครงการทั้งหมด) ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 25 เป็นโครงการที่มีการร่วมทุนระหว่างคนไทยกับต่างชาติ 

.

โดยญี่ปุ่นขอรับการส่งเสริมสูงที่สุดทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน (ร้อยละ 40 ของโครงการทั้งหมด และร้อยละ 39 ของมูลค่าการลงทุนรวม) และมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเกือบ 2 เท่า โดยโครงการสำคัญได้แก่ โครงการผลิตชิ้นส่วน HDD กิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 10,000 ล้านบาท ประเทศที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากเป็นลำดับรองลงมา คือ สเปน สิงคโปร์ และจีน ตามลำดับ

.

3. แยกตามแหล่งที่ตั้งโครงการ เขตส่งเสริมการลงทุนที่ 2 ยังเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด มีมูลค่าลงทุน 119,300 ล้านบาท หรือร้อยละ 62 ของมูลค่าลงทุนทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในจังหวัดสระบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ส่วนเขตการส่งเสริมการลงทุนที่ 3 เป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนรองลงมา

.

แนวโน้มดังกล่าวแสดงถึงความมั่นใจและความสนใจของนักลงทุนที่ยังมีต่อประเทศไทย อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญที่นักลงทุนต่างชาติกังวล คือ ปัญหากฎระเบียบ ภาษี และการขาดแคลนแรงงาน ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ รับทราบและมอบหมายเพิ่มเติมให้ติดตามสถานการณ์และระบบการส่งเสริมนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ และนำมารายงานต่อ รศก. ในโอกาสต่อไป รวมทั้งเร่งส่งเสริมการลงทุนที่ส่งเสริมเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหาร สุขภาพ พลังงานทดแทน และเศรษฐกิจสร้างสรรค์

.

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาติดตามการดำเนินงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และมีมติเห็นชอบดังนี้

1. ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ตามที่ สศช. เสนอ โดยจำแนกเป็นโครงการลงทุนที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 54 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 786,805.38 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณมาจาก 4 ส่วน ได้แก่ รายได้รัฐวิสาหกิจ รายได้จากงบประมาณ เงินกู้ และการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน แยกเป็นสาขาขนส่ง (ร้อยละ 76.91)

.

พลังงาน (ร้อยละ 12.59) การจัดการทรัพยากรน้ำ (ร้อยละ 7.32) สื่อสาร (ร้อยละ 2.30) และสาธารณูปการ (ร้อยละ 0.89) และโครงการลงทุนที่อยู่ระหว่างการจัดเตรียมโครงการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน จำนวน 40 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 661,467.33 ล้านบาท

.

แยกเป็นสาขาขนส่ง 452,563.07 ล้านบาท พลังงาน 171,558.73 ล้านบาท สื่อสาร 35,327.00 ล้านบาท และสาขาสาธารณูปการ 2,018.53 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมฯ เห็นชอบให้เร่งรัดการดำเนินโครงการลงทุนสำคัญในสาขาขนส่งที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินการโครงการแล้ว ดังนี้

.

1.1 โครงการลงทุนภายใต้แผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (เพิ่มเติม) ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 ที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้ทันที จำนวน 11 รายการ โดยมอบหมายให้ กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ติดตามเร่งรัดการดำเนินการลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดและรายงานความก้าวหน้าผลดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบทุก 6 เดือน นอกจากนี้ได้มอบกระทรวงคมนาคมเร่งรัดการปรับโครงสร้างการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เป็นไปตามมติ ครม. 27 เมษายน 2553

.

1.2 โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาหาข้อยุติเรื่องหน่วยงานเจ้าของโครงการ การเชื่อมต่อเส้นทางกับโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ และการพิจารณารูปแบบการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้โดยเร็วต่อไป โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในครั้งต่อไป

.

1.3 โครงการรถไฟฟ้าเชื่อมโยงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) มอบหมายให้ รฟท. เร่งรัดการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อให้บริการขนส่งผู้โดยสารของโครงการโดยเร็ว เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ภายในสิงหาคม 2553

.

1.4 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต มอบหมายให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด เร่งรัดการก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้ทันความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของปริมาณนักท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากปัจจุบันท่าอากาศยานภูเก็ตมีความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 6.5 ล้านคน/ปี ในขณะที่สิ้นปี 2553 จะมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 6.25 ล้านคน/ปี

.

1.5 โครงการจัดหาเครื่องบิน ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ปี 2553 - 2557 จำนวน 15 ลำ ซึ่งที่ประชุมฯ ตั้งข้อสังเกตว่าในการจัดซื้อเครื่องบินควรพิจารณาให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการขยายศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบินให้เป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการการบินในภูมิภาค

.

1.6 โครงการในสาขาการจัดการทรัพยากรน้ำ วงเงินลงทุนรวม 61,909 ล้านบาท โดยมีโครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการประกวดราคาก่อสร้าง ได้แก่ (1) โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี - พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี (2) โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี (3) โครงการผันน้ำจากจังหวัดจันทบุรีไปยังพื้นที่กักเก็บน้ำจังหวัดระยอง เป็นต้น

.

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบว่าการดำเนินโครงการลงทุนสำคัญที่อยู่ระหว่างการจัดเตรียมโครงการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน ควรให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่เริ่มโครงการ เพื่อให้เกิดความยอมรับของประชาชนในพื้นที่ และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยในส่วนของโครงการสำคัญ ได้แก่

.

1.7 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ให้เร่งรัดการนำเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็ว เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคน/ปี เป็น 60 ล้านคน/ปี ซึ่งในปี 2553 คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 43 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่มีผู้โดยสารจำนวน 40 ล้านคน

.

1.8 โครงการก่อสร้างทางคู่ภายใต้แผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (เพิ่มเติม) ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 เช่น ทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ช่วงมาบกะเบา-นครราชสีมา เป็นต้น เพื่อเพิ่มความจุของทาง สามารถรองรับการขนส่งสินค้าทางรถไฟเพิ่มมากขึ้น

.

1.9 เร่งรัดความเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางขนส่ง Asian Connectivity
1.10 ท่าเรือปากบารา มอบหมายให้ สนข. และ สศช. เร่งรัดการจัดทำรายละเอียดโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งศึกษาผลกระทบโครงการต่อประชาชนในพื้นที่

.

ที่ประชุมฯ ยังได้มอบหมายให้มีการติดตามโครงการไทยเข้มแข็ง (SP2) ที่เน้นการสร้างความเข้มแข็งให้ตำบล เช่น โครงการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และโครงการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Medical Excellent Centre)

.

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ฐานันดร์ นาคยุติ / ถ่ายภาพ
(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ)

.
ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย