เนื้อหาวันที่ : 2010-07-12 14:24:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4173 views

แนะ 3 แนวทาง บริหารจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมมาบตาพุด

"บัณฑูร" ชี้ทิศทางการพัฒนาพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยองวันนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน พร้อมเสนอ 3 แนวทางการบริหารจัดการปัญหา ต้องตั้งเป้าทิศทางการพัฒนาให้ชัด เปิดพื้นที่การเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อม

"บัณฑูร" ชี้ทิศทางการพัฒนาพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยองวันนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน พร้อมเสนอ 3 แนวทางการบริหารจัดการปัญหา ต้องตั้งเป้าทิศทางการพัฒนาให้ชัด เปิดพื้นที่การเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปฏิรูปเครื่องมือบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ทำงานได้จริง  

.

.

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และอดีตโฆษกคณะกรรมการแก้ปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงทิศทางการบริหารจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพพื้นที่มาบตาพุด ในงานประชุมวิชาการ “Thai Professionals Conference 2010 : Green Thailand และ ก้าวต่อไปความร่วมมือระหว่างการอุดมศึกษาไทยและนักวิชาชีพไทยในต่างประเทศ”

.

ซึ่งจัดขึ้นโดย โครงการสมองไหลกลับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ เมื่อเร็วๆนี้ ว่า มาบตาพุดเป็นปรากฏการณ์ของปัญหาที่เปรียบเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมาเท่านั้น  

.

เพราะยังมีปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้อีกมากในแทบทุกภูมิภาคของประเทศไทย ขณะเดียวกันมาบตาพุดยังเป็นตัวสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ โครงสร้างด้านระบบกฎหมายสิ่งแวดล้อมและและรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกัน 

.

“แนวทางในการบริหารจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง ที่อยากนำเสนอมีอยู่ 3 ประเด็นหลักๆ คือ ประเด็นแรก เรื่องทิศทางการพัฒนาพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง ทุกวันนี้เวลาการแก้ปัญหาหรือแม้แต่กลไกตามมาตรา 67 ที่ใช้อยู่  เราดูทีละโครงการที่เข้ามาสู่กระบวนการพิจารณา แต่โจทย์สำคัญที่วันนี้ชาวบ้านมาบตาพุดเริ่มตั้งคำถาม และจะดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า อีก 10 ปีข้างหน้า จังหวัดระยองจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร จะออกมาในทิศทางใด

.

ยกตัวอย่าง ที่ผ่านมามีการจัดเวทีในการพูดคุยกัน และมีข้อเสนอจากคนในพื้นที่ถึงทิศทางการพัฒนาพื้นที่มาบตาพุดออกเป็นหลายแนวทาง เช่น แนวทางแรก ต้องหยุดการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม แนวทางที่สอง คือ ยินยอมให้เพิ่มอีก 76 โครงการแล้วหยุดขยาย แนวทางที่สาม สามารถเพิ่มขยายการพัฒนาอุตสาหกรรมได้ต่อไป แต่ต้องเป็นโครงการที่ผ่านกฎหมายและผ่านการอนุมัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ           

.

อีกทั้งระยะหลังเริ่มมีบางความคิดเสนอว่า มีการขยายอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่อไปได้ แต่ควรเป็นอุตสาหกรรมด้านการเกษตร หรือด้านพลังงานทางเลือก เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ยังคงเป็นปัญหาที่ถกเถียงกัน ไม่มีกรรมการชุดใดที่จับโจทย์เรื่องนี้มาวิเคราะห์อย่างจริงจังว่าแต่ละทางเลือกมีข้อดี ข้อเสีย หรือข้อจำกัดอย่างไร  ศักยภาพในการรองรับมลพิษทางอากาศที่มาบตาพุดเป็นอย่างไร ทางเลือกไหนดีกว่ากัน” 

.

นายบัณฑูร กล่าวว่า ประเด็นที่สอง คือ การเปิดและขยายพื้นที่การเมืองด้านสิ่งแวดล้อม สืบเนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์ก่อให้เกิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่  ระบอบเสรีประชาธิปไตย และกระแสทางด้านสิ่งแวดล้อมโลก ส่งผลให้เกิดแรงกดดันทางด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยระบอบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ที่เกิดขึ้น ทำให้มีการถ่ายโอนอำนาจสู่ตลาด ทั้งการลงทุนข้ามชาติ ข้อตกลงระหว่างประเทศ อาทิ WTO FTA ที่อาจมีผลให้อำนาจรัฐลดลง

.

ส่วนกระแสระบอบของเสรีประชาธิปไตย เห็นได้ชัดจากกรณีมาบตาพุด ซึ่งมีพลเมืองที่ตื่นตัวมากในทุกพื้นที่ เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นอีกกลไกที่เข้ามาตรวจสอบมากกว่าที่รัฐจะสามารถตัดสินใจได้โดยลำพัง ด้านกระแสสิ่งแวดล้อมโลก ที่เข้ามาในกระบวนการมาตรา 67 เรื่องมาบตาพุดโดยตรง          

.

อาทิ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment : HIA ) หรือองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กรีนพีซ ซึ่งถ้าไม่มีการปรับเรื่องพื้นที่ทางการเมือง เรื่องสิ่งแวดล้อม ปรากฏการณ์ตรงนี้ก็ไม่สามารถลุล่วงไปได้ 

.

“ทุกวันนี้ในพื้นที่ จะเห็นว่ามีผู้เล่นหลายระดับ ทั้งหน่วยงานส่วนกลาง เช่น คณะกรรมการ 4 ฝ่าย คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หน่วยงานในพื้นที่ เช่น คณะกรรมการพัฒนาจังหวัด นิคมอุตสาหกรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีองค์กรอิสระ รวมทั้งยังมีเครือข่ายสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออก กรีนพีซ เป็นต้น         

.

ดังนั้นภายใต้กลไกที่มีผู้เล่นมากเช่นนี้ จึงอยากเสนอแนวคิด “การบริหารปกครองหลายระดับ (Multi level governance)” ในการนำไปปรับใช้ในออกแบบพัฒนา อาทิ โครงสร้างองค์กรบริหารจัดการ เพื่อเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้เครือข่ายทุกระดับได้เดินหน้าทำหน้าที่ของตนเองต่อไปได้  

.

ทำอย่างไรให้ทุกหน่วยงานทำงานเชื่อมโยงกัน มีกระบวนการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจร่วมกัน อีกทั้งระบบการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ  ต้องไม่ใช่แค่มีเครื่องมือวัดซึ่งตั้งอยู่ตามสถานีต่างๆ แต่ทุกภาคส่วนต้องเข้าไปทำงานเชื่อมประสานกัน ตรวจสอบซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความไว้ใจว่าข้อมูลที่ออกมาเชื่อถือได้มากที่สุด”

.

นายบัณฑูร กล่าวว่า สำหรับประเด็นสุดท้าย คือ เครื่องมือเพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สิ่งสำคัญคือต้องมีการปรับปรุงเครื่องมือที่มีอยู่เดิม อาทิ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ซึ่งมีการใช้กันมากว่า 20 ปีแล้ว แต่กลับยังมีปัญหาเชิงระบบอยู่มาก ทั้งปัญหาในเชิงหลักการ การจัดทำ การพิจารณา และการติดตาม ซึ่งมาบตาพุดเป็นพื้นที่ตัวอย่างที่สะท้อนชัดว่า หลายโครงการที่ได้รับการอนุมัติ ไม่ได้ดำเนินการและปฏิบัติตามกระบวนการที่วางไว้อย่างเคร่งครัด          

.

นอกจากนี้ ยังต้องมีการพิจารณาเครื่องมือใหม่  เช่น การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์(strategic environment Assessment : SEA) เพื่อการวิเคราะห์ คาดการณ์ และประเมินทางเลือกในเชิงนโยบาย นอกจากนี้ ก็มีเครื่องมือทางด้านกฎหมาย เช่น กลไกยุติข้อพิพาท เครื่องมือทางด้านเศรษฐศาสตร์ เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อม กองทุนประกันความเสียหาย เป็นต้น

.

อย่างไรก็ดี ถ้าหากวันนี้เราไม่สามารถนำบทเรียนจากมาบตาพุด มาเป็นโจทย์ในการหาทิศทางการแก้ปัญหาในระยะยาวได้ เชื่อว่าในอนาคตย่อมเกิดปรากฏการณ์มาบตาพุดสอง มาบตาพุดสามในพื้นที่อื่นๆ อย่างแน่นอน นายบัณฑูร กล่าวทิ้งท้าย