เนื้อหาวันที่ : 2010-07-12 13:28:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 568 views

บีโอไอ นำนักธุรกิจไทยลุย "เว้-ดานัง" เล็งขยายฐานลงทุน

บีโอไอ จัดคณะนักธุรกิจสิ่งทอ เกษตรแปรรูปไทย เยือน นครเว้และดานัง ประเทศเวียดนาม ชูศักยภาพเมืองท่ากระจายสินค้าสำคัญ หวังดันเป็นฐานรองรับการผลิตแห่งใหม่ของกลุ่มผู้ประกอบการไทย 

.

นางวาสนา มุทุตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือการลงทุนต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ( บีโอไอ ) เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 – 31 กรกฎาคม 2553 นี้ บีโอไอจะนำคณะผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ เกษตรแปรรูป และนักธุรกิจนำเข้าและส่งออกของไทย เดินทางไป นครเว้ และดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม           

.

เพื่อศึกษาโอกาสและสร้างเครือข่ายทางการลงทุนใหม่ พร้อมกับเข้าพบและประชุมร่วมกับกรมวางแผนและการลงทุนของนครเว้และดานัง รวมถึงเข้าพบสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมของดานัง เพื่อหารือถึงแนวทางการลดปัญหาและขั้นตอนการขนส่งสินค้าให้ง่ายต่อการลงทุนของผู้ประกอบการไทย 

.

“กิจกรรมในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะได้ศึกษาข้อมูลและโอกาสการเข้าไปเปิดตลาดการลงทุน หรือหาแหล่งสร้างฐานการผลิตในประเทศเวียดนาม ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสให้กับสินค้าไทย รวมถึงสร้างช่องทางกระจายสินค้าสู่นครอื่น ๆ ของเวียดนามในอนาคต”นางวาสนา กล่าว

.

นางวาสนา กล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้บริโภคเวียดนามยอมรับในคุณภาพของสินค้าไทยว่าเป็นสินค้าคุณภาพ เห็นได้จากการเปิดตลาดซื้อขายสินค้าตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา มีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะนครเว้และดานัง ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพ แต่ปัจจุบันมีการลงทุนไม่มากนัก โดยดานัง เป็นเมืองท่าหรือศูนย์กลางกระจายสินค้าตอนกลางของเวียดนาม มีความชัดเจนที่เน้นส่งเสริมการลงทุนในกิจการไฮเทคโนโลยี และกิจการลงทุนที่นำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก 

.

ซึ่งจะมีการยกเว้นภาษีรายได้ให้แก่ผู้ลงทุน จึงนับเป็นอีกเมืองที่จะเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยที่มีศักยภาพด้านดังกล่าวอยู่แล้ว จะได้เข้าไปขยายการลงทุนได้เพิ่มขึ้น หลังจากในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนส่วนใหญ่จะเข้าไปลงทุนเฉพาะที่นครโฮจิมินห์ ฮานอย ด่องไน และบินห์เยือง เป็นต้น 

.

ทั้งนี้ในปัจจุบันเวียดนามเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิต ทั้งในส่วนแรงงานที่มีจำนวนมาก และอัตราค่าจ้างแรงงานไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ในขณะเดียวกันทักษะด้านแรงงานก็มีความสามารถเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตอาจใกล้เคียงกับไทย เพราะแรงงานเวียดนามมีคุณสมบัติ รักการเรียน และเรียนรู้ได้เร็ว

.

จึงทำให้มีนักลงทุนรายใหญ่ของไทยเริ่มย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามแล้วจำนวนมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานเป็นหลัก (Labor-intensive) อาทิ อุตสาหกรรมรองเท้าและสิ่งทอ เป็นต้น