1. อุตสาหกรรมสุดคึกลุ้นโต 16% |
- ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.ปรับตัวเลขประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) และผลิตภัณฑ์มวลรวมในภาคอุตสาหกรรมปีนี้ใหม่ คาดว่า ทั้งปี MPI จะโต 15 - 16% และจีดีพีอุตสาหกรรมจะขายตัว 12 - 13% สำหรับเหตุผลที่ปรับตัวเลขใหม่เพราะ 6 เดือนที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวค่อนข้างมากแม้จะมีปัญหาทางการเมือง แต่จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศในเอเชียและประเทศในกลุ่มตลาดใหม่ขยายตัวถึง 40% ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกของไทยสูงมาก |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของไทยในช่วง 5 เดือนแรกปี 53 ขยายตัวร้อยละ 26.4 ต่อปี โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวดี ได้แก่ ยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 53 ปริมาณการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบขยายตัวสูงถึงร้อยละ 68.4 ต่อปี ชี้ให้เห็นถึงการวางแผนการผลิตจากคำสั่งซื้อที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง |
. |
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 94.7 ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 99.3 จากความไม่สงบทางการเมือง และเศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน อย่างไรก็ตาม สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 53 จะขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 5.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 5.0 - 6.0 ต่อปี) โดยมีภาคการส่งออกและอุตสาหกรรมเป็นเครื่องยนต์หลักในการผลักดันเศรษฐกิจไทย |
. |
2. กูรูฟันธงดอกเบี้ยนโยบาย ( RP 1day) สิ้นปี 53 แตะระดับร้อยละ 2.0 |
- นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี จากธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 14 ก.ค. นี้คาดว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 ก่อนจะมีการปรับขึ้นในการประชุมที่เหลืออีก 3 ครั้ง โดยขึ้นครั้งละร้อยละ 0.25 ทำให้ดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีจะอยู่ที่ร้อยละ 2.0 |
. |
ในขณะที่ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) คาดว่า กนง. จะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.50 และสิ้นปีมีโอกาสที่อยู่ที่ร้อยละ 1.75 - 2.0 |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จาก เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปี 53 ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 12.0 ต่อปี และจากเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจด้านต่างๆใน 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ปี 53 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการบริโภค และการส่งออก จึงมีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มสูงขึ้น |
. |
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงมีปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ได้แก่สถานการณ์การเมืองในประเทศ และปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศยุโรป จึงทำให้การปรับเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ คาดว่า ทั้งปี 53 อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP 1-day) จะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.25 - 0.50 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.25 - 1.75 ต่อปี |
. |
3. จีนจัดอันดับเครดิตสหรัฐฯ เสี่ยงหนี้เน่า |
- ต้ากงอินเตอร์เนชันแนล เครดิตเรตติ้ง บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางเครดิตของจีน ออกรายงานการจัดอันดับรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลก 50 ประเทศเป็นฉบับแรกระบุว่า สหรัฐฯ มีความเสี่ยงทางเครดิตย่ำแย่กว่าจีนสวนทางกับการคาดการณ์ของสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ และฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัทจัดอันดับเครดิตของโลกตะวันตกที่ให้เครดิตสหรัฐฯ ในระดับสูงสุดที่มี ความปลอดภัยที่สุดในโลก |
. |
ต้ากงได้จัดอันดับเครดิตของรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ในระดับต่ำกว่าจีน และต่ำกว่า 11 ประเทศชั้นนำของโลก ทั้งสวิตเซอร์แลนด์และออสเตรเลีย โดยให้อันดับเครดิตของสหรัฐฯ ต่อการชำระหนี้อยู่ที่ AA และคาดการณ์อนาคตติดลบซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าที่บริษัทเครดิตของตะวันตกที่ ให้ไว้ในระดับสูงสุดที่ AAA |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของโลกที่ผ่านมามีสาเหตุสำคัญประการหนึ่งจากการที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือไม่สามารถประเมินความเสี่ยงของอนุพันธ์ทางการเงินในสหรัฐฯ ได้อย่างเหมาะสม ทำให้หลายฝ่ายมองว่าบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือควรได้รับการตรวจสอบและควบคุมด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ การที่บริษัทจีนประกาศผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศต่างๆ ถือเป็นการกระตุ้นให้บริษัทจัดอันดับทั่วโลกตระหนักถึงการประเมินความเสี่ยงอย่างครอบคลุมและระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |