เนื้อหาวันที่ : 2010-07-12 08:49:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1922 views

การลงทุนครึ่งปีแรกโตทั่วหน้า เงินลงทุนพุ่งเฉียด 2 แสนล้าน

การลงทุนครึ่งปี 2553 ขยายตัวทุกกลุ่ม เงินลงทุนเฉียด 2 แสนล้าน บีโอไอเผย ยังมีโครงการลงทุนจ่อคิวยื่นขอลงทุนอีก 9 หมื่นล้านบาท

บีโอไอเผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนช่วงครึ่งปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มอุตสาหกรรม จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.3 และมีมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 192,400 ล้านบาท

.

ส่วนการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศนักลงทุนจากญี่ปุ่น สเปน สิงคโปร์ และจีน เดินหน้าขยายการลงทุนในไทย เลขาธิการบีโอไอเผย ยังมีโครงการลงทุนจำนวนมากที่เตรียมยื่นขอรับส่งเสริมอีกประมาณ 90,000 ล้านบาท

.

นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ

.

นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยถึงภาวะ การลงทุนในช่วงครึ่งปี 2553 (ม.ค. – มิ.ย.53) ว่า มีโครงการลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 632 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.3 เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปี 2552 ซึ่งมีจำนวน 432 โครงการ ส่วนมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 192,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ซึ่งมีมูลค่า 179,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อศักยภาพการเป็นแหล่งลงทุนของประเทศไทย 

.

“ จำนวนโครงการที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 มีอัตราเฉลี่ยเดือนละ 105 โครงการ ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยรายเดือนของปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ 72 โครงการต่อเดือน แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ยังไม่ส่งผลกระทบที่ชัดเจนต่อการลงทุนในระยะนี้ ” เลขาธิการบีโอไอกล่าว 

.

ทั้งนี้ สถิติการขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งหมด โดยกลุ่มอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภคยื่นขอรับส่งเสริมมากที่สุด มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 85,100 ล้านบาท มีโครงการที่สำคัญ ได้แก่โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ เชื้อเพลิงชีวมวล พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ 

.

อันดับที่สองคือ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน มีมูลค่าลงทุนรวม 26,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกว่า 6 เท่า เพราะมีโครงการลงทุนผลิตเหล็กรีดร้อน มูลค่าเงินลงทุนกว่า 22,000 ล้านบาท อันดับสามคือ อุตสาหกรรมโลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 23,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 85 โครงการสำคัญ ได้แก่ กิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และยางรถยนต์ รวม 20 โครงการ 

.

อันดับสี่อุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าการลงทุนรวม 22,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 55 มีโครงการลงทุนที่สำคัญได้แก่ กิจการผลิตน้ำมันพืช กิจการผลิตอาหารสัตว์ และกิจการอบพืชไซโล 

.

ส่วนอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษและพลาสติก อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมเบา ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีมูลค่าเงินลงทุน 16,600 ล้านบาท 13,700 ล้านบาท และ 4,700 ล้านบาท ตามลำดับ 

.

“จากกิจกรรมชักจูงการลงทุนและติดตามนักลงทุนอย่างใกล้ชิด นักลงทุนรายเดิมยังมีแผนที่จะขยายการลงทุนในไทย รวมทั้งรายใหม่ที่ยังไม่เคยมีการลงทุนคาดว่าจะมีโครงการยื่นขอส่งเสริมในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีมูลค่าเงินลงทุนอีกประมาณ 90,000 ล้านบาท ” นางอรรชกากล่าว 

.

สำหรับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI (Foreign Direct Investment) ที่ยื่นขอส่งเสริม การลงทุนในช่วงครึ่งปีนี้ พบว่ามีจำนวน 375 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 98,332 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 96 ซึ่งมีมูลค่า 49,980 ล้านบาท โดยปัจจัยหลักมาจากการที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และนักลงทุนต่างชาติยังเชื่อมั่นในประเทศไทย 

.

ทั้งนี้ นักลงทุนจากญี่ปุ่นยังคงเป็นนักลงทุนที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด 150 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 38,638 ล้านบาท ขยายตัวเกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบกับมูลค่าเงินลงทุนของญี่ปุ่นในช่วงเดียวกันปี 2552 โดยโครงการขนาดใหญ่จากญี่ปุ่นที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนได้แก่ กิจการผลิตชิ้นส่วนฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ และกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ รองลงมาคือการลงทุนจากสเปน มีมูลค่า 22,000 ล้านบาท อันดับสามคือสิงคโปร์ มีมูลค่าเงินลงทุน 8,299 ล้านบาท ตามด้วยการลงทุนจากจีน มีมูลค่าเงินลงทุน 6,980 ล้านบาท