เนื้อหาวันที่ : 2007-02-07 10:43:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6880 views

กรอ.เพิ่มมาตรการเข้มและสร้างจิตสำนึกในการทำงานภาคอุตสาหกรรม

สารเคมีอันตราย ซึ่งหลาย ๆ โรงงานอุตสาหกรรมจำเป็นต้องใช้ในกระบวนการผลิต ปริมาณการขนส่งสารเคมีอันตรายมีมากขึ้น

เรื่องแรกเราจะมาว่ากันด้วยเรื่องของ สารเคมีอันตราย ซึ่งหลาย ๆ โรงงานอุตสาหกรรมจำเป็นต้องใช้ในกระบวนการผลิต สารเคมีประเภทดังกล่าว จึงมีปริมาณการขนส่งสารเคมีอันตรายมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นทางเรือ ทางบก ทางอากาศก็ตาม สาเหตุนี้เองที่ทำให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมไม่สามารถนิ่งนอนใจต่อไปได้ จึงจำเป็นต้องมีการออกมาตรการคุมเข้ม เพื่อป้องกันภัยจากสารเคมีอันตรายที่โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้ ดังต่อไปนี้

..
มาตรการคุมเข้มในการขนส่งสารเคมีอันตราย

ปัจจุบันอุตสาหกรรมหลาย ๆ ประเภท มีการขยายตัวในการใช้สารเคมีอันตรายในกระบวนการผลิตมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น เมื่อมีการขนส่งสารเคมีอันตรายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งโดยทางน้ำ ทางบก ทางอากาศ กรมโรงงานฯ จำเป็นต้องมีมาตรการระมัดระวัง อันว่าด้วยเรื่องการขนส่ง , การเก็บรักษา และตลอดจนการปฏิบัติต่อสินค้าอันตรายเหล่านี้

.
โดยคณะกรรมการวัตถุอันตราย อันประกอบด้วยหลาย ๆ หน่วยงานด้วยกัน เช่น

- กระทรวงมหาดไทย

- กระทรวงกลาโหม ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์และกฏกติกาให้ครบถ้วน ชัดเจน เพื่อให้เหล่านี้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่น

- มาตรฐานและประเภทของรถยนต์ที่ใช้ขนส่งวัตถุอันตราย

- บรรจุภัณฑ์แท็งก์ติดตรึง

- การกำหนดเส้นทาง ความเร็ว ช่วงเวลา

- การตรวจรักษาสภาพรถขนส่ง

- ระเบียบการขนส่ง

- ผู้ที่เกี่ยวข้องในการขนส่ง เช่น ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้มีไว้ในครอบครอง ผู้รับวัตถุอันตราย รวมถึงผู้ขนส่ง

- ตลอดจนคุณสมบัติและหน้าที่ของผู้ขับรถขนส่ง

- การประกันภัยจากอุบัติเหตุในการขนส่งวัตถุอันตราย

.

ทั้งนี้ รวบรวมเป็นสาระสำคัญ คือ เพื่อเป็นการบังคับให้ผู้ครอบครองวัตถุอันตราย เพื่อการขนส่งวัตถุ อันตรายด้วยแท็งก์ยึดติดถาวรกับตัวรถทุกชนิด ต้องมีการทำประกันภัยความเสียหายในการขนส่งวัตถุอันตราย นอกเหนือการทำประกันภัย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เพื่อคุ้มครองการขนส่งวัตถุอันตรายตั้งแต่เริ่มต้นเคลื่อนที่ไปจนถึงจุดหมายปลายทาง ในวงเงินคุ้มครองไม่ต่ำกว่า 30,000,000 บาท / การเกิดอุบัติเหตุหนึ่งครั้ง ซึ่งจะเป็นการควบคุมและป้องกันที่ครบวงจร

.

สำหรับท่านผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมท่านใดสนใจ กรุณาติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือขอรับข้อมูลตรง ได้ที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักควบคุมวัตถุอันตราย โทร. 0-2202-4230 หรือ www.diw.go.th

.

สรุปสถิติอุบัติเหตุในโรงงานอุตสาหกรรมไทย

ความปลอดภัยหากเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่ประมาท เห็นทีประโยคสำคัญนี้ คงใช้ได้ผลกับทุกท่านที่ต้องทำงานภายในโรงงานด้วยความเสี่ยง เพราะบางครั้งโรงงานอุตสาหกรรม อาจยังมีความหละหลวมในการให้ความสำคัญตรวจสอบความปลอดภัยในโรงงานทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นเป็นจำนวนมาก ประกอบกับ เมื่อช่วงฤดูร้อนเวียนมาถึงคราใด การทำงานของเครื่องจักรต่าง ๆ ก็จะมีการทำงานหนักหนาขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทำให้เครื่องจักรเกิดความร้อน และอาจเกิดอาการรวนที่ร้ายไปกว่านั้น อาจทำให้เครื่องจักรระเบิดขึ้นได้ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุภายในโรงงานอุตสาหกรรมเมืองไทยอยู่บ่อยครั้ง

.

ปี 2548 ที่ผ่านมานั้น กรมโรงงานฯ ได้รวบรวมสถิติการเกิดอุบัติเหตุในโรงงานฯ พบว่า จำนวนอุบัติเหตุมีมากถึง 60 ราย ซึ่งอุบัติเหตุที่พบบ่อยที่สุด นั่นคือ การเกิดอัคคีภัย มีมากกว่าถึง 42 รายด้วยกัน และนับรวมมูลค่าความเสียหายด้านทรัพย์สินเป็นจำนวนเงินประมาณ 700,000,000 บาท รองลงมา คือ  สารเคมี   ก๊าซรั่ว  เครื่องจักรหนีบ  กระแทกถังก๊าซ น้ำมันระเบิด  หม้อไอน้ำ เครื่องทำความร้อน  เครื่องจักรระเบิด  อาคารถล่ม  ที่อับอากาศ ซึ่งมีผู้เสียได้รับบาดเจ็บมากถึง 334 ราย เสียชีวิต 5 ราย ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากเครื่องจักร อุปกรณ์ ชำรุดเสื่อมสภาพขาดการบำรุงไม่ปลอดภัย ไฟฟ้าลัดวงจร กระบวนการผลิต การทำงานที่ไม่ปลอดภัย และความประมาทของคนงาน ตามมาเป็นลำดับ

.

โดยกรมโรงงานฯ พบว่า โรงงานที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด คือ  โรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับยาง เช่น การทำงานยางแผ่นจากน้ำยางธรรมชาติ ซึ่งมิใช่การทำสวนยางหรือป่า และมีกำลังเครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า รวมถึง การทำยางแผ่นรมควัน เป็นต้น และโรงงานเกี่ยวกับพลาสติก อาหารแช่แข็ง สิ่งทอ การทำน้ำแข็ง

.

จากการนำข้อมูลมาเปรียบเทียบวิเคราะห์แล้ว พบว่า จำนวนการเกิดอุบัติเหตุในปี 2548 ลดลงจากปี 2547 ที่ผ่านมาเกือบ 50% ซึ่งจากเดิมในปี 2547 มีจำนวนผู้บาดเจ็บ 106 ราย ลดลงเหลือ 60 ราย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเกิดอัคคีภัยที่เป็นอุบัติเหตุมากที่สุด และเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร เครื่องจักร หรือ อุปกรณ์การทำงานชำรุดเสื่อมสภาพ และกระบวนการผลิตหรือการทำงานที่ไม่ปลอดภัย ในด้านอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมาก ๆ นั้นได้แก่ ถังก๊าซ-ถังน้ำมันระเบิด ก๊าซรั่ว รวมทั้งความประมาทของคนงาน สำหรับโรงงานอาหารแช่แข็ง และการทำน้ำแข็งจะเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากก๊าซแอมโมเนียรั่วเสียส่วนใหญ่

.

ดังนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงใคร่ขอความร่วมมือจากท่านผู้ประกอบการโรงงานไทย ตระหนักและใส่ใจถึงความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า เครื่องจักร เพื่อช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุและการสูญเสียอันนำมาทั้งชีวิตและทรัพย์สินอันมีค่า และเพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุในทั้งนี้ กรมโรงงานฯ คงต้องมีความเข้มงวดในการออกใบอนุญาต หรือ การต่ออายุใบอนุญาตสำหรับประเภทโรงงานที่เคยเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม กรมโรงงานฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้คำปรึกษาและแนะนำสำหรับท่านผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยง โดยท่านสามารถติดต่อสอบถามมาได้ที่ Safety Clinic สำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม โทร. 0-2202-4215-7

.
ข่าวฝากเตือนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม
ข่าวกรมโรงงานอุตสาหกรรมฉบับนี้ มีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน ดังนี้

1.หากพบท่านผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม มีเจตนาลักลอบระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงาน โดยไม่ผ่านระบบ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม หรือ ไม่มีใบอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้วออกนอกโรงงาน โปรดแจ้งเบาะแสมายังกรมโรงงานอุตสาหกรรม ท่านมีสิทธิรับเงินสินบนรางวัล จาก ค่าปรับในสัดส่วน 25% โดยคิดค่าปรับสูงสุดอยู่ที่ 200,000 บาท

.

2.ฝากเตือนท่านผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมโรงงานให้ระวังบุคคลแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เรียกเก็บเงิน เช่น โทรศัพท์อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ สามารถช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ได้ โดยขอให้ท่านโอนเงินเข้าบัญชีให้ก่อน เพื่อเป็นค่าดำเนินการในการยุติปัญหาต่าง ๆ ให้ กรมโรงงานฯ จึงฝากเตือนมายังทุก ๆ ท่านผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม หากท่านใดถูกกลุ่มบุคคลที่อ้างตัวว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับท่านได้แล้ว กรุณาแจ้งมายัง กรมโรงงานอุตสาหกรรม สายตรง 0-2354-3300 โดยด่วน

.

สำหรับฉบับหน้า ผู้เขียนจะรวบรวมข้อมูลข่าวสารดี ๆ จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมมาแจ้งแก่ท่านผู้ประกอบในภาคอุตสาหกรรม เพื่อใช้ในการเตรียมตัว และ เพิ่มเติมความรู้เป็นการต่อไป ฉบับนี้ขอขอบพระคุณหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม มา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ  สวัสดีค่ะ