กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนการพัฒนาปาล์มน้ำมันทั้งระบบ เน้นวิจัยพันธุ์เพื่อเพิ่มผลผลิต และสร้างองค์ความรู้ให้เกษตรกร ในการพัฒนาพื้นที่เดิมให้เกิดศักยภาพ |
. |
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมและพัฒนาปาล์มน้ำมันทั้งระบบมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบริหารจัดการเชิงนโยบาย ของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ |
. |
ซึ่งดำเนินงานผ่านแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ปี 2551-2555 ที่มุ่งสู่การพัฒนาและสร้างมูลค่าปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มทั้งระบบอย่างยั่งยืน โดยมี 5 ยุทธศาสตร์รองรับ คือ ยุทธศาสตร์เพิ่มผลิตภาพคุณค่าผลปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์ ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพการตลาด |
. |
ยุทธศาสตร์การใช้พลังงานทดแทน ยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาบุคลากร และยุทธศาสตร์การบริหารและการจัดการ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ข้างต้นมาโดยตลอด ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม |
. |
ซึ่งสิ่งที่ต้องผลักดันอย่างจริงจัง คือ การถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีที่เหมาะสม ให้ชาวสวนปาล์มน้ำมันได้เรียนรู้ทั้งเชิงวิชาการและภาคปฏิบัติ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ปลูกเดิมให้มีประสิทธิภาพ เช่น การส่งเสริมให้ตัดต้นปาล์มเก่าและปลูกปาล์มใหม่ทดแทนเพื่อรักษาระดับผลผลิต และเร่งพัฒนาพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตสูงสุด เนื่องจากการเพิ่มพื้นที่ปลูกแม้จะสามารถทำได้ แต่ยังมีข้อจำกัดหลายประการ |
. |
โดยที่ผ่านมาได้เข้าไปส่งเสริมในพื้นที่นาร้าง พื้นที่ขาดแคลนน้ำ หรือพื้นที่สวนผลไม้ที่ให้ผลไม่คุ้มค่า แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องวางมาตรการจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกปาล์มมากกว่าการปลูกยางพารา ซึ่งเพาะปลูกได้ในสภาพพื้นที่เดียวกัน เช่น การให้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย และการทำข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้า เป็นต้น ส่วนการเปิดเขตการค้าเสรี หรือ FTA คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อปาล์มน้ำมันมากนัก |
. |
โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วางแนวทางสำหรับเรื่องดังกล่าวในระยะยาว ทั้งด้านกฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาการผลิตปาล์มทั้งระบบให้มีศักยภาพแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ อาทิ มาตรฐานปาล์มน้ำมัน แนวทางการประกันรายได้ การจัดตั้งกองทุนปาล์มน้ำมัน และบริหารการนำเข้าโดยควรนำเข้าเฉพาะน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคและกำหนดระยะเวลานำเข้าที่ชัดเจนไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาปาล์มภายในประเทศ |
. |
สำหรับ การส่งออกปาล์มน้ำมันในปี 2552 อยู่ที่ 200,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4,900 ล้านบาท ลดลงจากปี 2551 ที่มีปริมาณการส่งออกอยู่ที่ 500,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 16,800 ล้านบาท ส่วนในปี 2553 นี้ คาดการณ์ว่า จากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง จะส่งผลให้ให้ผลปาล์มมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มค่อนข้างต่ำ เป็นเหตุให้ราคาอาจลดลงด้วย |
. |
ที่มา : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ ผู้เสนอ : กลุ่มวิเคราะห์ข่าวและฐานข้อมูล สำนักโฆษก |
. |
ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย |