เนื้อหาวันที่ : 2010-07-05 09:59:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 618 views

ภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 28 มิ.ย. - 2 ก.ค. 53

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน เม.ย. 53 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,108.98 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.23 ของ GDP ทั้งนี้ หนี้สาธารณะ ลดลงสุทธิจากเดือนก่อนหน้า 15.73 พันล้านบาท โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินลดลงสุทธิ 19.95 พันล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนของหนี้ต่างประเทศที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน

.

จากการเปลี่ยนแปลงสุทธิของหนี้ต่างประเทศในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อแปลงเป็นเงินบาทลดลง โดยรวมแล้ว ภาวะหนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับมั่นคง สะท้อนจากการมีหนี้สาธารณะต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ (ร้อยละ 8.73) และมีหนี้สาธารณะระยะยาวเป็นส่วนใหญ่ (ร้อยละ 93.90)

.

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 15.9 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 23.4 ต่อปี  โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากฐานการคำนวณต่ำในปีก่อน และเมื่อพิจารณาโดยปรับผลของฤดูกาลแล้วพบว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค. 53  หดตัวร้อยละ -5.3 จากเดือนก่อนหน้า  หดตัวลงมากขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -2.0 ต่อเดือน

.

เนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่รุนแรงขึ้นจนต้องมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และเคอร์ฟิวส์ในช่วงวันที่ 19 – 28 พ.ค. 53 เป็นเวลา 10 วัน  ประกอบกับมีการเร่งผลิตไปแล้วในเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์

.

สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน พ.ค. 53 อยู่ที่ร้อยละ 64.0 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 57.9 โดยหากปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าอยู่ที่ร้อยละ  62.9 ของกำลังการผลิตรวม ลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 63.2 ของกำลังการผลิตรวม ผลจากการชะลอการผลิตลงในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

.

ยอดคงค้างสินเชื่อเดือน พ.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.3 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.0 ต่อปี หรือขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว (%mom_sa) โดยมีสาเหตมาจากการขยายตัวเร่งขึ้นของสินเชื่อผู้บริโภค โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากการขยายเวลามาตรการลดภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายอสังหาริมทรัพย์เหลือร้อยละ 0.1 จากเดิมที่จะหมดอายุในเดือน มี.ค. 53 เป็นเดือน พ.ค. 53 และเลื่อนไปอีกครั้งเป็นเดือน มิ.ย. 53

.

ในขณะที่ยอดคงค้างเงินฝากในเดือน พ.ค. 53 ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 6.9 ต่อปี จากการขยายตัวของเงินฝากภาคธุรกิจ และจากการออกผลิตภัณฑ์พิเศษของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเพื่อรองรับการออกพันธบัตรไทยเข้มแข็งในเดือน มิ.ย. 53 และเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลัง

.

ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน พ.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 19.4 ต่อปี และปริมาณจำหน่ายเหล็กภายในประเทศหดตัวลดลงที่ร้อยละ -2.4 ต่อปี  โดยการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นมากตามการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และอาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกรุงเทพฯ 

.

ในขณะที่ปริมาณจำหน่ายเหล็กภายในประเทศที่ลดลงมีสาเหตุสำคัญมาจากฐานคำนวณที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยยอดจำหน่ายเหล็กเส้น เหล็กลวด และท่อเหล็ก หดตัวลงที่ร้อยละ -4.9 -4.2 และ -2.5 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ การขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ดังกล่าวสะท้อนถึงการเริ่มฟื้นตัวของการลงทุนภายในประเทศ

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง