นับตั้งแต่มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. หรือ กลุ่มคนเสื้อแดง ดูเหมือนว่ากระแสของคำว่า สงครามกลางเมือง จะอยู่ในความสนใจของคนส่วนใหญ่ ไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้นนะครับ หากแต่นานาชาติต่างก็จับตาดูความขัดแย้งครั้งนี้ของประเทศเราว่าจะจบลงอย่างไร บทความนี้จะพาไปรู้จักเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาเรื่องสงครามกลางเมือง
The 21st Century Economy |
. |
วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ |
. |
นับตั้งแต่มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. หรือ กลุ่มคนเสื้อแดง ดูเหมือนว่ากระแสของคำว่า “สงครามกลางเมือง” จะอยู่ในความสนใจของคนส่วนใหญ่ ไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้นนะครับ หากแต่นานาชาติต่างก็จับตาดูความขัดแย้งครั้งนี้ของประเทศเราว่าจะจบลงอย่างไร |
. |
สำหรับซีรี่ส์ The 21st Century Economy ฉบับนี้ ผู้เขียนจะพาไปรู้จักเศรษฐศาสตร์แขนงหนึ่งที่ว่าด้วยการศึกษาเรื่องสงครามกลางเมืองล้วน ๆ เลยครับ ซึ่งหากเราทำความเข้าใจแนวคิดดังกล่าวได้ชัดเจนแล้ว เราจะรู้ว่าแท้จริงแล้วสาเหตุของการเกิดสงครามกลางเมืองนั้นมีมากกว่าความขัดแย้งระหว่าง “ไพร่” กับ “อำมาตย์” นะครับพี่น้อง |
. |
เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยสงครามกลางเมือง (Economics of Civil War) |
โดยทั่วไปแล้วนิยามของ “สงครามกลางเมือง” นั้น หมายถึง สงครามที่เกิดขึ้นภายในประเทศหรือรัฐเพียงแห่งเดียว ซึ่งจะต่างกับสงครามปกติโดยทั่วไปที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐ |
. |
ลักษณะสำคัญของสงครามกลางเมืองนั้นเป็นสงครามที่ประชาชนคนชาติเดียวกันต่างหยิบอาวุธขึ้นมาประหัตประหารกันเอง โดยเป้าหมายอยู่ที่การแย่งชิงอำนาจรัฐตลอดจนพยายามผลักดันนโยบายตามที่ตัวเองต้องการ |
. |
ว่ากันว่าสงครามกลางเมืองนั้นสร้างความเสียหายไม่เฉพาะชีวิตมนุษย์เท่านั้นนะครับ หากแต่ยังทำลายเศรษฐกิจประเทศ ตลอดจนความเชื่อมั่นต่าง ๆ ที่อาจจะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูร่วมชั่วอายุคนเลยทีเดียว |
. |
มีการเก็บสถิติไว้ว่า ระยะเวลาเฉลี่ยของการเกิดสงครามกลางเมืองแต่ละครั้งนั้นอยู่ที่ประมาณ 4 ปี นะครับ ซึ่งสงครามกลางเมืองบางประเทศกินเวลายาวนานกว่า 30 ปีเลยทีเดียว เช่น ในอังโกลาที่สงครามกลางเมืองใช้เวลาถึง 28 ปี (1974-2002) หรือ สงครามกลางเมืองในศรีลังการะหว่างกลุ่มกบฎพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (The Liberation Tigers of Tamil Eelam) และรัฐบาลศรีลังกาที่กินเวลาถึง 26 ปี (1983-2009) |
. |
จะว่าไปแล้วกว่าที่จะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมาแต่ละครั้งได้นั้น มันมีพัฒนาการของรูปแบบความขัดแย้งเริ่มตั้งแต่ การรวมกลุ่มของคนที่ไม่พอใจกับการบริหารงานของรัฐบาลแล้วชุมนุมประท้วงโดยสันติก่อน (Protest) ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวมักจะพบเห็นโดยทั่วไปในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย |
. |
หลังจากนั้นหากมีการกระทบกระทั่งหรือปราบปรามผู้ชุมนุม รูปแบบความขัดแย้งจะนำไปสู่การจลาจล (Riot) ครับ ซึ่งเมื่อถึงขั้นนี้แล้ว รัฐบาลมักจะต้องประกาศ “เคอร์ฟิว” เพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามบานปลายมากไปกว่านี้ |
. |
อย่างไรก็ดีแม้ว่ารัฐจะสามารถปราบปรามการจลาจลได้สำเร็จ แต่หากความขัดแย้งยังคงปะทุอยู่ในวงกว้างและต่อเนื่องแล้ว โอกาสที่ผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลจะรวมตัวกันสู้ต่อในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้แบบสงครามกองโจร (Guerrilla Warfare) การต่อสู้แบบก่อการร้าย (Terrorism) และท้ายที่สุดอาจรวบรวมกำลังกลายเป็น “กองกำลังกบฏติดอาวุธ” ซึ่งหากรูปแบบมีพัฒนาการไปถึงขั้นนี้แล้ว “สงครามกลางเมือง” ย่อมพร้อมจะเกิดขึ้นทุกเมื่อครับ |
. |
Sri Lankan Civil War |
. |
สงครามกลางเมืองหรือ Civil War นั้น ยังสามารถพัฒนาไปสู่สงครามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) ซึ่งหากไปถึงขั้นนั้นจริงย่อมสร้างความเสียหายถึงขั้นประเทศล่มสลายเลยก็ว่าได้ ยกตัวอย่างเช่น ช่วงต้นทศวรรษ 90 ที่รวันดาได้เกิดสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างชนเผ่าทุซซี่ (Tussi) และ ฮูตู (Hutu) ทำให้ชาวรวันดาเสียชีวิตไปนับล้านคน |
. |
อนุสรณ์แห่งสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา |
. |
น่าสนใจนะครับว่าสาเหตุสำคัญอะไรที่ทำให้ผู้คนร่วมชาตินั้นขัดแย้งกันชนิดที่ต้องมาเข่นฆ่ากันเอง ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือความแตกต่างตั้งแต่ความเชื่อ ความคิด อุดมการณ์ ศาสนา ชาติพันธุ์ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วเป็นเหตุให้ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อครับ |
. |
อย่างไรก็ตามภายใต้กรอบความคิดของนักเศรษฐศาสตร์กลับมองว่าปัจจัยที่มีส่วนผลักดันให้เกิดสงครามกลางเมืองนั้นมีมากกว่าปัจจัยที่กล่าวไว้ข้างต้นนะครับ ทั้งนี้มีงานวิจัยของธนาคารโลกเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เกิดสงครามกลางเมือง (Causes of Civil War) โดยงานชิ้นนี้เป็นการศึกษาของสองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด คือ Paul Collier และ Anke Hoeffler ครับ |
. |
ทั้ง Collier และ Hoeffler ได้สร้างแบบจำลองขึ้นมาอธิบายปัจจัยที่ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองโดยทั้งสองมองว่าฝ่ายต่อต้านอำนาจรัฐนั้นมีแรงจูงใจที่จะก่อสงครามกลางเมืองก็ต่อเมื่อพวกเขาประเมินแล้วว่าหากชนะสงครามผลประโยชน์ที่ได้รับนั้นจะสูงกว่าต้นทุนจากการต่อต้านสงคราม |
. |
ทั้งนี้การจะก่อสงครามกลางเมืองแต่ละครั้งได้นั้น ฝ่ายต่อต้านจำเป็นต้องมีเงินทุนสนับสนุนนะครับ ซึ่ง Collier และ Hoeffler ได้ยกตัวอย่างกองกำลังติดอาวุธในโคลัมเบียหรือกลุ่ม FARC-EP (The Revolutionary Armed Forces of Colombia – People's Army) ที่ใช้วิธีการหาทุนสนับสนุนการต่อสู้กับรัฐบาลด้วยการค้ายาเสพติดและลักพาตัวเรียกค่าไถ่ ซึ่งประมาณการรายได้ต่อปีแล้วสูงถึง 700 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว |
. |
สัญลักษณ์ของ FARC-EP กลุ่มกองกำลังติดอาวุธในโคลัมเบีย |
. |
จะเห็นได้ว่ากรอบคิดของทั้ง Collier และ Hoeffler ดูจะข้ามพ้นเรื่องของการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ไปแล้วนะครับ เพราะทั้งสองมองว่าการต่อสู้กับอำนาจรัฐในลักษณะที่จับอาวุธขึ้นมาประหัตประหารกันนี้ไม่ต่างอะไรกับการสร้างองค์กรอาชญากรรมหรือพวกมาเฟีย |
. |
ดังนั้นคำถามที่ Collier และ Hoeffler ย้ำอยู่เสมอในงานวิจัยชิ้นนี้ก็คือ ตกลงแล้วแรงจูงใจในการทำสงครามกลางเมืองนั้นมันมีสาเหตุมาจากความโลภ (Greed) หรือ ความขมขื่นคับแค้นใจ (Grievance) กันแน่ ? (What motivates civil wars ? Greed or grievance ?) |
. |
Paul Collier (ขวา) และ Anke Hoeffler (ซ้าย) |
. |
Collier และ Hoeffler ได้พัฒนาตัวแบบทางเศรษฐศาสตร์โดยนำมาทดสอบกับข้อมูลการเกิดสงครามกลางเมืองสมัยใหม่ช่วงระหว่างปี 1965-1999 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นทั้งสิ้น 73 ครั้งทั่วโลก |
. |
ทั้งสองพยายามหาปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมา ซึ่งผลการศึกษาพบว่าปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองได้มากที่สุด คือ รายได้เฉลี่ยของประชากรต่อหัว (GDP per Capita) ครับ |
. |
อย่างไรก็ดี Collier และ Hoeffler เจาะจงลงไปมากกว่านั้น คือ ประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยของประชากรส่วนใหญ่มาจากสินค้าภาคเกษตรขั้นพื้นฐาน (Primary Commodities) มีความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามกลางเมืองมากกว่าประเทศที่ไม่ได้พึ่งพาการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลัก เช่น ในรวันดาที่พึ่งพากาแฟเป็นสินค้าออกสำคัญ หรือ ในคองโกที่สัดส่วนของสินค้าออกภาคเกษตรคิดเป็นร้อยละ 57.9 ของ GDP |
. |
Collier และ Hoeffler พบว่า ระดับการพึ่งพิงสินค้าภาคเกษตรส่งออกร้อยละ 26 ของ GDP มีความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งกันถึงขั้นก่อสงครามกลางเมืองถึงร้อยละ 23 เลยทีเดียวครับ |
. |
ทั้งนี้หากพิจารณาข้อมูลที่ Collier และ Hoeffler นำมาทดสอบจะพบว่าประเทศที่เกิดสงครามกลางเมืองสมัยใหม่นั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นประเทศกำลังพัฒนาทั้งในเอเชีย ลาตินอเมริกา แอฟริกาหรือประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออกที่พึ่งพาสินค้าออกภาคเกษตรเป็นหลัก |
. |
สำหรับปัจจัยต่อมาที่ถูกนำมาวิเคราะห์ในตัวแบบของ Collier และ Hoeffler คือ สภาพภูมิศาสตร์ (Geography) โดยทั้งสองเชื่อว่าหากประเทศใดที่มีสภาพภูมิศาสตร์เอื้อต่อการกระจายตัวของประชากรก็ค่อนข้างเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลจะสามารถควบคุมดูแลความสงบได้หากเกิดความขัดแย้งขึ้นมาจริง ๆ |
. |
Collier และ Hoeffler ยกตัวอย่างภูมิประเทศของคองโก (The Democratic of Republic of the Congo) หรืออดีตประเทศซาอีร์ (Zaire) ซึ่งเกิดสงครามกลางเมืองถึงสามครั้งในรอบสามสิบปี สาเหตุหนึ่งที่ทำให้สงครามกลางเมืองไม่จบลงง่าย ๆ ก็คือ ภูมิประเทศของคองโกเอื้อต่อการกระจายตัวของประชากรซึ่งทำให้รัฐบาลนั้นควบคุมดูแลลำบาก ซึ่งผิดกับสิงคโปร์ซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ สภาพภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยต่อการกระจายตัวของประชากรสักเท่าไร ด้วยเหตุนี้โอกาสที่จะเกิดสงครามกลางเมืองในสิงคโปร์จึงน้อยกว่าในคองโกแน่นอน |
. |
สงครามกลางเมืองในคองโกรอบสอง ช่วงระหว่างปี 1998-2003 |
. |
ปัจจัยประการต่อมาที่ Collier และ Hoeffler นำมาวิเคราะห์ คือ ประวัติศาสตร์การเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในประเทศ ซึ่งทั้งสองพบว่าประเทศที่เคยเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นครั้งหนึ่งแล้วมีโอกาสที่จะเกิดสงครามกลางเมืองรอบใหม่ได้เสมอ ยกตัวอย่างใน อิรัก ที่เกิดสงครามกลางเมืองสามครั้งในรอบยี่สิบห้าปี (1970-1974, 1984-1989, 1990-1994) เช่นเดียวกับกัวเตมาลาที่เกิดสงครามกลางเมืองสามครั้งในสิบห้าปี (1965-1969, 1970-1974, 1975-1979) เป็นต้น |
. |
อย่างไรก็ตาม Collier และ Hoeffler พบว่า ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นตัวเร่งให้เกิดสงครามกลางเมืองได้ง่าย คือ ขนาดของประชากรที่พลัดถิ่น (Diaspora) เข้ามาอยู่ในประเทศ ซึ่งหากมีมากโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งย่อมสูงตามไปด้วย เพราะลักษณะทางวัฒนธรรมของคนพลัดถิ่นนั้นไม่ใช่ว่าจะถูกกลืนกันได้ง่าย ๆ |
. |
Collier และ Hoeffler หยิบปัจจัยด้านโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของประชาชนมาทดสอบดูแล้วพบว่าประเทศที่มีประชากรโดยเฉลี่ยมีการศึกษาไม่สูงมากนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามกลางเมืองได้ง่าย ซึ่งทั้งสองยังพบว่าการศึกษาโดยเฉลี่ยของเด็กผู้ชายที่อยู่ในประเทศที่เกิดสงครามกลางเมือง มีเพียงร้อยละ 45 ที่เรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษา ขณะเดียวกันปัจจัยในเรื่องการขยายตัวของจำนวนประชากรก็มีผลต่อการเกิดสงครามกลางเมืองด้วยเหมือนกัน |
. |
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านชาติพันธุ์น่าจะมีผลต่อการเกิดสงครามกลางเมืองมากที่สุด แต่สิ่งที่ Collier และ Hoeffler พบนั้นกลับตรงกันข้ามครับ กล่าวคือ ยิ่งประเทศมีจำนวนเผ่าพันธุ์แตกต่างกันมาก โอกาสที่จะเกิดสงครามกลางเมืองนั้นไม่ได้ต่างกับประเทศที่ไม่มีความแตกต่างทางด้านเผ่าพันธุ์เลย |
. |
กล่าวโดยสรุป ผลการศึกษาของ Collier และ Hoeffler มีความน่าสนใจตรงที่ทั้งสองไม่ได้ให้น้ำหนักกับสาเหตุของสงครามกลางเมืองว่ามาจากความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ทางการเมือง ศาสนา ชาติพันธุ์หรือแม้แต่ความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคมเท่าใดนัก เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่ถูกนำมาเป็น “ข้ออ้าง” ของความขัดแย้งนี้เป็นเพียงแค่ “วาทกรรม” ที่ไม่มีพลังมากพอ ที่จะอธิบายว่าเพราะเหตุใดคนในชาติถึงต้องหยิบอาวุธมาประหัตประหารกัน |
. |
อย่างไรก็ตามในทัศนะของทั้งสองกลับมองว่าสงครามกลางเมืองมีแรงผลักดันมาจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่รายได้ของประชากรในประเทศส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพิงสินค้าออกจากภาคเกษตรขั้นพื้นฐานซึ่งทำให้พวกเขาก็ยังยากจนอยู่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องปัจจัยการพลัดถิ่นซึ่งทั้งสองเชื่อว่าจะเป็นเชื้อไฟชั้นดีที่ทำให้เกิดการต่อสู้ของคนในชาติ |
. |
ผู้เขียนคิดว่าการที่ประชาชนออกมาชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองนั้นเป็นสิทธิที่น่าเคารพยิ่งในวิถีทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการเรียกร้องแต่ละครั้งย่อมมีต้นทุนที่เกิดขึ้นทั้งในส่วนของผู้ชุมนุมเอง รัฐบาล และสังคม |
. |
ผู้ชุมนุมมีต้นทุนค่าเสียโอกาสในเรื่องของเวลา แทนที่จะเอาเวลาที่ใช้ในการชุมนุมไปทำมาหากินหรือไปพักผ่อน ส่วนรัฐบาลก็มีต้นทุนในเรื่องการป้องกันไม่เกิดความภาวะ “มิคสัญญี” ขึ้นในประเทศ ส่วนสังคมเองก็มีต้นทุนค่าเสียโอกาสในการพัฒนาแทนที่จะสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพกลับต้องมาชะงักงันเพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ชุมนุมกับรัฐบาล |
. |
อย่างที่เรียนไปตอนต้นแล้วนะครับว่ารูปแบบของการชุมนุมมีโอกาสพัฒนาไปสู่การจลาจลและสงครามกลางเมืองในที่สุด หากทั้งรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุมไม่อาจหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ในสังคมได้ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ว่าจะมีใครคนใดคนหนึ่งแพ้หรือชนะหรอกครับ เพราะคนทั้งชาติต่างหากที่จะพ่ายแพ้…แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ |
. |
เอกสารและภาพประกอบการเขียน |
1. Collier, Paul and Anke Hoeffler, (1998) “On the Economic Causes of Civil War”, Oxford Economic Paper, 50,563-573. |