กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศยุทธศาตร์ยกระดับขีดความสามารถอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ สู่เทคโนโลยีแม่พิมพ์ขั้นสูง ตั้งเป้าส่งออกแม่พิมพ์รวม 5 ปี 35,000 ล้าน
กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศยุทธศาตร์ยกระดับขีดความสามารถอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ สู่เทคโนโลยีแม่พิมพ์ขั้นสูง ตั้งเป้าส่งออกแม่พิมพ์รวม 5 ปี 35,000 ล้าน |
. |
. |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานเปิดตัวโครงการยกระดับขีดความสามารถอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ซึ่งเป็นระยะที่ 2 ของการบูรณาการอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ย้ำนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมสนับสนุนเพื่อสร้างให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตของภูมิภาค ขณะที่สถาบันไทย-เยอรมัน ในฐานะผู้ดำเนินโครงการ ฯ ตั้งเป้าโครงการระยะที่ 2 สร้างรายได้จากการส่งออกแม่พิมพ์เข้าประเทศรวม 5 ปี 35,000 ล้านบาท |
. |
“อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนที่มีความสำคัญยิ่งต่อการเจริญเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ทำรายได้เข้าประเทศหลายแสนล้านบาทต่อปี กระทรวงอุตสาหกรรมจึงกำหนดให้อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เป็นสาขาสำคัญที่จะต้องเร่งพัฒนาเพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมหลักของประเทศได้ก้าวสู่การแข่งขันในระดับสูงขึ้นต่อไป” นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว |
. |
นายอดิศร นภาวรานนท์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะผู้แทนประธานคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการในระยะที่ 1 และเป้าหมายของโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ระยะที่ 2 ว่า “ผลของการดำเนินโครงการในระยะที่ 1 สามารถยกระดับศักยภาพในการผลิตแม่พิมพ์ให้มีคุณภาพและความเที่ยงตรงสูงมากขึ้น |
. |
ทำให้การนำเข้าแม่พิมพ์ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 27,073 ล้านบาท ในปี 2548 เหลือ 9,515 ล้านบาท ในปี 2552 และมีการส่งออกแม่พิมพ์เพิ่มขึ้นจาก 4,800 ล้านบาท ในปี 2548 เป็น 6,990 ล้านบาทในปี 2552 ขณะเดียวกันก็ได้มีการพัฒนาบุคลากรและยกระดับทักษะช่างด้านแม่พิมพ์ได้มากกว่า 6,665 คน และเกิดศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านแม่พิมพ์อีกจำนวน 7 ศูนย์ |
. |
โครงการยกระดับขีดความสามารถอุตสาหกรรมแม่พิมพ์สำหรับปีงบประมาณ 2553 – 2557 เป็นก้าวสำคัญที่จะต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ได้กำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายว่า จะยกระดับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ของไทยให้มีศักยภาพในการออกแบบและผลิตแม่พิมพ์ที่มีความซับซ้อนและเที่ยงตรงสูงด้วยคุณภาพเป็นที่ยอมรับ |
. |
สามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของ ด้วยการยกระดับความสามารถของบุคลากรและเทคโนโลยีให้ก้าวทันต่อการพัฒนาทางเทคโนโลยีทัดเทียมประเทศพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับเทคโนโลยีแม่พิมพ์ชั้นสูง |
. |
การยกระดับความสามารถด้านเทคโนโลยีการผลิตแม่พิมพ์ความเที่ยงตรงและความซับซ้อนสูง และการสร้างปัจจัยสนับสนุนที่เอื้อต่อการขยายและพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ให้เข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” |
. |
ในขณะเดียวกัน รศ. ณรงค์ วรงศ์เกรียงไกร ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน กล่าวถึงอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยว่า “อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยมีจุดแข็งที่คนไทยซึ่งเป็นช่างฝีมือที่มีทักษะด้านงานฝีมือดีเยี่ยม เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศและมีอุตสาหกรรมปลายน้ำขนาดใหญ่รองรับทั้งตลาดภายในและภายนอกประเทศ |
. |
ดังนั้น จึงมีโอกาสในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การดำเนินโครงการยกระดับขีดความสามารถอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ตั้งแต่ปี 2553 ถึง 2557 จึงมุ่งที่จะต่อยอดความสำเร็จของโครงการฯ ระยะที่ 1 โดยจะเน้นการยกระดับขีดความสามารถด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างความสามารถในการแข่งขันและการเพิ่มผลิตภาพให้กับผู้ประกอบการ เจาะลึกในกลุ่มแม่พิมพ์ที่มีความซับซ้อนและแม่นยำสูง |
. |
ซึ่งยังเป็นจุดอ่อนของอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย เช่น Progressive Die, Micro Mould, Multi Components Mould โดยเน้นการยกระดับช่างแม่พิมพ์ในระดับกลาง (T3 ถึง T5) ให้มีความสามารถในระดับที่สูงขึ้นในด้านการออกแบบและผลิตแม่พิมพ์ โดยจะมุ่งไปที่แม่พิมพ์ที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูง และเน้นการมีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคลากรโดย สถานประกอบการร่วมกับสถานศึกษาและสถาบันเฉพาะทางในลักษณะไตรภาคี” |
. |
“เป้าหมายสุดท้ายของโครงการฯ คือ ให้อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงานโดยอาศัยกลยุทธ์ 3 ด้านดังนี้ คือ 1) การพัฒนาโดยอาศัยผู้นำที่เข้มแข็งด้วยการให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ช่วยพัฒนาผู้ประกอบการขนาดเล็กที่เป็นเครือข่ายผลิตป้อน 2) การพัฒนาโดยอาศัยโรงงานต้นแบบโดยการพัฒนาผู้ประกอบการเฉพาะรายให้เข้มแข็งเป็นตัวอย่างให้ผู้ประกอบการรายอื่น |
. |
3) การปรับฐานสู่การเป็นมืออาชีพที่มุ่งยกระดับความสามารถทั้งสถานประกอบการและบุคลากรให้มีความเป็นมืออาชีพสูงขึ้น โดยคาดหมายว่าผลจากความสำเร็จของโครงการจะก่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรทั้งภายในโรงงานและร่วมกับสถานศึกษาในระบบทวิภาคี ไม่น้อยกว่า 3,600 คน สร้างตำแหน่งงานใหม่ให้ช่างเทคนิคและวิศวกรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 500 ตำแหน่ง และยกระดับตำแหน่งงานเดิมในอุตสาหกรรมให้สูงขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 1,100 ตำแหน่ง |
. |
ยกระดับสถานประกอบการให้จะสามารถสร้างแม่พิมพ์ที่ซับซ้อนและมีคุณภาพสูงขึ้นจากเดิมจำนวน 50 โรงงาน และกลุ่มคลัสเตอร์มีจำนวนสมาชิกเข้าร่วมเพิ่มขึ้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างรายได้ให้แต่ละกลุ่มไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทต่อปี |
. |
ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มีศักยภาพสามารถผลิตแม่พิมพ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม สามารถลดการนำเข้าแม่พิมพ์ได้ 600 ล้านบาทต่อปีและเพิ่มการส่งออกแม่พิมพ์เฉลี่ยปีละ 450 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างงานและเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตต่อไป รศ. ณรงค์ วรงศ์เกรียงไกร ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน กล่าวถึงเป้าหมายในอนาคต |
. |
ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม |