เนื้อหาวันที่ : 2010-07-01 08:43:44 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1932 views

สนพ. หนุนใช้ก๊าซชีวภาพในโรงงาน

สนพ. จับมือกับ 7 ผู้ประกอบการ ทำ MOU โครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ปีที่ 2 หวังลดนำเข้าพลังงาน ช่วยลดโลกร้อน

สนพ. จับมือกับ 7 ผู้ประกอบการ ทำ MOU โครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ปีที่ 2 หวังลดนำเข้าพลังงาน ช่วยลดโลกร้อน

.

.

นายวีระพล  จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นประธานใน พิธีลงนามสัญญารับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ปี 2552 (ปีที่ 2) เมื่อวันพุธที่ 30 มิถุนายน 2553 ณ ห้องประชุมปิยสวัสดิ์ ชั้น 6 อาคาร สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

.

ซึ่งมีผู้ประกอบการมาลงนามสัญญาในครั้งนี้ทั้งหมด 7 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ปาล์มน้ำมันธรรมชาติ จำกัด บริษัท น้ำมันพืชปทุม จำกัด บริษัท ไทย ควอลิตี้ สตาร์ช จำกัด บริษัท เทพคินโช ฟูดส์ จำกัด บริษัท เอ็น พี ไบโอ พาวเวอร์ จำกัด บริษัท ปาล์มไทยพัฒนา จำกัด บริษัท พรีเมี่ยม ปาล์มออยล์ จำกัด

.

สำหรับโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพนี้ ถือเป็นอีกโครงการหนึ่งที่กระทรวงพลังงานเล็งเห็นถึงศักยภาพของการนำน้ำเสีย ของเสีย หรือขยะอินทรีย์ จากสาขาเศรษฐกิจต่างๆ ได้แก่ อุตสาหกรรม การค้าและพาณิชย์ และชุมชน มาใช้ในการผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าหรือใช้ทดแทนเชื้อเพลิงชนิดอื่น เช่น น้ำมันเตา หรือ LPG

.

นอกจากสถานประกอบการต่างๆ จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแล้ว ประเทศไทยก็สามารถลดการนำเข้าพลังงานลงได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังสามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย

.

ด้วยเหตุนี้ สนพ. จึงได้ผลักดัน พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบและนำก๊าซชีวภาพมาใช้ได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงาน 15 ปี ของกระทรวงพลังงาน โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในการจัดสรรงบประมาณ สำหรับดำเนินโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2551–2555

.

เพื่อส่งเสริมระบบผลิตก๊าซชีวภาพทั้งในฟาร์มปศุสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชน โดยคาดว่าจะสามารถใช้เป็นพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงได้ถึง 760 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,400 ล้านบาท/ปี

.

สำหรับการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพเพื่อจัดการของเสียเศษอาหารจากโรงแรมและสถานประกอบการต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญของโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ 5 ปี และเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพมาจัดการของเสียเศษอาหารในระดับชุมชนตั้งแต่ ต้นทาง ซึ่งในโครงการนำร่องฯ ระยะที่ 1 มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ ไปแล้ว 17 แห่ง สนพ.จึงได้มอบหมายให้ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ เร่งเผยแพร่ผลการดำเนินงานโครงการนำร่องฯ ระยะที่ 1 แก่ผู้สนใจ

.

รวมทั้งเปิดรับสถานประกอบการเพื่อดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 2 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการ ที่ปรึกษาออกแบบระบบก๊าซชีวภาพที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ จะได้มาร่วมกันพัฒนาโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งตนเองและส่วนรวม พร้อมกันนี้ยังสามารถช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศอีกทางหนึ่งด้วย

.

สำหรับในปี 2553 มีเป้าหมายส่งเสริมการจัดทำระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียหรือของเสียในโรงงานอุตสาหกรรม อีกกว่า 74 ราย  มีวงเงินสนับสนุนรวม 660 ล้านบาท โดยจะเปิดรับข้อเสนอขอรับทุนสนับสนุน ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน ถึง 30 กรกฎาคม 2553 นี้

.
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน