ก.อุตฯ ดึงผู้เชี่ยวชาญจาก JICA ร่วมพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมไทยสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กระแสธารแห่งโลกาภิวัฒน์ที่ไหลบ่าถาโถมมายังประเทศไทย ทำให้ต้องมีการปรับรูปเปลี่ยนร่างทุกอย่างให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน หากไม่แล้วย่อมตกกระแสและถูกผลักออกนอกพื้นที่ไปในที่สุด โลกแห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมก็เช่นกัน ที่ปัจจุบันก้าวไปสู่ยุคของอุตสาหกรรมสีเขียว และเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ หากผู้ประกอบการไม่สามารถก้าวข้ามจุดนี้ได้ ย่อมหมายถึงความเพลี่ยงพล้ำต่อโลกแห่งธุรกิจในที่สุด |
. |
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม |
. |
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมถือเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) สูงถึงร้อยละ 70 ฉะนั้น กสอ. จึงได้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ทำความตกลง (MOU) เพื่อเข้าไปให้คำปรึกษาและวินิจฉัยปัญหา และหาแนวทางแก้ไขในเรื่องการบำบัดน้ำเสียในโรงงานที่มาจากกระบวนการผลิต |
. |
โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) เข้ามาให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ในการพัฒนาอย่างแท้จริง เนื่องจากการเข้าไปวินิจฉัยปัญหาและแก้ปัญหาจากสถานที่จริงจะเกิดประสิทธิภาพที่มากกว่า และจะได้ต้นแบบที่ถูกต้องสู่การขยายผลให้กลุ่มผู้ประกอบการรายอื่นๆ ต่อไป |
. |
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการให้คำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมว่า “ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมนับวันยิ่งทวีความรุ่นแรงมากยิ่งขึ้นทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพแวดล้อม คุณภาพชีวิต และความปลอดภัยของประชาชน |
. |
รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งสอดคล้องกับกระแสโลกที่ผู้บริโภคต่างให้ความสำคัญกับการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” |
. |
นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า “เป็นการดีที่ผู้ประกอบการไทยได้ทำงานร่วมกับภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น โดย JICA ได้ส่ง Mr.Toshihiko Kagajo อาสาสมัครอาวุโสญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี เพื่อถ่ายทอดความรู้และเป็นหัวหน้าทีมวินิจฉัยปัญหาและหาทางแก้ปัญหาที่ตรงจุด ซึ่งระยะเวลา 2 ปี (2553 – 2554) ที่ดำเนินการร่วมจะเป็นการยกระดับขีดความสามารถของโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นต้นแบบในการพัฒนาผู้ประกอบการในกลุ่มอื่นๆต่อไป |
. |
โดยเน้นการลงพื้นที่โรงงานเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำด้านเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสีย ด้วยแนวทางการลดการใช้ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) รวมทั้ง การถ่ายทอดความรู้ในการจัดหาเทคโนโลยีการบำบัดนำเสียที่มีความเหมาะสมและราคาย่อมเยาให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม SMEs ของประเทศต่อไป |
. |
สำหรับบริษัทแรกที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ บริษัท เอ็ม ที อลูเม็ท จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตอลูมิเนียมสำหรับอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ งานก่อสร้าง งานสถาปัตยกรรม และเฟอร์นิเจอร์ โดยในขณะนี้คณะที่ปรึกษาและคณะทำงานได้ลงพื้นที่เพื่อเข้ารับทราบปัญหาและข้อเสนอแนะต่าง ๆ แล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนของการให้คำปรึกษาแนะนำ |
. |
รวมทั้งการเตรียมการในด้านการออกแบบ และการวางระบบบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมกับโรงงานตลอดจนการสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักวิชาการให้แก่พนักงานระดับหัวหน้างานและผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับอุตสาหกรรมไทยในแง่การประกันและควบคุมมลภาวะ อันจะส่งผลให้ชุมชนอยู่ร่วมกันกับโรงงานอุตสาหกรรมได้ตามระบบอุตสาหกรรมนิเวศน์ต่อไป |
. |
และนี่คือแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวไปข้างหน้ากับกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ผู้ค้าทั่วโลกให้ความสำคัญ ดังนั้น กระบวนการบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพถือเป็นอีกแนวทางหนึ่ง สำหรับการยกระดับคุณภาพโรงงานให้มีความก้าวหน้า พร้อมผลิตสินค้าที่คุณภาพและรักษาสิ่งแวดล้อมและรักษ์โลกใบนี้ให้คงอยู่ตลอดไป |