เนื้อหาวันที่ : 2010-06-30 09:22:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1173 views

คลัง ชี้เศรษฐกิจไทยปี 53 มีแววปรับตัวดีขึ้น

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยเศรษฐกิจไทยในปี 2553 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 5.5 ต่อปี ได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจไตรมาสแรกที่สูงถึงร้อย 12.0 และเศรษฐกิจโลกฟื้นเร็วกว่าที่คาด

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยเศรษฐกิจไทยในปี 2553 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 5.5 ต่อปี ได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจไตรมาสแรกที่สูงถึงร้อย 12.0 และเศรษฐกิจโลกฟื้นเร็วกว่าที่คาด

.

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

.

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย  ณ เดือนมิถุนายน 2553 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2553 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 5.5 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.0 - 6.0 ต่อปี มากกว่าที่คาดการณ์เดิม ณ เดือนมีนาคมที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 2553 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.0 ต่อปี

.

ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เร็วกว่าที่คาด โดยเฉพาะในประเทศคู่ค้าใหม่ในเอเชีย ที่ส่งผลให้การส่งออกในปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราสูง  นอกจากนั้น การใช้จ่ายภายในประเทศในปี 2553 ทั้งการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำในปีก่อน”

.

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเสริมว่า “ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราสูงถึงร้อยละ 11.9 ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัวดีกว่าที่คาด นอกจากนั้น การใช้จ่ายในประเทศในปี 2553 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนในปี 2553แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองในช่วงที่ผ่านมา

.

แต่คาดว่าจะยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี จากปีก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.1 ต่อปี เนื่องจากการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่อยู่ในระดับสูงตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกและมาตรการประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาล  ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในปี 2553 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 10.2 ต่อปี จากปีก่อนที่หดตัวถึงร้อยละ -12.8 ต่อปี

.

โดยได้แรงสนับสนุนจากยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย โดยการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐในช่วงที่เหลือของปีโดยเฉพาะการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง คาดว่าจะทำให้การลงทุนภาครัฐและการบริโภคภาครัฐในปี 2553 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.1 และ 6.5 ต่อปี ตามลำดับ”

.

ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 จะปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 - 4.0 ต่อปี ตามราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่การต่ออายุมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของรัฐบาลจะช่วยให้แนวโน้มเงินเฟ้อลดลงจากที่คาดการณ์เดิม 

.

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2553 คาดว่ายังคงเกินดุลแต่จะเกินดุลลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ของ GDP เนื่องจากมูลค่านำเข้าสินค้าที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นสูงขึ้นมากจากฐานที่ต่ำในปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 36.6 ต่อปี เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 22.5 ต่อปี”

.

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญในช่วงที่เหลือของปีจากวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปที่อาจส่งต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกในระดับสูง และสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการเมืองในประเทศรวมทั้งปัญหาภัยแล้งที่อาจกระทบให้การใช้จ่ายภาคเอกชนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด 

.

ดังนั้น ภาครัฐจึงยังจำเป็นต้องฟื้นฟูการใช้จ่ายภายในประเทศให้เข้มแข็งขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก และสร้างสมดุลของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ”

.

รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2553

1. ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2553 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.0 — 6.0 ต่อปี) ปรับเพิ่มขึ้นจากที่ประมาณการเดิม ณ เดือนมีนาคมที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวที่ดีมากของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 2553 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.0 ต่อปี

.

ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เร็วกว่าที่คาดของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะคู่ค้าใหม่ในเอเชีย ที่ส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการในปี 2553 จะกลับมาขยายตัวในอัตราสูงที่ร้อยละ 11.9 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 11.4 — 12.4 ต่อปี)

.

นอกจากนั้น การใช้จ่ายภายในประเทศในปี 2553 ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในปี 2553 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 10.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.3 -12.1 ต่อปี) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เร่งตัวขึ้นตามยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศและในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออก

.

เช่น ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ประกอบกับภาคการก่อสร้างที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยสะท้อนจากยอดการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างประเภทปูนและเหล็กที่ฟื้นตัว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 — 4.3 ต่อปี) เนื่องจากการจ้างงานที่ดีขึ้น  

.

ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่ดีขึ้น ตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่สูงขึ้นมากและโครงการประกันรายได้เกษตรกร นอกจากนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนของภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าจะทำให้การลงทุนภาครัฐเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.1 - 6.1 ต่อปี)

.

ขณะที่การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลในช่วงที่เหลือของปี จะช่วยให้การบริโภคภาครัฐในปี 2553 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.9 - 7.1 ต่อปี) ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะกลับมาเร่งตัวขึ้นที่ร้อยละ 21.1 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 20.0 - 22.2 ต่อปี) ตามการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศและการผลิตสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น

.

2. ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 - 4.0 ต่อปี) จากราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่คาดว่าจะสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนอัตราการว่างงานคาดว่าจะลดลงมาอยู่ในระดับปกติที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงาน (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.1- 1.3 ของกำลังแรงงานรวม)

.

ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ 8.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณร้อยละ 2.7 ของ GDP (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.2 - 3.2 ของ GDP)  เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ช่วงคาดการณ์ที่ 4.3 - 6.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เนื่องจากมูลค่าสินค้านำเข้าขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก

.

โดยคาดว่ามูลค่าสินค้านำเข้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 36.6 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 35.0 - 38.2 ต่อปี) ตามการเร่งตัวขึ้นของการใช้จ่ายภายในประเทศและราคาสินค้านำเข้าในตลาดโลก ขณะที่มูลค่าสินค้าส่งออกในปี  2553 จะขยายตัวที่ร้อยละ 22.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 21.5 - 23.5 ต่อปี) ตามการฟื้นตัวของปริมาณการส่งออก และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าส่งออกในตลาดโลก

.

กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจไทยในปี 2553 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวที่ดีมากของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 2553 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เร็วกว่าที่คาดของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่น่าจะส่งผลให้การส่งออกของไทยสูงขึ้น นอกจากนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตที่เร่งตัวขึ้น ภาคการก่อสร้างที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น การจ้างงานที่ดีขึ้น ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่ดีขึ้น ยังจะช่วยให้การใช้จ่ายภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น

.

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมาจากวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปที่อาจส่งต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกในระดับสูง และสถานการณ์การเมืองในประเทศรวมทั้งปัญหาภัยแล้งที่อาจกระทบให้ภาคเอกชนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด  ดังนั้น ภาครัฐยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งให้เป็นไปตามเป้าหมายในช่วงที่เอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

.
ที่มา : สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค  สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง