เนื้อหาวันที่ : 2010-06-29 09:59:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 586 views

ไอซีที เปิดรับฟังความคิดเห็น "กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทย"

นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น“กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทย...มาตรฐานสู่เส้นทางการค้าของโลก” ว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544                         

.

เพื่อรองรับผลทางกฎหมายในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น ได้ส่งผลให้ต้องมีการรองรับสถานะทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้เสมอกับการทำเป็นหนังสือ หรือหลักฐานเป็นหนังสือ การรับรองวิธีการส่งและรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์

.

ตลอดจนการรับฟังพยานหลักฐานที่เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้น่าเชื่อถือ รวมไปถึงการส่งเสริมและสนับสนุนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยให้มีการพัฒนาอย่างสอดคล้องตามแนวทางที่ต่างประเทศให้การยอมรับ

.

“อย่างไรก็ตาม หลังการประกาศใช้ พ.รบ.ฉบับดังกล่าว พบว่า มีปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในหลายๆ ด้าน เช่น การขาดกฎหมายในลำดับรองภายใต้กฎหมายธุรกรรมฯ กฎหมายที่กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงรอให้มีการดำเนินการยกร่างและประกาศใช้เพิ่มเติม ความชัดเจนเกี่ยวกับผลทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์                         

.

การคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีที่เกิดข้อพิพาทในการทำธุรกรรมฯ รวมไปถึงบทบาทของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการผลักดันและส่งเสริมการทำธุรกรรมฯ ภายใต้กฎหมาย และการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ เป็นต้น

.

ซึ่งแม้จะมีการปรับแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ก็มีแนวคิดที่จะปรับปรุงกฎหมายอีกครั้ง เพื่อให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจำเป็นจะต้องมีการวิเคราะห์ปัญหาการบังคับใช้ที่เกิดขึ้นเหล่านั้น เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้มีความเหมาะสม รวมทั้งนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมฯ ของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายธานีรัตน์ กล่าว

.

นอกจากนั้น ยังต้องมีการศึกษาถึงความเหมาะสมในการเข้าร่วมเป็นภาคีและอนุวัติการกฎหมายภายในตามอนุสัญญาว่าด้วยการใช้การติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกสในสัญญาระหว่างประเทศ (e-Contracts Convention) อีกด้วย ถึงแม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะยังไม่ได้มีการลงนามเข้าร่วมในการเป็นภาคีของอนุสัญญาดังกล่าว แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีการพิจารณาถึงความเหมาะสมและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกฎหมายภายใน รวมถึงแนวทางในการปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาฯดังกล่าวด้วย

.

“ดังนั้น สำนักธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงได้จัดการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความจำเป็นในการอนุวัติการและการรับพันธกรณีที่เกิดจากอนุสัญญาว่าด้วยการใช้การติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ในสัญญาระหว่างประเทศ (e-Contracts Convention)

.

การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่เสนอเพื่อปรับปรุงกฎหมายธุรกรรมฯ ให้เกิดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย และการนำข้อเสนอแนะ ตลอดจนความเห็นที่ได้จากการระดมความคิดเห็นไปประกอบข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายธุรกรรมฯ” นายธานีรัตน์ กล่าว

.

สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักของการสัมมนาครั้งนี้ คือ กลุ่มผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายธุรกรรมฯ ในส่วนของภาครัฐ ส่วนของประเด็นในการสัมมนา ประกอบไปด้วยการนำเสนอภาพรวมของการศึกษาทั้งในส่วนของการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายธุรกรรมฯ การอนุวัติการและการรับพันธกรณีที่เกิดจากอนุสัญญา e-Contracts Convention ตลอดจนการเสวนาเพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมายและด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับผู้เข้าร่วมสัมมนา

.

“การสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ถือว่าเป็นแนวทางสำคัญในการระดมความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่จะช่วยให้การปรับแก้กฎหมายสามารถตอบโจทย์การนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสม  และจะเป็นการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด อันจะนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายได้อย่างแท้จริงในทางปฏิบัติต่อไป” นายธานีรัตน์ กล่าว