เนื้อหาวันที่ : 2010-06-28 09:57:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 568 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 28 มิ.ย. 2553

1. ส่งออก - นำเข้า ดันจีดีพีโต 6%

นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สศช. ระบุว่า สศช.เผ้าติดตามภาวะเศรษฐกิจไทยช่วง 1 เดือน หลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมือง พบว่ามี 3 ปัจจัยหลักที่เป็นผลลบต่อเศรษฐกิจ ทั้งจากความไม่สงบภายในประเทศ วิกฤตหนี้สาธารณะของอียู และภาวะภัยแล้งซึ่งอยู่ในภาวะคลี่คลายแล้ว  

.

ขณะที่การส่งออกช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมา ขยายตัว 30 - 40% มีแนวโน้มดีขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่คาดว่ายังจะเติบโตที่ 3% ดังนั้นตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่จะประกาศเดือนส.ค.นี้ สศช.จะปรับเพิ่มประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจทั้งปี 53 อยู่ที่ระดับ 5 - 6% จากเดิมที่ประมาณการว่าจะเติบโตที่ 3 - 4%

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ได้รับแรงส่งจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว     ร้อยละ 12.0 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากการปริมาณการส่งออก ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัวร้อยละ 16.5 ต่อปี โดยการปริมาณการส่งออกสินค้าในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 2 ยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 25.2 ต่อปี

.

ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีความเสี่ยงจากปัญหาในยุโรปและปัญหาการเมืองภายใน ประเทศ ทั้งนี้ สศค. ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 53 จะขยายตัวร้อยละ 4 - 5 ต่อปี อย่างไรก็ตาม สศค. จะแถลงข่าวการปรับตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 53 ในวันพรุ่งนี้ (29 มิ.ย. 53)

.

2. วัสดุราคาก่อสร้างครึ่งปีหลังนิ่งยาว

-  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เปิดเผยว่า ราคาวัสดุก่อสร้างครึ่งปีหลังจะยังไม่ปรับขึ้น แม้ว่าราคาน้ำมันและก๊าซมีความผันผวน เนื่องจากความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างยังมีไม่มากนัก และหากมีการปรับขึ้นนั้น ต้องดูตลาดเป็นหลัก ว่าในช่วงครึ่งหลังของปีมีความต้องการหรือไม่ ในส่วนของวัสดุก่อสร้างและตกแต่งบางประเภทอาจจะปรับสูงขึ้นได้บ้าง ทั้งนี้ปัจจัยที่น่าเป็นห่วงคือภาวะทางการเมือง หากมีความรุนแรงอีกจะกระทบต่อโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างใจกลางเมืองเป็นหลัก

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ในไตรมาสแรกของปี 53 ราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี แล้วมาเร่งขึ้นมากในช่วงเม.ย.-พ.ค.ทำให้ขยายตัวที่ร้อยละ 5.9 ต่อปี ตามสัญญาณการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทั้งนี้ 5 เดือนแรกปี 53 ราคาวัสดุก่อสร้างยังขยายตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้าง ที่มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 52 (ทั้งนี้ การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างในไตรมาสที่ 1 ปี 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.7 ต่อปี)

.

3. เงินเยนอ่อนค่า ภายหลังที่ประชุมจี-20 เสนอให้ญี่ปุ่นลดหนี้สาธารณะ

-  ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินยูโรมาอยู่ที่ระดับ 110.65 เยนต่อยูโร ซึ่งนับเป็นการอ่อนค่าของเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินยูโรเป็นครั้งแรกในรอบสัปดาห์  ภายหลังจากที่ที่ประชุมจี 20 ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เสนอให้ประเทศต่างๆ ปรับลดระดับหนี้สาธารณะลงให้เหลือกึ่งหนึ่งภายในปี 2555  นอกจากนี้ แถลงการณ์ของที่ประชุมจี-20 ยังได้ระบุให้ยุโรปปรับลดระดับหนี้สาธารณะลง ขณะที่เสนอให้สหรัฐฯ คงดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การอ่อนค่าลงของค่าเงินเยนเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลยูโร เป็นผลสะท้อนจากความกังวลจากปัญหาหนี้สาธารณะในญี่ปุ่นต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในระยะต่อไป ซึ่งในปัจจุบันหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 180 ของจีดีพี ซึ่งหากญี่ปุ่นจะต้องปรับลดระดับหนี้สาธารณะลงภายในอีก 2 ปีข้างหน้า ดังเช่นที่ที่ประชุมจี-20 เสนอ อาจจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในอนาคตต้องอาศัยการใช้จ่ายภาครัฐสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง