เนื้อหาวันที่ : 2010-06-24 15:35:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2457 views

เอกชนจับมือสถาบันการเงิน ทุ่มงบพันล้านสร้างทุ่งพลังงานแสงอาทิตย์

ก.พลังงาน ปลื้ม ภาคเอกชนจับมือสถาบันการเงิน เทงบกว่า 1,000 ล้านบาท เปิดตัวโครงการทุ่งพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกในประเทศไทย

ก.พลังงาน ปลื้ม ภาคเอกชนจับมือสถาบันการเงิน เทงบกว่า 1,000 ล้านบาท เปิดตัวโครงการทุ่งพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกในประเทศไทย พร้อมนำร่องกำลังผลิต 6 เมกะวัตต์แรกที่โคราช หวังสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดวิกฤตภาวะโลกร้อนด้วยศักยภาพพลังงานทดแทนไทย

.

.

วันนี้(24มิ.ย.) นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือการลงทุนโครงการโซล่า ฟาร์ม (Solar Farm) ระหว่าง บริษัท โซล่า เพาเวอร์ (โคราช1) จำกัด และ International Finance Corporation, World Bank Group โดยผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน 

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวว่า การลงนามในวันนี้ ฯ เป็นผลมาจากนโยบายและมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของกระทรวงพลังงาน และนับว่าเป็นโครงการทุ่งพลังงานแสงอาทิตย์หรือ โซล่า ฟาร์ม โครงการแรกในประเทศไทย ที่ได้รับความไว้วางใจร่วมลงทุนจาก International Finance Corporation

.

ซึ่งเป็นสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของ ธนาคารโลก และยังเป็นโครงการร่วมลงทุนกับ มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)                   

.

ภายใต้โครงการกองทุนร่วมทุนพลังงานหรือ ESCO Fund พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนเงินกู้ระยะยาวจาก ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีกำลังผลิตขนาด 6 เมกะวัตต์ และตั้งอยู่ที่ตำบลดอนชมพู อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งนับว่าพเป็นโครงการทุ่งพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นต้นแบบให้กับผู้ลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อื่น ๆ ในอนาคต 

.

ทั้งนี้ ในฐานะที่กระทรวงพลังงานได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนโดยผ่านกลไกของ ESCO Fund ดังกล่าว รวมทั้งได้ให้ พพ. ร่วมจัดงานในวันนี้ นับเป็นการแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศในการร่วมกันสร้างความเข้มแข็งด้านพลังงานทดแทนในประเทศไทย           

.

ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการผลักดันนโยบายพลังงานของประเทศให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้นอกจากจะเป็นการสร้างความมั่นคงและเข้มแข็งด้านพลังงานมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังถือเป็นทางออกหลักของวิกฤตโลกร้อนที่เป็นปัญหาทั่วโลกที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้ 

.

นายธรรมยศ ศรีช่วย รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กล่าวว่า การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยผู้ลงทุนภาคเอกชนเพื่อขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ สายส่งนั้น ปัจจุบันมีภาคเอกชนสนใจจะลงทุนเป็นจำนวนมาก และ พพ.อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงค่าแอดเดอร์ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนการลงทุนให้เป็นไปตามแผนแม่บทการพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี

.

โดยเป็นการลงทุนระบบผลิตไฟฟ้าแบบทุ่งพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ ผสมผสานกับระบบผลิตไฟฟ้าขนาดกลางและขนาดเล็กที่สามารถติดตั้งได้บนหลังคาบ้านอาคาร และโรงงานอุตสาหกรรม หรือ Solar Rooftop โดยมุ่งหวังว่าจะช่วยส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศมากขึ้นและยังต่อยอดไปถึงการจ้างงานภายในประเทศและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมต่อไป