เนื้อหาวันที่ : 2010-06-24 13:22:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 595 views

EXIM BANK-ธ.ออมสิน เดินเครื่องกระตุ้นผู้ส่งออกไทยทำประกันการส่งออกทุกครั้ง

EXIM BANK จับมือธนาคารออมสินกระตุ้นผู้ส่งออกไทยขยายตลาดท่ามกลางโอกาสของการค้าเสรี โดย EXIM BANK พร้อมตรวจสอบความน่าเชื่อถือผู้ซื้อในต่างประเทศ เสนอแนะเรื่องเทอมการชำระเงินที่เหมาะสมและแข่งขันได้ จ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าส่งออก และติดตามหนี้เมื่อมีปัญหาให้แก่ลูกค้าธนาคารออมสินที่ประกอบธุรกิจส่งออก

.

ดร.อภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และ ดร.ธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มลงทุนและบริหารเงิน ธนาคารออมสิน ลงนามในบันทึกข้อตกลงการให้บริการประกันการส่งออก (เอ็กซิมชัวรันซ์) ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2553 โดย EXIM BANK จะให้บริการประกันการส่งออกแก่ลูกค้าของธนาคารออมสิน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ส่งออกไทยขยายธุรกิจอย่างมั่นใจท่ามกลางโอกาสของตลาดการค้าเสรีในกรอบอาเซียนและตลาดใหม่ทั่วโลก

.

ท่ามกลางอุปสรรคและความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้นอันเนื่องมาจากวิกฤตการเงินโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาประกอบกับการเกิดขึ้นของตลาดการค้าเสรีและโอกาสทางการค้ามากมาย รวมทั้งการลดภาษีนำเข้าระหว่างสมาชิกอาเซียนเหลือ 0% ในเกือบทุกรายการสินค้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) EXIM BANK และธนาคารออมสินจึงขยายความร่วมมือระหว่างกันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย โดยอาศัยจุดแข็งของทั้งสองธนาคารในการขยายฐานลูกค้าและส่งเสริมให้ผู้ส่งออกไทยใช้บริการประกันการส่งออก

.

กล่าวคือ EXIM BANK พร้อมจะให้บริการประกันการส่งออกแก่ลูกค้าของธนาคารออมสิน โดยครอบคลุมการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ซื้อ เพื่อช่วยให้ลูกค้าของธนาคารออมสินที่ประกอบธุรกิจส่งออกมีข้อมูลในการตัดสินใจทำการค้าระหว่างประเทศ สามารถเสนอเงื่อนไขการชำระเงินที่เหมาะสมและแข่งขันได้ให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ รวมทั้งได้รับความช่วยเหลือในการติดตามหนี้เมื่อมีปัญหา

.

นอกจากนี้ ลูกค้าของธนาคารออมสินยังจะได้รับประโยชน์ในการใช้บริการประกันการส่งออกของ EXIM BANK เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากธนาคารออมสินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจได้อีกด้วย

.

ในปี 2552 EXIM BANK ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนรวม 124 ล้านบาท โดย 84% มีสาเหตุมาจากผู้ซื้อปฏิเสธการชำระเงินค่าสินค้าและอีก 16% เกิดจากผู้ซื้อล้มละลาย ธุรกิจส่งออกที่ได้รับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนมากที่สุดได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ และอุปกรณ์และชิ้นส่วนรถยนต์ ส่วนประเทศผู้ซื้อที่ EXIM BANK มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนส่วนใหญ่ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ และเยอรมนี

.

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2551 EXIM BANK ได้ร่วมมือกับธนาคารออมสินภายใต้โครงการ “1 สาขา 2 ธนาคาร” เพื่อใช้พื้นที่สาขาร่วมกันให้บริการแก่ลูกค้าของทั้งสองธนาคารในด้านธุรกิจต่างประเทศ การประกันการส่งออก การบริการทางการเงิน การให้สินเชื่อ และการร่วมทุน โดยปัจจุบัน EXIM BANK มีสาขาย่อย ณ ที่ทำการสาขาของธนาคารออมสิน รวม 7 แห่ง ได้แก่

.

สาขาย่อยบางรัก อ้อมใหญ่ วงเวียนใหญ่ ติวานนท์ สาธุประดิษฐ์ จักรวรรดิ และสุราษฎร์ธานี ขณะที่ธนาคารออมสินมีหน่วยให้บริการ ณ ที่ทำการของ EXIM BANK 3 แห่งได้แก่ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ สาขาพระราม 2 และสาขาพระราม 4