สายตระกูลของกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง และอาจเป็นเหตุผลหลักของปัญหาข้างต้นที่รุนแรงขึ้น ผลงานวิจัยระบุ เป็นผลจากการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง ตั้งแต่ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจจนถึงยุค ทักษิณ มีนักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเข้ามาอยู่ในพรรคการเมืองไทยถึง 75 ตระกูล
กรณีสนามบินสุวรรณภูมิกำลังเป็นทั้งความภูมิใจและความเศร้าใจของคนไทย จากสารพัดปัญหาที่ ปูดขึ้นมาเป็นหลักฐานความผิด การทุจริต คอร์รัปชั่น ฯลฯ ในงานก่อสร้าง เกี่ยวข้องกับใคร บริษัทไหน ใครต้องรับผิดชอบ องค์กรตรวจสอบกำลังดำเนินการอยู่ แต่หากย้อนดูตลอดระยะเวลาอันยาวนานของการก่อสร้าง จะเห็นสายตระกูลของกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง และอาจเป็นเหตุผลหลักของปัญหาข้างต้นที่รุนแรงขึ้น ผลงานวิจัยระบุ เป็นผลจากการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง ตั้งแต่ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจจนถึงยุค ทักษิณ มีนักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเข้ามาอยู่ในพรรคการเมืองไทยถึง 75 ตระกูล |
. |
นายนพนันท์ วรรณเทพสกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ นักวิจัยเรื่อง ก่อสร้างการเมือง-การเมืองก่อสร้าง กล่าวว่า กรณีสุวรรณภูมิที่ ปูด ขึ้นมาเป็นหลักฐานชัดเจน ว่านี่คือปัญหาของประเทศ ที่ลงทุนด้วยงบประมาณมหาศาลแล้วใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่ สิ้นเปลืองทรัพยากรโดยไม่จำเป็น และจะเกิดประเด็นปัญหาใหม่ตามมาอีกมาก ที่สำคัญคือกระทบกับเรื่องของความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ความสนใจตอนนี้น่าจะอยู่ที่ทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดการบริหารจัดการสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศมากที่สุด |
. |
จากการศึกษาเรื่อง การเมืองก่อสร้าง ก่อสร้างการเมือง ภายใต้โครงการวิจัย เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ซึ่งศึกษาย้อนหลังไปถึงเส้นทางการเข้าสู่การเมืองของกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งมีมายาวนานและเห็นได้ชัดในช่วง ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา กระทั่งวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ธุรกิจก่อสร้างปรับตัวเรื่อยมาจนถึงยุครัฐบาลทักษิณ การเข้าสู่เส้นสายทางการเมืองมีรูปธรรมอย่างชัดเจนและขยายสู่เครือญาติผู้รับเหมาเข้ามาสู่สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)และสมาชิกวุฒิสภา ( ส.ว.) นักการเมืองหลายคนจากเดิมที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงก็กลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของจังหวัด โดยที่รัฐบาลทักษิณมีข้อพิเศษคือ มีการรวมกลุ่มกันได้ระหว่างนักการเมืองที่เคยเป็นฝ่ายตรงข้าม หรือเป็นนักการเมืองต่างพรรค ย้ายรวมเข้ามาอยู่พรรคเดียวกัน จึงตกลงกันได้ แบ่งผลประโยชน์กันลงตัว เกิดการกินเงียบ แต่ผลประโยชน์ที่ตกแก่ประชาชนนั้นน้อยลง |
. |
อ.นพนันท์ กล่าวว่า กลุ่มตระกูลที่เรียกว่า นักธุรกิจก่อสร้างที่เข้ามาสู่การเมืองมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ พวกแรกเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างก่อนเข้าสู่การเมือง อีกพวกที่เป็นนักธุรกิจก่อสร้างโดยอ้อม โดย เรียนรู้ช่องทางนี้หลังเข้าสู่การเมืองหรือหาผลประโยชน์ตามน้ำ จากเดิมตัวเองไม่ได้มีธุรกิจก่อสร้างแต่พอเข้ามามีตำแหน่งก็เลยเข้าไปเกี่ยวพันกับเรื่องผลประโยชน์ในงานก่อสร้างของทางราชการ ซึ่งมีผลประโยชน์เยอะ ใช้วิธีให้ตัวแทนเป็นคนดำเนินการ หรือทำหน้าที่เป็นนายหน้า หักค่าหัวคิว คนกลุ่มนี้มีเยอะ และทำกันจนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น แต่ความจริงเป็นเรื่องไม่ปกติมาก เพราะเมื่อเทียบกับก่อนวิกฤตไม่เป็นขนาดนี้ แต่หลังจากเจอผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจ เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมือง ที่เอื้อให้เกิดผลประโยชน์ของธุรกิจก่อสร้างโดยอาศัยช่องทางการเมืองเป็นตัวนำ แม้ว่าบรรดานักการเมืองหลายตระกูลจะมีลักษณะการเอาเครือญาติเข้ามาเล่นการเมือง เพื่อหาผลประโยชน์แก่วงศ์ตระกูลในรูปแบบอื่นด้วย แต่การเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากงานก่อสร้างในวงราชการ มีมากเป็นอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะงานก่อสร้างในวงราชการซึ่งเป็นแหล่งผลประโยชน์ขนาดใหญ่ และธุรกิจก่อสร้างได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายการประกอบกิจการของคนต่างด้าว ทำให้ทุนข้ามชาติไม่สามารถเข้ามาเกี่ยวข้องได้โดยตรง นักธุรกิจการเมืองในวงก่อสร้างจึงกลายเป็นทุนผูกขาดขนาดใหญ่ ไม่เหมือนธุรกิจค้าปลีก หรืออุตสาหกรรมรถยนต์และอื่น ๆ ที่ถูกทุนข้ามขาติเข้ามาเป็นเจ้าของไปเกือบหมด |
. |
ช่องทางหนึ่งของการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจก่อสร้าง คือการเข้ามาสร้างสายใยในวงการเมือง และสามารถผนึกรวมกันทำธุรกิจและแบ่งปันผลประโยชน์งานก่อสร้างขนาดใหญ่ของหน่วยราชการไทยไว้ภายในกลุ่มพวกของตน และเบียดธุรกิจก่อสร้างขนาดเล็กที่เก่งและดี ให้พ้นทาง การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมนี้ ทำให้ผู้รับเหมาก่อสร้างดี ๆ มีฝีมือ จึงไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วยและหันไปรับงานก่อสร้างของภาคเอกชน เช่น งานสร้างอาคารสำนักงาน งานก่อสร้างที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูง ๆ การสร้างท่าเทียบเรือ โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งน่าจะเป็นการแข่งขันกันที่เป็นธรรมกันมากกว่าโดยไม่ต้องอาศัยเส้นสายทางการเมือง แต่อาศัยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ฝีมือตัวเองในการแข่งขัน |
. |
จากการสำรวจรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี และเลขานุการรัฐมนตรีใน ครม.ทักษิณ 1 (พ.ศ.2544-2547) เพื่อดูว่ามีใครบ้างที่นามสกุลเดียวกันกับผู้เป็นเจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในปัจจุบัน โดยเทียบกับรายชื่อผู้รับเหมาก่อสร้างที่เป็นสมาชิกในสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ปี พ.ศ.2544-2546 และผู้รับเหมาก่อสร้างที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ปี 2546 พบรายชื่อที่น่าสนใจในแต่ละพรรคการเมืองนับรวมได้ 75 ตระกูล โดยแยกเป็นในส่วน พรรคไทยรักไทย 36 ตระกูล พรรคชาติไทย 13 ตระกูล พรรคชาติพัฒนา (ขณะนั้น) 6 ตระกูล พรรคความหวังใหม่ก่อนรวมกับไทยรักไทยมีอยู่ 5 ตระกูล พรรคเสรีธรรมก่อนรวมกับไทยรักไทย มี 3 ตระกูล พรรคประชาธิปัตย์ มี 13 ตระกูล และหลังจากปี 2543 เป็นต้นมา ทุนก่อสร้างหน้าใหม่ก็ขยับขยายเคลื่อนเข้าสู่สภาผู้แทนฯเรื่อยมา ดังปรากฎว่าในการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. นับจากนั้น มีคนในครอบครัว หรือเครือญาติเข้ามาสู่การเมืองมากขึ้น |
. |
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับเหมาก่อสร้างกับการเมืองอีกลักษณะคือ การทำธุรกิจร่วมกัน เช่น กลุ่มสี่แสงการโยธาของตระกูลวงศ์สิโรจน์กุลซึ่งเคยทำธุรกิจร่วมกับตระกูลศิลปอาชา กลุ่มวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้างของตระกูลชวนะนันท์มีการร่วมลงทุนกับตระกูลลิปตพัลลภ กลุ่มวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้างมีธุรกิจร่วมกับตระกูลสะสมทรัพย์ เป็นต้น |
. |
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 เป็นต้นมา เมื่อพรรคไทยรักไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีการรวมพรรคการเมืองอื่น ๆ หลายพรรคเข้ามาเป็นพรรคเดียวกัน โครงการก่อสร้างที่เกิดขึ้นใหม่ช่วงปี พ.ศ.2544-2546 เห็นได้ชัดว่าตกอยู่ในมือกลุ่มทุนก่อสร้างบางกลุ่มเป็นพิเศษ เช่น กลุ่มอิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเมนท์ ได้รับงานทั้งหมดไม่น้อยกว่า 6.5 หมื่นล้านบาท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้างได้รับงานประมาณ 6 พันล้านบาท งานส่วนใหญ่เป็นงานที่เกี่ยวกับการก่อสร้างในสนามบินสุวรรณภูมิ กล่าวคือ เมื่อเข้าสู่ปี พ.ศ.2545-2546 อิตาเลียนไทยฯได้รับการคัดเลือกให้ทำสัญญาโครงการก่อสร้างในสนามบินสุวรรณภูมิ รวมเป็นมูลค่ากว่า 65,921 ล้านบาท และเมื่อสำรวจสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของอิตาเลียนไทยฯในช่วงนั้น พบว่า มีชื่อนายทวีฉัตร จุฬางกูร หลายชายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคมในคณะรัฐบาลช่วงเวลานั้นถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวอยู่จำนวน 2 ล้านหุ้น |
. |
การพลิกฟื้นของธุรกิจจากวิกฤตบ่งชี้ได้จากผลประกอบการของบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ระหว่าง พ.ศ.2545-46 พลิกฟื้นจากก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด จากปี 2542 มีผลขาดทุน 1,458 ล้านบาท ปี 2543 ขาดทุน 3,967 ล้านบาท ปี 2544 ขาดทุน 2,523 ล้านบาท สำหรับปี 2545 กำไร 6,336 ล้านบาท และปี 2546 กำไร 920 ล้านบาท เป็นต้น |
. |
อ.นพนันท์ กล่าวว่า เส้นสายทางการเมืองเป็นหนทางหลักของกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างรายสำคัญ ๆ บริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่โดยมากจะสนับสนุนการเลือกตั้ง แก่พรรคการเมืองทุกพรรคที่มีแนวโน้มจะได้เป็นรัฐบาล ขณะที่กลุ่มผู้รับเหมาขนาดเล็กลงมาก็เลือกเติบโตขึ้นจากการสร้างเส้นสายจำกัดเฉพาะบางพื้นที่ซึ่งสัมฤทธิ์ผลดีกว่า ดังนั้นการเข้าสู่การเมืองวงในจึงปรากฏขึ้นแพร่หลายในบรรดากลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างรายเล็ก กลุ่มรับเหมาก่อสร้างในภูธรจำนวนไม่น้อยสามารถสะสมทุนทางธุรกิจในระยะเวลาไม่นาน ก้าวจากผู้รับเหมารายเล็ก ๆ ท้องถิ่นสร้างความมั่งคั่งขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด |
. |
ความคล้ายคลึงประการหนึ่งก็คือ วิถีทางของธุรกิจมีความเชื่อมโยงอย่างมากจากการเมืองในระดับท้องถิ่นก่อนเขยิบสู่การเมืองระดับชาติ ได้แก่ ตระกูลศิลปอาชาแห่งสุพรรณบุรี ตระกูลชิดชอบซึ่งเป็นตระกูลดังตระกูลหนึ่งแห่งจังหวัดบุรีรัมย์ ตระกูลลิปตพัลลภแห่งนครราชสีมา เป็นตัวอย่างของตระกูลที่มีการสะสมทุนขึ้นมาจากงานก่อสร้างภาครัฐ นำขบวนผู้รับเหมาก่อสร้างเดินหน้าสู่การเมืองติดตามกันมาครอบครองพื้นที่ในรัฐสภามากขึ้น |
. |
อ.นพนันท์ กล่าวว่า เมื่องานก่อสร้างในวงราชการมีเงินเยอะ การเข้ามาของผู้รับเหมาก่อสร้างเข้ามาสู่การเมือง ทำให้เกิดปัญหาคอร์รัปชั่นสูงและรุนแรงขึ้น ประเทศไทยน่าจะอาศัยกระแสการปฏิรูปการเมืองขณะนี้มาช่วยกันปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ผูกขาด และสร้างความสมดุลเรื่องการตรวจสอบโครงการของรัฐ |
. |
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ขณะนี้นักธุรกิจก่อสร้างในกลุ่มนี้คงไม่มีผลกระทบ เพราะกลุ่มธุรกิจก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เติบโตมาได้ขนาดนี้ มีเส้นสายลึกซึ้งถึงทุกกลุ่มและเข้าถึงสถาบันหลายแห่ง ทั้งสถาบันการเมือง พรรคการเมืองนี่ชัดมาก กลุ่มข้าราชการซึ่งขณะนี้ก็กลับเข้ามามีอำนาจเพิ่มขึ้น กลุ่มทหารคนพวกนี้ก็มีสัมพันธ์แนบแน่นกันมานาน ดังนั้นไม่ว่ากลุ่มไหนใครจะขึ้นมาเป็นใหญ่เขาก็ปรับตัวได้แทบจะไม่กระทบอะไร. |
. |
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
|