กระทรวงอุตสาหกรรมเอาใจรากหญ้า จัดงบกว่า 50 ล้านบาท ให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำร่อง 3 โครงการ เร่งพัฒนาคุณภาพพร้อมยกระดับ สินค้า OTOP หวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มรายได้ และลดช่องว่างทางสังคม
กระทรวงอุตสาหกรรมเอาใจรากหญ้า จัดงบกว่า 50 ล้านบาท ให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำร่อง 3 โครงการ เร่งพัฒนาคุณภาพพร้อมยกระดับ สินค้า OTOP ให้ก้าวไปสู่มาตรฐาน หวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มรายได้ และลดช่องว่างทางสังคม |
. |
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม |
. |
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เกี่ยวกับแผนการปรองดองแห่งชาติของฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผลมาจากความแตกต่างทางด้านรายได้ระหว่างคนในเมืองใหญ่กับชนบท นำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง |
. |
โดยการดำเนินงานที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้เข้าไปช่วยเหลือพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ผลิตสินค้าชุมชน เพื่อเพิ่มพูนรายได้และ ลดปัญหาความเลื่อมล้ำทางสังคมให้กับผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน มาอย่างต่อเนื่อง ในหลายๆ กิจกรรม โดยในปี 2553 ได้จัดสรรงบประมาณประจำปีให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ดำเนินการกว่า 80 ล้านบาท |
. |
อย่างไรก็ดี เพื่อให้การทำงานสามารถขยายผลได้มากยิ่งขึ้น จึงได้จัดทำโครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อดำเนินการส่งเสริมช่วยเหลือราษฎรเป็นการเพิ่มเติม จำนวน 3 โครงการ วงเงินกว่า 50 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณจากโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ในส่วนของงบ OTOP ซึ่งจัดไว้ที่สำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 2 โครงการ และจากกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวน 1 โครงการ ซึ่งทั้ง 3 โครงการได้รับอนุมัติให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมดำเนินการเรียบร้อยแล้ว |
. |
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติม ถึงแนวทาง การให้ความช่วยเหลือกลุ่มราษฎรในชุมชน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้ |
. |
ส่วนแรกเป็นโครงการภายใต้ แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 18 ล้านบาท ประกอบด้วย |
1. โครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์เพื่อการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน งบประมาณดำเนินการ จำนวน 5 ล้านบาท มีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ตามเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน อาทิ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) อย. และฮาลาล เป็นต้น จำนวน 250 กลุ่ม ซึ่งจะมีผู้ผลิตที่จะได้รับประโยชน์ จำนวน 3,750 คน |
. |
2. โครงการพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับคำสั่งซื้อ งบประมาณดำเนินการจำนวน 13 ล้านบาท มีเป้าหมายในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ตามความต้องการของผู้สั่งซื้อ ทั้งในด้านคุณภาพ รูปแบบ ปริมาณ และระยะเวลาการส่งมอบสินค้า จำนวน 100 กลุ่ม ซึ่งจะมีราษฎรที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 2,000 คน |
. |
ส่วนที่ 2 เป็นโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้แก่ โครงการพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP สู่ศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs งบประมาณดำเนินการ จำนวน 34 ล้านบาท มีเป้าหมายในการส่งเสริมยกระดับความสามารถ ของผู้ประกอบการ OTOP ให้สามารถพัฒนาไปเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพในการประกอบการ ทั้งด้านการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาด สามารถแข่งขันและเติบโต ได้อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายจำนวน 100 กลุ่ม ซึ่งจะมีราษฎรที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 2,000 คน |
. |
การดำเนินงานทั้ง 3 โครงการ จะร่วมดำเนินการอย่างใกล้ชิดกับผู้นำชุมชน รวมทั้งกับ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยเมื่อดำเนินการแล้ว จะมีกลุ่มผู้ผลิตชุมชนที่ได้รับประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อมในการเสริมสร้างขีดความสามารถ และการยกระดับรายได้จำนวนกว่า 450 กลุ่มอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้ง ทำให้ราษฎรมีการประกอบอาชีพอย่างต่อเนื่องและมั่นคงมากกว่า 7,000 คน มีรายได้สม่ำเสมอรวมปีละประมาณ 180 ล้านบาท |
. |
ซึ่งจะส่งผลในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ในระดับรากหญ้าให้ดีขึ้น และราษฎรในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และความแตกต่างระหว่างรายได้ของคนในทุกภาคส่วนของประเทศ นายอาทิตย์ฯ กล่าว |
. |
ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม |