มทร.พระนคร เล็งเห็นปัญหามลภาวะจากการขับถ่ายของเสียของช้าง ผุดไอเดียนำมูลช้างมาทำประโยชน์ ผลิตก๊าซชีวภาพ กระดาษมูลช้าง และปุ๋ยหมักชีวภาพ
มทร.พระนคร เล็งเห็นปัญหามลภาวะจากการขับถ่ายของเสียของช้าง ผุดไอเดียนำมูลช้างมาทำประโยชน์ ผลิตก๊าซชีวภาพ กระดาษมูลช้าง และปุ๋ยหมักชีวภาพ |
. |
. |
ในอดีตช้างป่าในประเทศไทยมีอยู่แทบทุกจังหวัดที่เป็นป่าสูงในแหล่งที่มีหญ้า น้ำอุดมสมบูรณ์ และชาวบ้านได้คล้องช้างมาเลี้ยงเพื่อทำงานต่างๆ ต่อมาในปัจจุบันช้างได้ถูกนำมาเลี้ยงในพื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อธุรกิจท่องเที่ยวมากขึ้น เมื่อช้างต้องมาอยู่รวมกันจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น อาหาร, สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ, การขับถ่ายของเสีย เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการและควาญช้างต้องเป็นผู้ดูแล โดยปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการขับถ่ายของเสียที่มีจำนวนมากในแต่ละวัน ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะทางธรรมชาติ |
. |
จากปัญหาดังกล่าว ทำให้กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) ประกอบด้วย อาจารย์มยุรี เรืองสมบัติ, อาจารย์ยุวดี พรธาราพงศ์, อาจารย์ทินวงษ์ รักอิสสระกุล และอาจารย์มัณฑนา ทองสุพล ได้ร่วมมือกันทำวิจัย เพื่อแก้ปัญหาเรื่องมูลช้าง |
. |
โดยอาจารย์มยุรี เรืองสมบัติ กล่าวว่า เมื่อทราบถึงปัญหาดังกล่าวแล้ว จึงได้หาแนวทางในการจัดการกับมูลช้างเหล่านี้ ด้วยการนำมูลช้างมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าให้กับมูลช้าง โดยการนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ ก๊าซชีวภาพ, กระดาษมูลช้าง, ปุ๋ยหมักชีวภาพ เป็นต้น |
. |
เพื่อเป็นการนำมูลช้างกลับมาสร้างประโยชน์และมาตรฐานให้แก่ชุมชน และผู้ประกอบการเกี่ยวกับช้างทั่วประเทศ เป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นช่วยให้เศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้น รวมถึงเป็นการช่วยลดมลภาวะและรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย โดยได้ศึกษาพื้นที่ของวังช้างอยุธยา แล เพนียด ริมถนนป่าโทน ข้างคุ้มขุนแผน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสถานที่ในการศึกษาวิจัย |
. |
ซึ่งปัจจุบันที่วังช้างอยุธยา แล เพนียด ได้มีการผลิตกระดาษจากมูลช้าง พร้อมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากกระดาษมูลช้าง โดยไม่มีกลิ่นเหม็น ประกอบด้วย การทำสมุดบันทึก, อัลบั้มรูป, โปสการ์ด, แผ่นแม่เหล็กติดตู้เย็น, แผ่นกระดาษมีสีและไม่มีสี ลักษณะของกระดาษจะคล้ายๆ กับกระดาษสาที่คนส่วนใหญ่มักนำมาใช้ห่อของ ทำกระดาษลอกลาย บัตรอวยพร นามบัตร เป็นต้น |
. |
อาจารย์มยุรี กล่าวอีกว่า “มูลช้างที่จะนำมาทำกระดาษให้มีคุณภาพดีจะต้องมีเส้นใยสูง ฉะนั้น อาหารที่ช้างกินจะต้องเป็นอาหารที่มีเส้นใยสูง อย่างเช่น ใบสับปะรด ที่ซื้อมาจากไร่สับปะรด จังหวัดระยอง ที่หักหัวสับปะรดแล้วเกษตรกรจะไถทิ้ง ผู้รับเหมาจัดหาต้นสับปะรดจะไปเหมาสวนไว้ แล้วตัดต้น ขนส่งมาที่หมู่บ้าน เฉลี่ยวันละ 10 ตัน และในขั้นตอนการผลิตกระดาษมูลช้างยังสามารถเติมน้ำหอมลงไปก่อนนำไปตากแห้ง เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์” |
. |
สำหรับขั้นตอนในการทำกระดาษจากมูลช้าง เพียงนำมูลช้างที่ได้มาหมักในบ่อ โดยการใส่มูลช้างลง 5 บ่อซีเมนต์ในปริมาณน้ำต่อมูลช้าง คือ น้ำ 1,000 ลิตร ต่อมูลช้าง 700 กิโลกรัม หลังจากนั้นใส่กากน้ำตาลหรือโมลาส ประมาณ 1 ½ ก.ก. ต่อ 1 บ่อ และใส่น้ำยา E.M.( Effective Microorganisms) ที่ผสมแล้วใส่ลงในบ่อในอัตราส่วน 40 ลิตร ต่อ 1 บ่อ |
. |
หลังจากนั้นคนให้น้ำยาและมูลช้างเข้ากันแล้วทิ้งไว้ ประมาณ 3 วัน เมื่อครบกำหนดแล้ว ให้นำมูลช้างมาทำการล้าง เพื่อให้เศษกรวด เศษหินต่าง ๆ ตกตะกอน จากนั้นนำมูลช้างที่ได้ จากการล้างไปต้มในอัตราส่วน 70 ลิตร : 40 ก.ก. ใช้เวลาต้มประมาณ 1 – 2 ช.ม. จนเปื่อยยุ่ย |
. |
นำเส้นใยที่ได้ใส่เครื่องปั่น โดยใช้เวลาปั่นประมาณ 1 ช.ม. เมื่อทำการปั่นเสร็จแล้ว หลังจากนั้นเอาเส้นใยที่ได้ใส่ลงในตะแกรงเพื่อให้สะเด็ดน้ำต่อมานำไปแตะลงในแฟรม หรือตัวแบบกระดาษเพื่อนำไปตากให้แห้งแล้วลอกออก นำมาเรียงให้เป็นระเบียบ เมื่อกระดาษที่นำไปตากนั้นแห้งแล้ว เอามาแกะแล้วเรียงเป็นแถวให้เรียบร้อยพร้อมนำไปใช้ |
. |
เมื่อได้กระดาษแล้ว ก็นำกระดาษมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ของที่ระลึก อาทิ สมุดบันทึก, ที่คั่นหนังสือ, สมุดสะสมภาพ และกระดาษมูลช้างนำมาให้ช้างวาดรูปเพื่อจำหน่าย ฯลฯ ซึ่งมีวางจำหน่ายที่วังช้างอยุธยา แล เพนียด แต่ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านยังไม่เป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจนัก ทางกลุ่มวิจัย จึงได้ช่วยในการออกแบบผลิตภัณฑ์ในแนวทางต่างๆ ให้มีความสวยงาม และมีความน่าสนใจมากขึ้น |
. |
รูปแบบแปลกใหม่ สะดุดตา มีการบรรจุหีบห่อยากต่อการชำรุด และได้มีการทำโลโก้ตราสัญลักษณ์ให้เป็นที่รู้จักและจดจำของนักท่องเที่ยว โดยปัจจุบันมีวางจำหน่ายที่วังช้างอยุธยา แล เพนียด แห่งเดียว ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการวางจำหน่ายตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนในวังช้างอยุธยา แล เพนียดด้วย |
. |
นับว่าเป็นงานวิจัยที่สามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นการลดการทำลายไม้เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษได้อีกทางหนึ่งด้วย และที่สำคัญยังสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวบ้าน และเป็นการช่วยช้างได้อีกด้วย ปัจจุบันได้พัฒนาคุณภาพของกระดาษมูลช้างและได้ให้กลุ่มแม่บ้านทำกระดาษมูลช้างเพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กลับกลุ่มแม่บ้าน และได้มีการนำกระดาษมูลช้างมาทำของที่ระลึกขายเพื่อรายได้ให้กลุ่มคนเลี้ยงช้าง และสถานที่จำหน่ายที่วังช้างอยุธยา แล เพนียด |
. |
สำหรับกระดาษมูลช้างนี้จะนำไปโชว์ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2 The 2nd RMUTP International Conference: Green Technology and Productivity ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ระหว่างวันที่ 29 – 30 มิถุนายน 2553 เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพฯ |