เนื้อหาวันที่ : 2010-06-22 11:02:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 622 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 22 มิ.ย. 2553

1. ภัยแล้งคุกคามทั่วประเทศ หลายจังหวัดยังประสบวิกฤต

- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เผย ภัยแล้งคุกคามทั่วประเทศ หลายจังหวัดยังประสบวิกฤตจากสถานการณ์ภัยแล้งที่ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งส่งผลต่อเกษตรกรชาวนาโดยตรง ประกอบกับในหลายพื้นที่ฝนยังไม่ตก ซึ่งทางรัฐบาลได้กำหนดมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาเรื่องการทำฝนหลวงเพื่อให้มีฝนตกในพื้นที่ที่ต้องการ เช่น บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำสำคัญๆ หรือพื้นที่ทำการเกษตร

.

- สศค.วิเคราะห์ว่า ปัญหาภัยแล้งคาดว่าจะส่งผลกระทบทางลบต่อภาคการเกษตรของไทยที่มีสัดส่วนร้อยละ 8.9 ของGDP โดยล่าสุดผลผลิตทางการเกษตรในช่วง 5 เดือนแรกของปี ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 ต่อปี นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาผลผลิตทางการเกษตรให้ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยให้เพิ่มสูงขึ้น โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. 53 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ร้อยละ 3.0 ต่อปี

.

2. ธปท.ชี้ หยวนแข็งค่าไทยได้ประโยชน์

- รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจีนปรับค่าเงินหยวนให้ยืดหยุ่น ว่าเป็นเพราะขณะนี้เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้อย่างรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง และมีความแข็งแกร่งมาก โดยที่ผ่านมาจีนเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูงมาก ดังนั้น การใช้ปรับอัตราแลกเปลี่ยนครั้งนี้จะช่วยลดแรงกดดันการเร่งตัวของเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินหยวนมีผลทำให้ค่าเงินภูมิภาคแข็งค่าขึ้นไปด้วยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ไม่ทำให้การส่งออกของไทยสูญเสียความสามารถด้านการแข่งขัน

.

- สศค.วิเคราะห์ว่า การที่ค่าเงินหยวนต่อดอลลาร์ฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจะส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนตามราคาสินค้านำเข้าที่ต่ำลงในสายตาผู้ซื้อในจีน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะสินค้าขั้นกลางและวัตถุดิบ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักไปยังจีน

.

โดยจีนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทยซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 9.1 ของการส่งออกรวม นอกจากนี้ การที่รัฐบาลจีนยังคงมีการอัดฉีดเงินงบประมาณเพื่อกระตุ้นภาคการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ยังจะส่งผลให้อำนาจซื้อของประชาชนจีนสูงขึ้น ทำให้ สศค. คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะยังคงได้รับอานิสงส์จากการส่งออกสินค้าที่ดีขึ้น

.

3. จีนก้าวพ้นยุคแรงงานราคาถูก  บริษัทข้ามชาติเตรียมปรับยุทธศาสตร์การผลิต

- เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล รายงานว่าตั้งแต่ต้นปี 53 ค่าจ้างขั้นต่ำในเมืองอุตสาหกรรมการผลิตของจีนหลายแห่งได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก เช่นในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องแต่งกาย ค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนได้ปรับขึ้นมาแล้วกว่าร้อยละ 20  โดยเป็นผลจากการชุมนุมเรียกร้องขึ้นค่าจ้างแรงงานในจีนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก

.

เช่น อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า เครื่องหนัง ฯลฯ  ทำให้บริษัทข้ามชาติหลายแห่งต้องปรับยุทธศาสตร์ด้านการผลิตกันใหม่ โดยพยายามหาทางลดต้นทุนแรงงานลงมา ด้วยการโยกย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังแหล่งผลิตในประเทศอื่นๆ ที่มีแรงงานถูกกว่า เช่น อินเดีย กัมพูชา และเวียดนาม หรือหาทำเลผลิตในเมืองชั้นรองของจีน ที่ยังมีค่าจ้างแรงงานต่ำอยู่

.

- สศค.วิเคราะห์ว่า สาเหตุหนึ่งของการขาดแคลนแรงงานในจีน เกิดจากการที่เศรษฐกิจจีนเติบโตในระดับสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่แรงงานของจีนเริ่มเติบโตในอัตราที่ค่อนข้างคงที่ที่อัตราน้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี อีกทั้งจีนได้รับการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันในอันดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดปี 53 จีนมีขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่อันดับ 18 (ไทยอยู่ที่อันดับ 26)

.

ทำให้ต่างชาติสนใจที่จะลงทุนตั้งฐานการผลิตในจีนเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศอื่นๆตามข่าวนั้น อาจเป็นโอกาสของไทยที่จะจูงใจนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากไทยมีแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพสูง ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานไทยเมื่อเทียบกับฝีมือแรงงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง