เนื้อหาวันที่ : 2010-06-21 14:20:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3789 views

ปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องท้าทายภูมิปัญญานักเศรษฐศาสตร์ (ตอนที่ 1)

ปัญหาเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์นับเป็นปัญหาที่คิดไม่ตกขบไม่แตกของเหล่านักเศรษฐศาสตร์ไทยทั้งภาคปฏิบัติการและภาควิชาการ ทั้งปัจจัยด้านเทคโนโลยีการสื่อสารยังมีส่วนทำให้โลกาภิวัตน์ทางการเงินไม่หยุดนิ่ง ความวุ่นวายในตลาดการเงินโลกจึงเป็นเรื่องที่นักลงทุน นักเก็งกำไร และนักเศรษฐศาสตร์ ยากที่จะคาดเดา

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ 

.

.

ปัญหาเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์นับเป็นปัญหาที่คิดไม่ตกขบไม่แตกของเหล่านักเศรษฐศาสตร์ไทยทั้งภาคปฏิบัติการและภาควิชาการ อย่างไรก็ตามผู้เขียนเชื่อว่ามาตรการทั้ง 6 ข้อ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2550 นั้นจะสามารถบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคการส่งออกได้ 

.

สำหรับทัศนะของผู้เขียนต่อเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น ผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องของการพลวัตเคลื่อนไหวของเงินทุนอย่างรวดเร็วในยุคสมัยที่โลกทางการเงินถูกเชื่อมโยงกันอย่างสนิทแนบแน่น นอกจากนี้ปัจจัยบวกทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารโดยเฉพาะภาค Information Technology ยังมีส่วนทำให้โลกาภิวัตน์ทางการเงินไม่หยุดนิ่ง ด้วยเหตุนี้เองความวุ่นวายปั่นป่วนในตลาดการเงินของโลกจึงเป็นเรื่องที่นักลงทุน นักเก็งกำไร และนักเศรษฐศาสตร์ ยากที่จะคาดเดา

.

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เหล่านักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องเผชิญกับปัญหาค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงหลังจากเมื่อประกาศปรับอัตราแลกเปลี่ยนจากเดิมที่ใช้แบบคงที่ (ในลักษณะตะกร้าเงิน) มาเป็นอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบจัดการหรือ Managed Float และปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยยังยึดเป้าหมายการดูแลอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) เป็นสำคัญทำให้เป้าหมายเรื่องค่าเงินบาทถูกลดลำดับความสำคัญลงมาเพราะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกราคา   

.

อย่างไรก็ดีอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบจัดการในวันนี้ แม้จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ต้องกังวลเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอีกต่อไป แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังต้องอยู่ในฐานะผู้เฝ้าระวังในการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสม

.

สำหรับเนื้อหาใน Macroeconomic Outlook ฉบับนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจสำคัญที่เกิดขึ้นในโลกยุคใหม่ ซึ่งจะว่าไปแล้วปัญหาค่าเงินที่แข็งค่าหรืออ่อนค่านั้นก็นับเป็นปัญหาหนึ่งในโลกเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ดียังมีอีกหลากหลายปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ไม่มากก็น้อยทั้งในฐานะผู้บริโภค ผู้ผลิต นักลงทุน แม้กระทั่งผู้เสียภาษี นอกจากนี้ปัญหาเศรษฐกิจยังเป็นเรื่องท้าทายภูมิปัญญานักเศรษฐศาสตร์ว่าจะสามารถหาทางเอาชนะปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่

.
เก้าปัญหาเศรษฐกิจสำคัญของโลกศตวรรษที่ 20

ในตำราเศรษฐศาสตร์มหภาค, นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ในค่ายทุนนิยมเชื่อว่าปัญหาเศรษฐกิจสำคัญของโลกศตวรรษที่ 20 นั้น มีอยู่ 9 ประการ ได้แก่ เงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation), การถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (Major Economic Recession), การหดตัวของอุปทานการผลิตอย่างรุนแรง (Negative Supply Shock),

.

การขาดดุลการค้าอย่างมโหฬาร (Large Trade Deficit), ความผันผวนของค่าเงิน (Fluctuated Domestic Currency), ปรากฏการณ์เงินเฟ้อและการว่างงานที่สูงพร้อม ๆ กัน (Stagflation), อัตราการเจริญเติบโตของผลผลิตต่ำ (Low Growth),ปัญหาการว่างงานที่สูงอย่างต่อเนื่อง (Persistently High Unemployment) และปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่ (Bubble Economy)

.

ผู้เขียนมีคำถามให้ท่านผู้อ่านลองนั่งคิดดูเล่น ๆ ว่า ถ้าท่านผู้อ่านอยู่ในฐานะผู้ดูแลเศรษฐกิจของประเทศ ปัญหาใดที่ท่านผู้อ่านไม่อยากเผชิญมากที่สุดครับ คราวนี้ลองมาดูกันว่าทั้ง 9 ปัญหาที่ว่ามานี้ผู้ที่เคยเผชิญปัญหาเหล่านี้เขาแก้ปัญหากันอย่างไร และเขาทุกข์ระทมกันมากน้อยแค่ไหน

.
Hyperinflation เมื่อเงินเป็นแค่กระดาษใบหนึ่ง

เวลาเราบ่นว่าสินค้าแพงขึ้น เช่น ข้าวแกงสมัยนี้ราคาเฉลี่ยปกติอยู่ที่ 25 บาท เมื่อเทียบกับสิบปีที่แล้วราคายังอยู่ที่จานละ 20 บาท คำว่าสินค้าราคาสูงขึ้นตามวันเวลาและสภาพการณ์ของเศรษฐกิจเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นเงินเฟ้อ (Inflation) อย่างไรก็ตามข้อดีของการมีเงินเฟ้อคือการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ผลิตในการผลิตสินค้าและบริการออกมาขายเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นทำให้กำไรของพวกเขาเพิ่มตาม เงินเฟ้อแบบอ่อน ๆ หรือ Mild Inflation เป็นเงินเฟ้อที่นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่ามีประโยชน์

.

อย่างไรก็ดีการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าย่อมไปกระทบต่อค่าจ้างหรือค่าแรงในตลาดแรงงานด้วย เพราะหากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 3 % แล้วค่าแรง เงินเดือนยังคงเดิมย่อมส่งผลให้ชาวบ้านทั่ว ๆ ไปได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากต้นทุนในการดำเนินชีวิตของพวกเขาย่อมเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้เองเวลาสินค้าขยับราคาสิ่งที่เราพบเห็นกันเสมอ คือ การเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้นของแรงงาน

.

สำหรับคำว่า Hyperinflation นั้น นับเป็นปรากฏการณ์เงินเฟ้อที่ไม่ธรรมดา เนื่องจากมันเป็นเงินเฟ้อที่สูงเกินกว่า 50 % ต่อเดือน หรือในแต่ละวันมีเงินเฟ้อสูงเกินกว่า 1 % ต่อวัน พูดง่าย ๆ ก็คือ สินค้ามีราคาแพงขึ้นทุกวัน เช่นวันนี้เราอาจจะกินข้าวแกงในราคา 25 บาท พรุ่งนี้เราจะต้องกินในราคา 27 บาท เดือนหน้าเราอาจจะต้องกินในราคา 40 บาท เป็นต้น 

.

จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องน่าสนุกนักเพราะราคาที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ย่อมกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างมาก และปัญหาที่จะตามมาก็คือ การกักตุนอาหาร และปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ท่านผู้อ่านลองคิดดูว่าความวุ่นวายจะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหนหากประเทศใดประเทศหนึ่งประสบปัญหา Hyperinflation

.

ประสบการณ์ของประเทศที่เคยเผชิญปัญหา Hyperinflation นั้น, เยอรมันนับเป็นประเทศแรกที่ถูกยกเป็นกรณีศึกษาบ่อยที่สุด กล่าวคือ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อเยอรมันพ่ายแพ้สงคราม รัฐบาลเยอรมันจำเป็นต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามกับประเทศผู้ชนะสงคราม อย่างอังกฤษ และฝรั่งเศส ตามสนธิสัญญาแวร์ซายน์

.

ผลของการต้องหาเงินมาชดใช้ทำให้รัฐบาลเยอรมันจำต้องใช้นโยบายการพิมพ์เงินขนานใหญ่ การเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินมาร์กตั้งแต่ปี 1922-1925 ทำให้ระดับราคาสินค้าเฉลี่ยภายในเยอรมันเพิ่มสูงตามไปด้วย กล่าวกันว่า ร้านอาหารต่าง ๆ ในเยอรมันจะมีบ๋อยคอยยืนบอกราคาใหม่ของอาหารทุก ๆ 30 นาที เลยทีเดียว

.

เยอรมันปี 1923–1924
ภาพหญิงชาวเยอรมันกำลังเอาเงินมาร์กที่มีอยู่โยนเข้าเตาไฟ
ไม่ผิดอะไรกับการเผาแบงก์กงเต๊ก
(ภาพจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Hyperinflation)

.

นอกจากเยอรมันแล้ว ประเทศที่เคยมีประสบการณ์เงินเฟ้ออย่างรุนแรง ก็เช่น ประเทศฮังการี โดยหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ฮังการีได้รับความบอบช้ำจากสงคราม ผลพวงดังกล่าวทำให้เกิดเงินเฟ้ออย่างรุนแรงถึง 4.19 ? 1016 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือนหรือเทียบง่าย ๆ คือราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุก ๆ 15 ชั่วโมง ประเทศในลาตินอเมริกานับเป็นประเทศที่เผชิญกับ Hyperinflation มากที่สุด  

.

ในกลางทศวรรษที่ 80 โบลิเวียก็ต้องเจอกับตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงถึง 38,000 % ต่อปี ตัวเลขเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยจากความเป็นจริง เพราะทำให้ค่าเงินเปโซของโบลีเวียดูจะเป็นเพียงแค่เงินกระดาษ (Paper Money) ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็จะไม่มีใครอยากถือเงินสกุลท้องถิ่นของตัวเอง

.

ต้นตอของ Hyperinflation เกิดมาจากความไม่มีวินัยทางการเงินการคลังของรัฐบาลโดยเฉพาะรัฐบาลที่เอาแต่ใจตัวเอง โดยคิดว่าการพิมพ์แบงก์จะเป็นการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจได้ เยอรมันนับเป็นประเทศที่ได้รับบทเรียนจากปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงมากที่สุด ทุกวันนี้ Bundesbank หรือธนาคารกลางเยอรมันมีชื่อเสียงในเรื่องการควบคุมดูแลอัตราเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดี

.

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าปัญหา Hyperinflation เกิดขึ้นจากการพิมพ์แบงก์มากเกินไป ซึ่งภาษาทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า เพิ่ม Money Supply เข้าไปในระบบมากจนไปทำให้ระดับราคาสินค้าสูงขึ้น ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ รัฐบาลต้องมีวินัยทางการเงินการคลังประกอบกับต้องให้อิสระกับธนาคารกลางในการตัดสินใจควบคุมปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ

.
Major Economic Recession เมื่อเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่

คำถามที่นักเศรษฐศาสตร์มักถูกถามอยู่เสมอ คือ ช่วงนี้เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ขาลงแล้วหรือยัง ? หรือ อีกนานเท่าไรเศรษฐกิจถึงจะฟื้นตัว  จริง ๆ แล้วคำว่า Recession หรือ การถดถอยของเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์อธิบายว่าเป็นช่วงเวลาที่ผลผลิตมวลรวมลดลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส หรือ 6 เดือน          

.

ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักมองว่าเป็นเรื่องของวัฏจักรทางเศรษฐกิจ (Business Cycle) อย่างไรก็ตามบทบาทของรัฐในการแก้ปัญหาความผันผวนของเศรษฐกิจ คือ การหาวิธีให้เศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวลงนั้นส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด (Soft Landing)

.

ในโลกเศรษฐกิจนั้น, ความกินดีอยู่ดีของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเป้าหมายสำคัญที่รัฐต้องสามารถตอบสนองเรื่องดังกล่าวให้กับคนทั้งประเทศได้ ดังนั้นการเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจแต่ละครั้งย่อมส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาลในฐานะที่เป็นรัฐบาล “ไร้น้ำยา” ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่น่าแปลกใจที่ประชาชนส่วนใหญ่จะชื่นชมรัฐบาลที่พวกเขาเห็นว่าทำให้พวกเขากินดีอยู่ดีมากขึ้น 

.

อย่างไรก็ตาม การบริหารนโยบายเศรษฐกิจเชิงมหภาคมิใช่เรื่องง่ายหรือต้องเป็นไปตามสูตรในตำราที่นักเศรษฐศาสตร์เขียนไว้เสมอไป เพราะมีหลายครั้งที่ทฤษฎีก็ไม่ได้แก้ปัญหาให้คนทั่วไปกินดีอยู่ดีขึ้นได้ ดังเช่นช่วงเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา หรือ The Great Depression (1929-1930) 

.

ช่วงเวลาดังกล่าวอเมริกันชนพบว่ารัฐบาลของประธานาธิบดี Herbert Hoover (1929-1933) ไม่สามารถแก้ปัญหาความตกต่ำทางเศรษฐกิจของอเมริกาได้ โดยสาเหตุสำคัญของวิกฤตการณ์ดังกล่าวมาจาก การล่มสลายของตลาดหุ้น Wall Street เมื่อเดือนตุลาคม 1929 (Stock Market Crash)

.

ความพินาศของตลาดหุ้นทำให้เศรษฐกิจของอเมริกาทั้งระบบแทบล้มทั้งยืนเนื่องจากภาคธุรกิจต่าง ๆ ล้วนเกี่ยวพันกับตลาดหุ้นด้วยกันทั้งสิ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนัก เช่น เหล็ก และรถยนต์  ผลพวงของวิกฤตทำให้อเมริกาในทศวรรษที่ 30 มีประชาชนนับล้านขาดทุนย่อยยับจากตลาดหุ้น 

.

แม้กระทั่งยอดนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันอย่าง Irving Fisher ยังหมดเนื้อหมดตัวไปในช่วงวิกฤต นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาการว่างงานสูงถึงร้อยละ 25 คนยากจนไร้ที่อยู่อาศัย อดอยากหิวโหยมากมาย อย่างไรก็ตามหลังเหตุการณ์ The Great Depression สหรัฐอเมริกาได้ให้ความสำคัญกับตัวเลขทางเศรษฐกิจมากขึ้น อีกทั้งเริ่มพัฒนางานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ในรูปของสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจของประเทศหรือ  

.

The National Bureau of Economic Research (NBER) สถาบันนี้นับว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจในรูปของ National Account ซึ่งเป็นที่มาของตัวเลข GDP

.

สองภาพนี้เป็นภาพคลาสสิกที่เป็นสัญลักษณ์ของ The Great Depression ในอเมริกา
(ภาพจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Great_Depression)

.

ผู้เขียนมีโอกาสอ่านบทปาฐกถาของนักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ อย่าง Milton Friedman (1976) และ James Tobin (1981) มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ ทั้งสองท่านนี้มีความปรารถนาที่จะใช้วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยเหตุที่ทั้งคู่เคยผ่านชีวิตในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในอเมริกามาแล้ว

.

ดังนั้นทุกครั้งที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องท้าทายภูมิปัญญาของ                     นักเศรษฐศาสตร์ทั้งเก่าและใหม่ว่าจะสามารถเอาชนะกับปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่ พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

.
เอกสารประกอบการเขียน

1. N. Gregory Mankiw, Macroeconomics
2. David Colander and Edward  N. Gamber, Macroeconomics
3. ภาพประกอบจาก
http://en.wikipedia.org/