เนื้อหาวันที่ : 2010-06-21 09:53:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 535 views

ภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 14-18 มิ.ย. 2553

Economic Indicators: This Week

รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน พ.ค. 53 มีจำนวนทั้งสิ้น 216.1 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 55.4 พันล้านบาทหรือร้อยละ 25.1 ต่อปี และสูงกว่าประมาณการ 2.7 พันล้านบาทหรือร้อยละ 1.0  สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน ทั้งด้านการใช้จ่ายภายในประเทศและรายได้ประชากร

.

โดยภาษีฐานรายได้ ซึ่งเป็นผลรวมของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 42.3 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าจะ ขยายตัวร้อยละ 7.0 มีสาเหตุสำคัญจากผลจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ครบกำหนดการยื่นชำระจากฐานกำไรสุทธิรอบสิ้นปีบัญชี 2552 (ภงด.50)

.

ผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังของปี 52  สำหรับภาษีฐานการบริโภคหรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ในเดือน พ.ค. 53 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 20.9 แต่หดตัวร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ผลจากสถานการณ์ทางการเมือง

.
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ (หักอัตราเงินเฟ้อ) ในเดือน พ.ค. 53 อยู่ที่ระดับ  38,008 ล้านบาท จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 42,619 ล้านบาท หรือขยายตัวที่ร้อยละ 18.1  ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 21.1 ต่อปี (หรือหดตัวที่ร้อยละ -11.6 ต่อเดือน เมื่อหักปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว)
.

เนื่องจากปัจจัยทางการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนเป็นสำคัญ อนึ่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ยังคงมีอัตราการขยายตัวที่เป็นบวกได้ เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำ จากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงเดือนเม.ย. ปีก่อนหน้า

.

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน พ.ค. 53 ขยายตัวในระดับสูงถึงร้อยละ 68.4 ต่อปี ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากฐานคำนวณที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การขยายตัวดังกล่าวทั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าและเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยปรับผลทางฤดูกาลแล้ว สะท้อนถึงความเชื่อมั่นและกำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์ของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

.

ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน พ.ค. 53 อยู่ที่ 1.55 แสนคัน หรือขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 ต่อปี ชะลอลงมากจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 28.1 ต่อปี ตามรายได้เกษตรกรที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อย จากราคาข้าวที่ปรับตัวลดลง (แม้ว่าราคายางพาราและมันสำปะหลังจะยังขยายตัวได้ในระดับสูง)

.

ประกอบกับเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในเดือน พ.ค. 53 ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของประชาชน ทำให้ประชาชนลดการบริโภคสินค้าคงทนลง ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ว่าจะเห็นผลกระทบจากปัญหาความวุ่นวายทางเมืองต่อการบริโภคภาคเอกชนอย่างชัดเจนตั้งแต่เดือนพ.ค. 53 เป็นต้นไป

.

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน พ.ค. 53 มีจำนวน 0.84  ล้านคน หดตัวร้อยละ -12.9  ต่อปี แสดงถึงผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง โดยเป็นการหดตัวลงในทุกกลุ่มประเทศโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (สัดส่วนร้อยละ 24.7) โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ที่หดตัวร้อยละ  -24.4 -61.8 และ -55.9 ต่อปี ตามลำดับ (สัดส่วนร้อยละ 7.2 2.7 และ 2.3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวรวม)

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง