เนื้อหาวันที่ : 2010-06-18 14:45:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 522 views

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ยังสดใส ได้อานิสงส์ฟุตบอลโลก

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือสถานการณ์การส่งออกประจำเดือนกับภาคเอกชนกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าว่า ยังคงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดีในปี 2553 นี้ โดยในกลุ่มครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นจะยังคงขยายตัวได้ถึงร้อยละ 15 ตามเป้าหมาย เนื่องจากยอดขายในตลาดหลัก เช่น สเปน และอิตาลี ยังดีอยู่

.

แต่สำหรับกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 12 ซึ่งปรับลดจากที่คาดการณ์ไว้ ร้อยละ 15 เนื่องจากประสบปัญหาต้นทุนการขนส่งสินค้าเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจะได้รับผลดีจากการแข่งขันฟุตบอลโลกทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรก

.

“การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนม.ค.-เม.ย. 2553 มีมูลค่า 5,889 ล้านเหรียญสหรัฐฯขยายตัวร้อยละ 36.3 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีนออสเตรเลีย และฮ่องกง โดยตลาดออสเตรเลียขยายตัวสูงมากถึงร้อยละ 74.4 ซึ่งเป็นผลจากการเปิดเสรีทางการค้า และสำหรับการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในเดือน ม.ค.-เม.ย. 2553 มีมูลค่า 10,066 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวขึ้นร้อยละ 40.6 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วโดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน สหรัฐฯ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์” นางศรีรัตน์ กล่าวเพิ่มเติม

.

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนระบุว่าปัญหาความไม่สงบภายในประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมาทำให้เรือขนส่งสินค้าไม่กล้าเข้าเทียบท่าในช่วงเวลาดังกล่าวและสินค้าจำนวนหนึ่งคงค้างอยู่ที่ท่าเรือซึ่งมีผลให้เรือไม่มีที่ว่างเพียงพอในการขนส่งเที่ยวต่อๆไป เอกชนต้องหันไปส่งสินค้าทางเครื่องบินซึ่งมีต้นทุนสูง จึงขอให้ภาครัฐเร่งจัดทำแผนรองรับด้านการขนส่งสินค้าสำหรับในกรณีฉุกเฉินต่างๆ เช่น การปิดสนามบินหรือท่าเรือ เพื่อให้ภาคเอกชนและผู้นำเข้าเกิดความเชื่อมั่นว่าจะสามารถส่งออกสินค้าได้หากมีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นอีก

.

นอกจากนี้ ในด้านการลงทุน ภาคเอกชนขอให้พิจารณาให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ลงทุนที่มีอยู่ปัจจุบันเป็นหลักก่อน โดยอาจพิจารณาให้สิทธิพิเศษต่างๆ อาทิ การขยายกรอบเวลาการได้รับสิทธิประโยชน์ไม่ต้องเสียภาษี เมื่อมีวงเงินลงทุนถึงจำนวนที่กำหนดของ BOI เป็นต้น เพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีความเสี่ยงสูงที่ผู้ลงทุนปัจจุบันจะตัดสินใจย้ายฐานการผลิตได้หากไม่ได้รับแรงจูงใจที่เพียงพอ เนื่องจากในปัจจุบันสามารถใช้สิทธิประโยชน์ AFTA จากประเทศใดก็ได้ในอาเซียน

.
ที่มา : กรมส่งเสริมการส่งออก