เนื้อหาวันที่ : 2010-06-18 12:03:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2168 views

กองทุนบริหารความเสี่ยงและข้อเสนอแนะสำหรับไทย

Hedge funds กลับมาทวีความสำคัญในตลาดการเงินโลก หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 ที่ขนาดทรัพย์สินภายใต้การจัดการในปี 2008 ลดลงถึง 650 พันล้านเหรียญสหรัฐ

บทสรุป
กองทุนบริหารความเสี่ยงและข้อเสนอแนะสำหรับไทย

.
เวทางค์  พ่วงทรัพย์
วิโรจน์  นวสกุลศักดิ์
.

.

Hedge funds กลับมาทวีความสำคัญในตลาดการเงินโลก หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 ที่ขนาดทรัพย์สินภายใต้การจัดการในปี 2008 ลดลงจากปี 2007 ถึง 1 ใน 3 หรือมูลค่าลดลง 650 พันล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม สิ้นปี 2009 กองทุนมีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีขนาดเพิ่มขึ้น 34 เท่าตัว จากปี 1990 

.

ทั้งที่ Hedge funds มีมูลค่าเพียงร้อยละ 2-3 ของกองทุนในตลาดการเงินโลก แต่มีบทบบาทสูงจาก 1) การซื้อขายหลักทรัพย์อย่างรวดเร็ว มีการประมาณว่ามีการซื้อขายที่ระหว่างร้อยละ 30- 50 ของปริมาณการซื้อขายต่อวัน (Daily turnover) ของ New York Stock Exchange และ London Stock Exchange และ       

.

2) ทำการกู้ยืมเงินเพื่อใช้ลงทุนและใช้ตราสารอนุพันธ์มาก เช่น LTCM มีเงินทุน 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่บริหารทรัพย์สิน (Balance sheet) มูลค่า 120 พันล้านเหรียญสหรัญ คิดเป็นร้อยละ 65 ของมูลค่าตลาดของตลาดหลักทรัพย์ไทย ก่อนที่จะมีปัญหาจนต้องถูกปิดกองทุน

.

ประสบการณ์ต่างประเทศชี้ว่า ประเด็นเชิงนโยบายสำคัญคือ การปกป้องนักลงทุน การปกป้องความน่าเชื่อถือของตลาดทุน และการรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตามการสร้างประโยชน์จาก Hedge funds ไม่มีการพิจารณามากนัก

.

สำหรับประเทศไทย หากต้องการดำเนินนโยบายในเชิงรุก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถศึกษาถึงความเหมาะสมในการสนับสนุน Hedge funds ที่ใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนนอกประเทศไทย

.

จากการศึกษาในเบื้องต้นเห็นว่า แนวทางรองรับที่เหมาะสมคือการใช้หลักกลไกตลาด Market approach ที่สนับสนุนการทำธุรกิจรวมทั้ง Hedge funds และใช้การกำกับดูแลตามปกติ เช่นเดียวกับกองทุนประเภทอื่น ๆ โดยมีข้อเสนอเพิ่มเติม เพื่อสร้างโอกาสและลดผลกระทบทางลบ สำหรับประเทศ ดังนี้

.

1) พัฒนาระบบการติดตามข้อมูลกองทุนขนาดใหญ่รวมทั้ง Hedge funds โดยเฉพาะกองทุนที่ใช้การกู้ยืมเงินระดับสูง และใช้ตราสารอนุพันธ์ทางการเงินมาก

.

2) สนับสนุนการจัดตั้ง Hedge funds ของไทยตามความพร้อมของนักลงทุนและตลาดทุน รวมทั้งสนับสนุน Hedge funds ที่ใช้ไทยเป็นที่ตั้งการดำเนินการ โดยไม่ระดมทุนหรือลงทุนในประเทศ (Offshore funds) 

.

3) เพิ่มบทบาทสถาบันตัวกลาง คือ บริษัทหลักทรัพย์และสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อกับ Hedge funds ในการติดตาม ประเมินความเสี่ยง ตลอดจนการให้สินเชื่ออย่างรัดกุมบนข้อมูลที่เพียงพอ

.

4) เพิ่มความสัมพันธ์กับ Hedge funds โดยการเพิ่มช่องทางการสื่อสารในรูปแบบไม่เป็นทางการ
5) เพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ ในเรื่อง Hedge funds

.
กองทุนบริหารความเสี่ยง และข้อเสนอสำหรับไทย1
(Hedge Funds and Recommendations for Thailand)

Hedge funds มีแนวโน้มทวีความสำคัญมากขึ้น และประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของตลาดเงินตลาดทุนไทยมากขึ้นในอนาคต จากพฤติกรรมการลงทุนระยะสั้น เป็นไปอย่างรวดเร็วในปริมาณที่สูง และมีการใช้เงินกู้ยืมในระดับสูง อย่างไรก็ตามประเทศไทยสามารถสร้างประโยชน์จาก Hedge funds อาทิ การเพิ่มสภาพคล่องให้ตลาดเงินตลาดทุน การส่งเสริมนวัตกรรมการลงทุน การเพิ่มประสิทธิภาพตลาดเงินตลาดทุน และการสร้างโอกาสทางธุรกิจ

.
1. ความหมายและวิธีการลงทุนของ Hedge funds
1.1 ความหมายของ Hedge fund

กองทุนบริหารความเสี่ยง (Hedge funds) ไม่มีคำนิยามเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป1 แต่ปกติจะหมายถึงกองทุนที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
1) มีจำนวนผู้ลงทุนใน Hedge funds จำนวนจำกัด เป็นกองทุนในรูป Private partnership โดยตามปกติเป็นนักลงทุนที่มีรายได้สูง สถาบันการเงิน รวมถึงนักลงทุนสถาบันต่าง ๆ 

.

2) มีการจัดโครงสร้างกองทุน รวมทั้งโครงสร้างตามกฎหมายของกองทุนเพื่อหลีกเลี่ยงกฎระเบียบ ข้อบังคับ เกี่ยวกับการลงทุนของกองทุน
 3) ใช้วิธีการกู้ยืมเพื่อนำมาลงทุนและใช้ ตราสารอนุพันธ์ (Use of leveraged and derivative securities) หรือวิธีทางการเงินใหม่ ๆ (Financial innovation)

.

4) มีการลงทุนที่เน้นผลตอบแทนแบบค่าสมบูรณ์ หรือแน่นอน (Absolute return) โดยการ Hedging คือ การลงทุนโดยมีการบริหาความเสี่ยง หรือ การทำ Arbitrage คือการทำกำไรในตราสารทางการเงิน ที่มีราคาผิดปกติ ไม่สอดคล้องกับราคาที่ควรจะเป็นตามทฤษฎี

.

คำว่า Hedge fund เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1949 เพื่อเรียกกองทุนที่จัดตั้งขึ้นโดย A.W.Jones ที่มีกลยุทธ์การลงทุนที่หวังผลตอบแทนแน่นอน (absolute return) โดยการทำการป้องกันความเสี่ยงของการลงทุน (Hedge) เพื่อลดความเสี่ยงจากการผันผวนของตลาดการเงิน อาทิ การซื้อหลักทรัพย์ที่ under value พร้อมกับ การทำ short selling3 หลักทรัพย์ที่ over value ทำให้เป็นการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนที่แน่นอน ไม่ว่าสภาวะตลาดการเงินจะเป็นเช่นไร   

.

ทั้งขณะภาวะตลาดที่ดี สามารถทำกำไรจากการเพิ่มขึ้นของราคาหลักทรัพย์ under value (แต่กำไรถูกจำกัดจากการขาดทุนในการทำ short selling หลักทรัพย์ over value) ขณะภาวะตลาดการเงินไม่ดี สามารถทำกำไรจากการทำ sort selling หลักทรัพย์ over value (แต่กำไรถูกจำกดัจากการลดลงของราคาหลักทรัพย์ under value ที่ซื้อไว้)

.

ถึงแม้ว่า Hedge funds จะมีการขยายตัวเป็นอัตราส่วนที่สูงมาก แต่เมื่อเปรียบเทียบปริมาณสินทรัพย์การลงทุนที่บริหารโดยกองทุนต่าง ๆ ทั่วโลก ประมาณว่า Hedge funds มีขนาดเพียงร้อยละ 2-3 เท่านั้น (แผนภาพที่ 1)

.

อย่างไรก็ตาม Hedge funds มีพฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างรวดเร็วและในปริมาณที่สูงมีการประมาณว่ามีการซื้อขายที่ระหว่างร้อยละ 30 – 50 ของปริมาณการซื้อขายต่อวัน (Daily turnover) ของ New York Stock Exchange (NYSE) และ London Stock Exchange (LSE)4

 .
แผนภาพที่ 1 การลงทุนที่มีการบริหารโดยกองทุนประเภทต่าง ๆ สิ้นปี 2009

ที่มา : IFSL Research (2010a) “Sovereign wealth Funds 2010” International Financial Services London
 .
1.2 วิธีการลงทุนของ Hedge funds

การลงทุนของ Hedge funds จะใช้กลวิธีการลงทุนที่หลากหลาย โดยทั่วไปหลักการลงทุนของ Hedge funds จะเป็นการกระจายความเสี่ยง ที่จำไม่ทำการลงทุนในตราสารหรือหลักทรัพย์เพียงประเภทเดียว ซ้ำกันเรื่อย ๆ จะถือครองหลักทรัพย์ตราสารต่าง ๆ เพื่อการเก็งกำไร จากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์นั้น ๆ

 .

ในระยะเวลาสั้นผ่านการหาโอกาสการสร้างกำไรจากส่วนต่างราคาในตลาดต่าง ๆ รวมถึงการลงทุนในการควบรวมกิจการ การซื้อกิจการ หรือการเข้าเก็งกำไรในกิจการที่มีแนวโน้มจะล้มละลายโดยการเข้าบริหารจัดการให้มีผลที่ดีขึ้น แล้วแสวงหากำไรจากส่วนต่างราคาตลาดของกิจการนั้น ๆ

 .
สำหรับประเภทของ Hedge funds แยกตามกลยุทธ์การลงทุนมีดังนี้5

1) Equity hedge (30% of Hedge funds industry) ลงทุนในหุ้นเป็นหลัก โดยใช้ทั้งการซื้อและยืมหุ้นมาขายล่วงหน้า (Long and short)
2) Event driven (20% of Hedge funds industry) การลงทุนในการควบรวมกิจการ การซื้อกิจการหรือการเข้าเก็งกำไรในกิจการที่มีแนวโน้มจะล้มละบาย โดยการเข้าบริหารจัดการให้มีผลที่ดีขึ้นแล้วแสวงหากำไรจากส่วนต่างราคาตลาดของกิจการนั้น ๆ

 .

3) Relative arbitrage (13% of Hedge funds industry) การหาโอกาสจากส่วนต่างราคาในตลาดต่าง ๆ จากความไม่สมบูรณ์ของตลาด
4) Global macro (11% of Hedge funds industry) เน้นการลงทุนลักษณะ Top-down ตามภวะเศรษฐกิจของโลกและประเทศต่าง ๆ อัตราดอกเบี้ย และดัชนีรวมของตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ  ที่มีความแตกต่าง

 .

5) Fixed income (7% of Hedge funds industry) ลงทุนในตราสารหนี้ ทั้ง hi-yield bond และ securitized products ต่าง ๆ
6) Emerging Markets (4% of Hedge funds industry) ลงทุนในตลาดเกิดใหม่ต่าง ๆ
7) Others (16% of Hedge funds industry)

 .
แผนภาพที่ 2 ประเภทของ Hedge funds แยกตามกลยุทธ์การลงทุน

ที่มา : Crockett, Andrew (2007)
 .

ความได้เปรียบของ Hedge funds คือ การหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ โดยส่วนใหญ่ Hedge funds จะมีผู้ลงทุนในกองทุนไม่เกิน 10 ราย ซึ่งจะไม่มีการเปิดขาย หรือเผยแพร่ต่อสาธารณะมากนัก และจดทะเบียน offshore เพื่อหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ หรือข้อบังคับต่าง ๆ ที่อาจทำให้ Hedge funds ขาดความคล่องตัว และความเป็นอิสระในการบริหารกองทุน

 .
สำหรับ Hedge funds ที่ใหญ่ที่สุดของโลก 10 กองทุนแรกและทรัพย์สินภายใต้การจัดการมีดังนี้คือ
ตารางที่ 1  Hedge funds ที่ใหญ่ที่สุดของโลกและทรัพย์สินภายใต้การจัดการสิ้นปี 2009

ที่มา : IFSL (2010b) “Hedge Funds 2010” International Financial Services London
 .
2. แนวโน้มของกองทุนบริหารความเสี่ยง (Hedge funds)

กองทุนบริหารความเสี่ยงหรือ Hedge funds มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีอิทธิพลต่อตลาดการเงินสูงขึ้นตามลำดับ สร้างสรรค์นวัตกรรมประเภทใหม่  ๆ ของการลงทุน โดยเป็นไปพร้อมกับพัฒนาการทางการลงทุน และการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงในการลงทุน

 .
2.1 การเพิ่มขึ้นของกองทุนบริหารความเสี่ยง

จำนวน Hedge funds และมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร Hedge funds อัตรามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราสูง โดยมีขนาดสูงสุดในปี 2007 Hedge funds มีสินทรัพย์กว่า 2.15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐก่อนได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกในปี 2008-2009 ทำให้ขนาดโดยรวมลดลง เป็น 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2008 (ลดลงประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 33.3) ก่อนขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2009 มีขนาดโดยรวมเป็น 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

 .

ในปี 2009 มีจำนวน Hedge funds มากกว่า 9,400 กองทุน ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจนี้มีการขยายตัวในระดับสูงคือ ผลตอบแทนที่ Hedge funds ส่วนใหญ่ทำได้มักจะสูงกว่าผตอบแทนเฉลี่ยของการลงทุนทั่วไป รวมทั้งการเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนของนักลงทุนสถาบันที่เน้นการลงทุนที่สามารถให้ผลตอบแทนได้อย่างรวดเร็วและมีมูลค่าสูง

 .
แผนภาพที่ 3 ขนาดของทรัพย์สินภายใต้การจัดการของกองทุนบริหารความเสี่ยง (1990 – 2009)

ที่มา : IFSL (2010b) “Hedge Funds 2010” International Financial Services London. และ Cole, Roger T. (2007) “Hedge funds, credit risk transfer and financial stability”

 .

ภายใต้การบริหารของ Hedge funds มักจะมีลักษณะของการลงทุนที่ใช้เครื่องมือทางการเงินหลายรูปแบบในการกระจายความเสี่ยง และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงหรือผันผวนของตลาดได้ โดยอาศัยปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจของ Hedge funds ที่สำคัญ เช่น การขยายตัวของตลาดการเงินและการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนอย่างหลากหลายประกอบกับมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้อย่างเสรีมากขึ้น

 .

และพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีที่สนับสนุนการดำเนินธุรกรรมทางการเงินได้หลายรูปแบบและรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะลงทุนสินทรัพย์ของตนผ่าน Hedge funds เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กองทุนเหล่านี้กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในระบบเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ

 .
2.2 การเพิ่มขึ้นของกองทุนบริหารความเสี่ยงในเอเชีย

การลงทุนของ Hedge funds ในเอเชียอยู่ในช่วงของการเริ่มต้น โดยประมาณร้อยละ 60 จะเป็นการลงทุนในกลวิธีง่าย ๆ ได้แก่ Long/short equities สำหรับสินทรัพย์ของ Hedge funds ในเอเชียได้เพิ่มขึ้นโดยคิดเป็น 6 เท่าจาก 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2002 เป็น 130,000 ล้านเหรียญสหรับฯในปี 2006 และคาดว่าในปี 2010 Hedge funds จะสามารถบริหารสินทรัพย์ได้กว่า 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

 .

อย่างไรก็ดี การลงทุน Hedge funds จะสามารถบริหารสินทรัพย์ได้กว่า 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การลงทุนของ Hedge funds ในเอเชียคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการบริหารกองทุนของ Hedge funds ทั่วโลกโดยคิดเป็นเพียงไม่ถึงร้อยละ 15 ของ Hedge funds ทั่วโลก

 .
แผนภาพที่ 4 อัตราการเติบโตของกองทุนบริหารความเสี่ยงในภูมิภาคเอเชีย

ที่มา : Ryback, William A. (2007) “Hedge funds in emerging markets”
 .
3. บทบาทของ Hedge funds และระบบการเงิน
3.1 การพัฒนาตลาดการเงิน รวมทั้งเพิ่มสภาพคล่อง

Hedge funds สร้างนวัตกรรมทางการเงินและวิธีการลงทุนใหม่ เพิ่มอุปทานการลงทุนในตลาดการเงินและขยายฐานนักลงทุน ตลอดจนช่วยสร้างสภาพคล่องให้ตลาดการเงิน ถึงแม้ว่า Hedge funds จะมีขนาดเพียงร้อยละ 5 ของทรัพย์สินภายใต้การบริหารของกองทุนต่าง ๆ ทั่วโลก  

 .

อย่างไรก็ตาม Hedge funds มีพฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างรวดเร็วและในปริมาณที่สูง มีการประมาณว่า มีการซื้อขายที่ระหว่างร้อยละ 30 – 50 ของปริมารณการซื้อขายต่อวัน (Daily turnover) ของ New York Stock Exchange (NYSE) และ London Stock Exchange (LSE)

 .
3.2 ผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

การลงทุนของ Hedge funds ขนาดใหญ่ สามารถผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินได้แนวโน้มการลงทุนของ Hedge funds ในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีลักษณะเป็นการลงทุนระยะสั้น และสามารถเคลื่อนย้ายระหว่างตลาดได้อย่างรวดเร็วในปริมาณสูงเมื่อเห็นช่องทางและโอกาส ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบบการเงินได้ โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) ซึ่งมีขนาดเล็กและมีสภาพคล่องต่ำ

 .

การกู้ยืมของ Hedge funds มีระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระดับสูง เพื่อขยายการลงทุนในการที่จะรักษาระดับผลตอบแทนต่อหน่วยการลงทุนในภาวะที่จำนวนของ Hedge funds และมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นซึ่งการกู้ยืมในระดับสูงเกินสมควร จะเกิดความเสี่ยงกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้มากขึ้น และอาจเกิดผลกระทบกับระบบการเงินโดยรวมได้หาก Hedge funds ขนาดใหญ่ที่มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนสูงเกิดปัญหาทางการเงิน

 .

เช่น ในกรณีของ Long Term Capital Management ที่มีปัญหาในเดือนกันยายน 1988 จน Federal Reserve Bank of New York ต้องเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มสภาพคล่องให้ 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือ 115,200 ล้านบาทที่ 32 บาท/เหรียญสหรัฐ) เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดปัญหาต่อสถาบันการเงินเจ้าหนี้และระบบการเงิน

 .

ทั้งนี้ต้นปี 1998 ก่อนที่ LTCM จะมีปัญหา เงินทุนของกองทุนมี 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่บริหารทรัพย์สิน (Balance sheet) ที่ 120 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือ 3.84 ล้านล้านบาทที่ 32 บาท/เหรียญสหรัฐ) คิดเป็นร้อยละ 65 ของมูลค่าตลาดของตลาดหลักทรัพย์ไทยโดยรวม

 .
4. Hedge funds และประสบการณ์ต่างประเทศด้านนโยบาย
4.1 การปกป้องนักลทุน (Investor protection)

ในสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษไม่มีมาตรการพิเศษ เนื่องจากตามปกติ Hedge funds มีจำนวนผู้ลงทุนน้อยราย และเป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูงหรือเป็นนักลงทุนสถาบัน และ Hedge funds หานักลงทุนแบบ Private placement หรือแบบเจาะจง ทำให้ผลกระทบอยู่ในกลุ่มนักลงทุนที่มีความพร้อมในการรับความเสี่ยงที่ดีระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามแนวโน้มของกองทุนต่าง ๆ รวมทั้งกองทุนประกันสังคมมีการใช้ Hedge funds มากขึ้นซึ่งหากเกิดการขาดทุนอย่างมากจะทำให้มีผลกระทบต่อสาธารณะได้

 .
4.2 การปกป้องความน่าเชื่อถือตลาดทุน (Market Integrity Protection)

ในสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษไม่มีมาตรการพิเศษ ใช้นโยบายกำกับโดยใช้กลไกตลาด (Market discipline) คือการส่งเสริมความโปร่งใสของข้อมูล สนับสนุนการเพิ่มการบริหารความเสี่ยงของ Hedge funds สถาบันการเงิน และนักลงทุนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ก็เป็นการใช้กฎระเบียบเดิม คือการกำกับดูแล พฤติกรรมชี้นำตลาด การสร้างราคา การทุจริตต่าง ๆ เช่นการทุจริตทางบัญชี

 .

นอกจากนี้แนวทางในการดำเนินการคือ การเพิ่มความสัมพันธ์กับ Hedge funds โดยการเพิ่มช่องทางการสื่อสารในรูปแบบไม่เป็นทางการ ทั้งนี้ จากการที่มีการจัดทำการหารืออย่างไม่เป็นทางการและมีการเผยแพร่ Best practices of Hedge funds โดยเฉพาะเรื่องการบริหารความเสี่ยง พบว่าระดับการกู้ยืมเงินของ Hedge funds industry ลดลง

 .
4.3 การปกป้องเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน (Financial system stability protection)

ในสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษไม่มีมาตรการพิเศษ ใช้นโยบายกำกับดูแลเดิมโดยเพิ่มมาตรการเพื่อความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง และความร่วมมือระหว่างประเทศดังนี้

 .

1) หน่วยงานกำกับสถาบันการเงินมีการติดตาม การบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินทั้งความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ และความเสี่ยงจากด้านอื่น ๆ

 .

2) การประสารความร่วมมือระหว่างประทเศ เนื่องจาก Hedge funds เป็นกองทุนที่ดำเนินการในหลายประเทศ และสามารถความผันผวนให้กับตลาดการเงินระหว่างประเทศ จึงมีความจำเป็นในการประสานงาน เช่น Hedge funds ทำการกู้ยืมเงินจากทั้งธนาคารในประเทศสหรัฐอเมริกาและสวิสแต่ธนาคารในประเทศสหรัฐอาจไม่รู้ว่ามีการกู้ยืมเงินจากประเทศสวิส

 .
5. Hedge Funds และแนวทางการรองรับของไทย

จากประสบการณ์ในต่างประเทศ Hedge funds ได้สร้างประโยชน์โดยเพิ่มสภาพคล่องและการลงทุนที่ช่วยพัฒนาตลาดการเงินและได้สร้างนวัตกรรมการลงทุนใหม่ ๆ ตลอดจนวิธีการบริหารความเสี่ยง ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม Hedge funds สามารถสร้างปัญหาต่อเสถียรภาพตลาดการเงิน รวมทั้งระบบเศรษฐกิจในระดับสูงได้เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศขนาดเล็ก ทั้งนั้ประเด็นนโยบายด้าน Hedge funds ควรมีการร่วมพิจารณาโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเบื้องต้นขอเสนอแนวทางรองรับดังนี้

 .
5.1 การสร้างโอกาสจาก Hedge Funds

ในประเด็นนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนคือ ในส่วนของกองทุนสัญชาติไทยและกองทุนของต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการส่งเสริมเป็นพิเศษให้กองทุนดำเนินการในลักษณะนี้ทั้งของไทยและเทศ

 .

สำหรับการส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนของไทย สามารถช่วยพัฒนาตลาดการเงิน และสร้างธุรกิจด้านนี้ในประเทศ อย่างไรก็ตามต้องมีการพิจารณา ถึงความพร้อมของนักลงทุนและตลาดการเงินประเทศ

 .

สำหรับกองทุน Hedge funds จากต่างประเทศ ปัจจุบันไทยสนับสนุนกรลงทุนจากต่างประเทศโดยทั่วไปและไม่ได้มีอุปสรรคสำคัญต่อการลงทุนของกองทุนต่าง ๆ รวมทั้ง Hedge funds การสนับสนุนเป็นพิเศษจึงยังไม่มีความจำเป็น

 .

อย่างไรก็ตาม หากต้องการดำเนินนโยบายในเชิงรุก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถศึกษาถึงความเหมาะสมในการสนับสนุน Hedge funds ที่เป็น Offshore  funds (เช่น offshore funds ของสหรัฐ หรือยุโรป รวมทั้งประเทศในเอเชีย) ให้สามารถใช้ประเทศไทยเป็นฐานการดำเนินงาน โดยมีการลงทุนในประเทศอื่น และไม่ระดมทุนจากประเทศไทย 

 .

เพราะสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ไทยและเพิ่มประสบการณ์ในการลงทุนในลักษณะนี้สำหรับบุคคลากรที่เกี่ยวข้องของไทย มาตรการที่สามารถดำเนินการได้ คือเรื่องภาษีและการอำนวยความสะดวกในลักษณะเดียวกับมาตรการ Regional Operating Head Quarters ที่ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิจากต่างประเทศ การเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของชาวต่างชาติในอัตราต่ำพิเศษ

 .
5.2 การกำกับดูแล

ในขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการพิเศษ สำหรับการกำกับดูแล ทั้งนี้การกำกับดูแล Hedge funds สามารถทำได้ทั้งการออกกฎระเบียบต่าง ๆ เจาะจงสำหรับ Hedge funds หรือใช้กลไกตลาด (Market discipline) ซึ่งพิจารณาจากประสบการณ์ต่างประเทศแล้ว แนวทาง Market ประกอบกับแนวทางการกำกับดูแลปัจจุบันในเรื่อง การสร้างราคา การชี้นำตลาด และการทุจริตต่าง ๆ จะเหมาะสมกว่า โดยเพิ่มการดำเนินงาน ดังนี้

 .

(1) พัฒนาระบบการติดตามข้อมูลกองทุนขนาดใหญ่ รวมทั้ง Hedge funds โดยเฉพาะกองทุนที่ใช้การกู้ยืมเงินระดับสูงและใช้ตราสารอนุพันธ์ทางการเงินมาก โดยเพิ่มความสำคัญของการติดตามข้อมูลและประสานงาน อาจพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานขึ้นในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง (Large Fund Service Office) และมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรง ทั้งนี้เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรมีการหารือ ถึงการดำเนินการเพื่อไม่สร้างภาระให้กับผู้เกี่ยวข้อง และลดการซ้ำซ้อนของงาน

.

(2) การเพิ่มบทบาทสถาบันตัวกลาง คือ บริษัทหลักทรัพย์และสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อกับ Hedge funds ในการติดตาม ประเมินความเสี่ยง ตลอดจนการให้สินเชื่ออย่างรัดกุมบนข้อมูลที่เพียงพอ

.

(3) หน่วยงานกำกับสถาบันการเงินมีการติดตาม การบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน ทั้งความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ และความเสี่ยงจากด้านอื่น ๆ

.

(4) การเพิ่มความสัมพันธ์กับ Hedge funds โดยการเพิ่มช่องทางการสื่อสารในรูปแบบไม่เป็นทางการ ทั้งนี้ จากประสบการณ์ต่างประเทศ การที่มีการจัดทำการหารืออย่างไม่เป็นทางการและมีการเผยแพร่ Best practices of Hedge funds โดยเฉพาะเรื่องการบริหารความเสี่ยง พบว่าระดับการกู้ยืมเงินของ Hedge funds industry ลดลง

.

(5) การเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ ในเรื่อง Hedge funds เนื่องจาก Hedge funds เป็นกองทุนที่ดำเนินการในหลายประเทศ จึงควรมีการร่วมมืองในการดำเนินการรองรับ ตลอดจนสนับสนุนอย่างเหมาะสม

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง