โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ด้วยข้ออ้างความมั่นคงทางพลังงาน ความคุ้มค่าในการลงทุน ขณะที่คำถามที่ยังค่าใจประชาชนก็คือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปลอดภัยจริงหรือ
โดย:คุณกมล ตรรกบุตร |
. |
. |
ความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เป็นคำถามยอดฮิตที่มักจะถูกถามอยู่ตลอดเวลา ก่อนจะมาเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และตัดสินว่าปลอดภัยหรือไม่ คงจะต้องตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่า มีความปลอดภัยแค่ไหน ถึงจะเรียกว่าปลอดภัย (How safe is safe) ชีวิตเราปัจจุบันมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากหลากหลายสาเหตุ |
. |
หากเปรียบเทียบข้อมูลทางสถิติจะพบว่า โอกาสที่เราจะเสียชีวิตจากโรคหัวใจ ประมาณ 1 ใน 280 เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ 1 ใน 6,000 และเสียชีวิตเนื่องจากเครื่องบินตก 1 ใน 1 ล้าน ถึง 10 ล้าน ในขณะที่โอกาสที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะเกิดอุบัติเหตุและมีสารกัมมันตรังสีแพร่กระจายเหมือนกับที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล เท่ากับ 1 ใน 10 ล้าน ถึง 100 ล้าน จะเห็นได้ว่าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มีความเสี่ยงที่จะทำให้เสียชีวิตน้อยกว่ามาก |
. |
แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่สามาถที่จะปฏิเสธได้ว่าคนส่วนใหญ่ยังติดภาพของเหตุการณ์ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นระเบิดปรมาณูในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หรืออุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ในสหภาพโซเวียต (ปัจจุบันอยู่ในประเทศยูเครน) คำถามต่อมาที่ยังคงค้างอยู่ก็คือ เรามีความเชื่อมั่นมากน้อยเพียงใดว่า จะยังมีโอกาสที่ เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ |
. |
. |
ยูเรเนียมเป็นแร่ธาตุที่มีอยู่ได้ในธรรมชาติ มีปริมาณสำรองที่สำรวจพบและนำมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าทางเศรษฐสามาตร์ประมาณ 5 ล้านตัน โดยจะพบว่ามีส่วนประกอบของยูเรียม-235 (ธาตุที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาฟิชชั่น เป็นแหล่งกำเนิดความร้อนในโรงไฟฟ้า) ประมาณ 0.7% ยูเรเนียมสามารถนำมาทำระเบิดปรมาณูหรือเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้ |
. |
แต่ระเบิดจะต้องใช้ยูเรเนียม-235 ในสัดส่วนมากกว่า 90% ในขณะที่เชื้อเพลิงยูเรเนียมที่ใช้ในโรงไฟฟ้ามีความเข้มข้นของยูเรเนียม-235 เพียงประมาณ 3-5 % ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะระเบิดเหมือนระเบิดปรมาณู |
. |
. |
อุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล (1986) เกิดจากความพยายามที่จะทดสอบว่าแรงเฉื่อยของกังหันไอน้ำเมื่อไม่มีไฟฟ้ามาเลี้ยงระบบ จะเพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้าเลี้ยงปั๊มระบายความร้อนใน เตาปฏิกรณ์ในระหว่างที่รอเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลฉุกเฉินทำงานหรือไม่ ในระหว่างการทดสอบเพื่อให้ดำเนินการไปได้ พนักงานเดินเครื่องได้ปลดระบบความปลอดภัยหลายๆ อย่าง ซึ่งโรงไฟฟ้าของประเทศตะวันตกไม่สามารถปลดได้ |
. |
ทำให้มีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถควบคุมปฏิกรณ์ได้ ประกอบกับการออกแบบปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลที่ไม่ปลอดภัย กล่าวคือ เมื่อมีการสูญเสียน้ำในระบบ อัตราการเกิดปฏิกิริยาฟิชชั่นจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความร้อนสูงขึ้นจนเกิดการหลอมละลายของเชื้อเพลิงภายในปฏิกรณ์ แตกต่างจากปฏิกรณ์ของประเทศตะวันตกในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งเมื่อมีการสูญเสียน้ำ อัตราการเกิดปฏิกิริยาฟิชชั่นจะลดลง |
. |
อีกส่วนหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนของการออกแบบก็คือ โครงสร้างคุมปฏิกรณ์ซึ่งเป็นเกราะป้องกันสุดท้ายของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลจะเป็นหลังคาคอนกรีตธรรมดา จึงไม่สามารถทนต่อความดันที่เกิดขึ้นภายในได้ ทำให้เกิดการระเบิดในลักษณะเหมือนหม้อน้ำระเบิดไม่ใช่ในลักษณะของระเบิดนิวเคลียร์ หากเปรียบเทียบโครงสร้างคลุมปฏิกรณ์ของประเทศตะวันตกในยุคนั้น จะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหนาประมาณหนึ่งเมตร ซึ่งเพียงพอที่จะไม่ให้เกิดการระเบิดและไม่ให้สารกัมมันตรังสีแพร่กระจายออกไปสู่ภายนอก |
. |
. |
ดังจะเห็นได้จากการเกิดอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทรีไมส์ไอซ์แลนด์(1979) ในรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เกิดการสูญเสียน้ำในระบบ เชื้อเพลิงหลอมละลายในลักษณะเดียวกับเชอร์โนบิล แต่เนื่องจากมีโครงสร้างปฏิกรณ์ที่แข็งแรงมั่นคง จึงไม่มีสารกัมมันตรังสีเล็ดรอดออกมาสู่ภายนอก และไม่มีคนเสียชีวิต |
. |
ในปัจจุบันมาตรการความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เริ่มต้นจากการคัดเลือกสถานที่ตั้งที่เหมาะสม การออกแบบปฏิกรณ์ การอบรมบุคลากร และการกำกับดูแล โดยในการคัดเลือกสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จะพิจารณาปัจจัยเรื่องด้านวิศวกรรมและความปลอดภัยเป็นลำดับแรก |
. |
พื้นที่ที่เหมาะสมจะต้องมีความมั่นคงของโครงสร้างใต้ดิน อยู่ห่างจากแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก ไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมหรือสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง เช่น แนวเส้นทางพายุ จากนั้นจะพิจารณาปัจจัยด้านมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์ ตามลำดับ |
. |
. |
ขณะเดียวกันปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในปัจจุบันถูกออกแบบให้หยุดเดินเครื่องอัตโนมัติ เมื่อพบว่าเกิดมีอาการที่บกพร่อง อาทิเช่น รังสี อุณหภูมิ หรือความดัน ภายในอาคารเครื่องปฏิกรณ์สูงเกินกำหนด นอกจากนี้โรงไฟฟ้าจะมีโครงสร้าง 5 ชั้นเพื่อป้องกันรังสีรั่วไหล ซึ่งชั้นสุดท้ายคือ โครงสร้างคลุมปฏิกรณ์ทำจากคอนกรีตเสริมเหล็กหนาประมาณ 2 เมตร สามารถทนต่อการชนของเครื่องบินได้ |
. |
พนักงานเดินเครื่องปฏิกรณ์จะต้องเรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติโดยการฝึกเดินเครื่องกับเครื่อง Simulator ที่เหมือนกับห้องควบคุมจริงของโรงไฟฟ้า และสอบใบอนุญาตเดินเครื่อง โดยจะมีการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องและจะต้องสอบเพื่อต่ออายุใบอนุญาตเมื่อครบวาระ โดยทั่วไปประมาณ 2-3 ปี ซึ่งการมาตรการความปลอดภัยที่กล่าวมาทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานความปลอดภัยนิวเคลียร์ |
. |
. |
สำหรับประเทศไทย หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โดยทำหน้าที่ตรวจสอบและให้ใบอนุญาตสถานที่ตั้ง แบบปฏิกรณ์ การก่อสร้าง และการเดินเครื่อง นอกจากนั้น โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ที่เป็นหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติ ต้องเข้ามาตรวจสอบโรงไฟฟ้าก่อนเดินเครื่อง |
. |
ตรวจสอบการเคลื่อนย้ายเชื้อเพลิงเข้า-ออกจากเครื่องปฏิกรณ์ และติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อติดตามการทำงานภายในโรงไฟฟ้า รวมทั้ง สุ่มตรวจโดยไม่แจ้งล่วงหน้าปีละ 2-3 ครั้ง เพื่อให้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้มาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล กล่าวโดยสรุปได้ว่า โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในโลกปัจจุบัน มีความปลอดภัยต่อการใช้งานสูงสุดสามารถสนองตอบความต้องการพลังงานของโลกได้เป็นอย่างยิ่ง |
. |
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน |